สกพอ. จับมือกรมโยธาธิการฯ เดินหน้าสร้างการมีส่วนร่วมประชาชน ขับเคลื่อน อีอีซี จัดรับฟังความเห็นต่อแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน อีอีซี แก้ไขเพิ่มเติม พบประชาชนในพื้นที่ให้การยอมรับ ต้องการให้เกิดการพัฒนา รวมถึงการจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจ เพื่อดึงดูดการลงทุน แต่ยังมีข้อห่วงใยเรื่องสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรน้ำ
ตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง (ยผ.) จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อประกาศคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเรื่อง แผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินและแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2562 หรือแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน อีอีซี (แก้ไขเพิ่มเติม) ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ระหว่างวันที่ 1 ถึง 7 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา รวมทั้งสิ้น 7 ครั้ง แบ่งเป็นระดับจังหวัด 3 ครั้ง และระดับอำเภอ 4 ครั้ง ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนในพื้นที่ที่มีการเปลี่ยนแปลงแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน อีอีซี ประมาณ 1,100 คน
นางสาวทัศนีย์ เกียรติภัทราภรณ์ ที่ปรึกษาพิเศษด้านพื้นที่และชุมชน สกพอ. เปิดเผยว่า การจัดประชุมรับฟังความคิดเห็น เรื่อง แผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ฯ ในครั้งนี้ เป็นขั้นตอนสำคัญในการรับฟังข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะจากประชาชนในพื้นที่ หน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้สนใจทั่วไป ได้มีส่วนร่วมในการเสนอความเห็นและข้อมูลเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาพื้นที่ อีอีซี และแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ฯ จากการรวบรวมข้อมูลที่ได้รับจากการประชุมครั้งนี้ พบว่า ประชาชนในพื้นที่ยอมรับและต้องการให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่ รวมถึงการจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจ เนื่องจากจะทำให้เกิดการลงทุนโดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็นอุตสาหกรรมใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย สะอาดเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดการจ้างงานและเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่มากขึ้น แต่ยังมีข้อห่วงใยด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม ความเพียงพอของน้ำ ด้านพลังงาน ต้องการให้ใช้พลังงานสะอาด การบริหารจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างการพัฒนาและสิ่งแวดล้อม และการเตรียมพร้อมด้านสาธารณสุขรองรับการขยายตัวของเมือง รวมถึงด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน นอกจากนี้ ขอให้หน่วยงานภาครัฐและท้องถิ่นจัดระเบียบเมือง ชุมชน และระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ให้ดีเป็นเมืองน่าอยู่
สำหรับโครงการถนนในแผนผัง อีอีซี มีการเสนอให้ปรับการวางระบบคมนาคมขนส่งประเภทถนนใน อีอีซี ใหม่ เพื่อรองรับโครงการสำคัญที่จะเกิดอนาคต เช่น การพัฒนาพื้นที่บริเวณรอบสถานีรถไฟความเร็วสูง ฯ (TOD) การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เนื่องจากบริบทการพัฒนาพื้นที่เปลี่ยนแปลงไปมาก ให้กำหนดกรอบระยะเวลาการก่อสร้างถนนแต่ละสายให้ชัดเจน รวมถึงประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมบางส่วน ยังสะท้อนปัญหาที่สะสมมาในอดีต เช่น ปัญหาที่ดินบริเวณตำบลสำนักท้อน อำเภอบ้านฉาง ที่ขอให้ภาครัฐเร่งรัดเรื่องการออกเอกสารสิทธิให้ประชาชนที่อยู่อาศัยทำกินมานาน และขอให้มีมาตรการกำกับดูแลโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่นอกนิคมอุตสาหกรรม หรือเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ อย่างจริงจังเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน เป็นต้น
ทั้งนี้ สกพอ. และกรมโยธาธิการและผังเมือง จะรวบรวมความเห็นทั้งที่ได้จากการประชุมรับฟังความเห็นในครั้งนี้ รวมถึงความเห็นที่ส่งเพิ่มเติมผ่านมาทางช่องทางต่าง ๆ เสนอต่อคณะอนุกรรมการจัดทำแผนผังการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งมีอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นประธาน พิจารณาประกอบการจัดทำประกาศคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เรื่อง แผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินและแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2562 (แก้ไขเพิ่มเติม) ก่อนนำเสนอ กบอ. กพอ. และคณะรัฐมนตรี คาดว่าจะเสนอ ครม. ได้ประมาณเดือนมิถุนายน 2565
อนึ่ง การจัดประชุมรับฟังความเห็นในครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากในปี 2564 ที่ผ่านมาคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เห็นชอบการตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ในอีอีซี เพิ่มเติม 7 แห่ง โดยตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษแห่งใหม่ 6 แห่ง ประกอบด้วยจังหวัดชลบุรี 3 แห่ง ได้แก่ 1) เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ นิคมอุตสาหกรรมเอเซีย คลีน จังหวัดชลบุรี 2) เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ นิคมอุตสาหกรรมโรจนะหนองใหญ่ 3) เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ แหลมฉบัง และจังหวัดระยอง 3 แห่ง ได้แก่ 1) เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล เอสเตท จังหวัดระยอง 2) เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ นิคมอุตสาหกรรมเอ็กโก ระยอง 3) เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ศูนย์นวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีชั้นสูงบ้านฉาง นอกจากนั้นมีการเปลี่ยนแปลงโดยขยายพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ครบวงจรธรรมศาสตร์ (พัทยา) จังหวัดชลบุรี หรือ EECmd เพื่อเตรียมพร้อมด้านพื้นที่รองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายอย่างเพียงพอ ซึ่งจะทำให้มีพื้นที่รองรับอุตสาหกรรมและการประกอบกิจการเพิ่มขึ้นกว่า 5,919 ไร่ เป้าหมายการลงทุนเพิ่มขึ้น 308,772.23 ล้านบาท ภายใน 10 ปีข้างหน้า (ปี 2564-2573) และสืบเนื่องจากมติการประชุม กบอ. ครั้งที่ 4/2564 วันที่ 21 มิถุนายน 2564 มีมติให้มีการเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดการบังคับใช้โครงการถนนในแผนผังระบบคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐาน ที่มีข้อกำหนดการบังคับใช้ที่เข้มงวด ส่งผลให้ต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน อีอีซี ที่ประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2562 ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง ในครั้งนี้
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit