นายไพฑูรย์ สีลาพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 9 สงขลา (สศท. 9) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงสถานการณ์ผลิตแพะเนื้อในพื้นที่จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นแหล่งผลิตอันดับ 2 ของภาคใต้ตอนล่าง รองจากจังหวัดยะลา โดยเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะในจังหวัดสงขลาส่วนใหญ่ มีการเลี้ยงแพะเนื้อเป็นอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ ในครอบครัว และมีแนวโน้มการเลี้ยงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย ทนทานต่อทุกสภาพภูมิอากาศ ใช้พื้นที่ในการเลี้ยงน้อย และให้ผลตอบแทนเร็ว ซึ่งปัจจุบัน (ข้อมูลจากกรมปศุสัตว์ ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2565) มีจำนวนแพะเนื้อรวม 58,353 ตัว เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ที่มีจำนวน 51,882 ตัว (เพิ่มขึ้นร้อยละ 12) และมีเกษตรกรผู้เลี้ยง 5,952 ราย
สศท.9 ได้ศึกษาวิจัยการผลิตและการตลาดแพะขุนในพื้นที่จังหวัดสงขลา เพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินนโยบายการตลาดนำการผลิต โดยใช้ยุทธศาสตร์แพะ ปี 2560 -2564 ซึ่งเกษตรกรในพื้นที่ส่วนใหญ่ นิยมเลี้ยงพันธุ์แพะลูกผสม อาทิ พันธุ์ซาเนนกับพันธุ์แองโกลนูเบียน พันธุ์ซาเนนกับพันธุ์พื้นเมือง หรือพันธุ์ซาเนนกับพันธุ์บอร์ เป็นต้น ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์จากข้อดี และลดข้อด้อยของสายพันธุ์ที่เป็นพันธุ์แท้แต่ละพันธุ์ สำหรับต้นทุนและผลตอบแทนการผลิตแพะขุนของจังหวัดสงขลา พบว่า มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 2,655 บาท/ตัว หรือ 107 บาท/กิโลกรัม โดยเกษตรกรนำลูกแพะน้ำหนักเฉลี่ย 12.01 กิโลกรัม/ตัว มาเริ่มเลี้ยงขุน และใช้เวลาเลี้ยงขุนเฉลี่ย 73 วัน สามารถจำหน่ายได้ในราคาเฉลี่ย 3,814.96 บาท/ตัว หรือ 154.14 บาท/กิโลกรัม (น้ำหนักเฉลี่ย 24.75 กิโลกรัม/ตัว) คิดเป็นผลตอบแทนเฉลี่ยสุทธิ (กำไร) 1,160 บาท/ตัว หรือ 47 บาท/กิโลกรัม ด้านสถานการณ์ตลาดแพะขุนของจังหวัดสงขลา การจำหน่ายแพะขุนส่วนใหญ่ ร้อยละ 54 จำหน่ายให้กับพ่อค้ารวบรวมในจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ พัทลุง สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เพื่อจำหน่ายต่อในจังหวัดและรวบรวมส่งออกไปยังประเทศเวียดนามและมาเลเซีย รองลงมาร้อยละ 33 จำหน่ายให้กับพ่อค้ารวบรวมในจังหวัดสงขลาเพื่อนำไปจำหน่ายต่อให้แก่พ่อค้าขายปลีกเนื้อแพะชำแหละ ร้อยละ 9 เกษตรกรผู้เลี้ยงแพะเป็นผู้จำหน่ายเองให้แก่ผู้บริโภคโดยตรงและส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 4 จำหน่ายให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงแพะในท้องถิ่นเพื่อนำไปเลี้ยงต่อหรือขยายพันธุ์ต่อไป
"ปัจจุบันจังหวัดสงขลาเป็นอีกหนึ่งจังหวัดของภาคใต้ตอนล่างที่มีการส่งเสริมการเลี้ยงแพะอย่างจริงจัง เนื่องจากแพะเป็นสัตว์เศรษฐกิจและมีความสำคัญสามารถพัฒนาเป็นสินค้าทางเลือกอีกชนิดหนึ่งที่เลี้ยงในเชิงพาณิชย์ได้ เนื่องจากใช้ระยะเวลาสั้นในการเลี้ยง ทนทานต่อสภาพภูมิอากาศ หากินเก่งและกินใบไม้ได้หลายชนิด ทั้งต้นกระถิน หญ้าเนเปียร์หญ้าแพงโกล่า วัชพืชในสวนไร่นา วัสดุเศษเหลือจากการเกษตร และสามารถเลี้ยงได้ทั้งแบบผูกล่าม แบบปล่อย แบบขังคอก รวมไปถึงการปล่อยลงแทะเล็มในทุ่งหญ้า อีกทั้งแพะมีขนาดตัวเล็ก ใช้พื้นที่น้อย จัดการง่าย โดยในปีที่ผ่านมาเกษตรกรในจังหวัดสงขลาสามารถรวมกลุ่มเป็นแปลงใหญ่แพะ ตำบลวัดสน อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ได้รับรางวัลชนะเลิศแปลงใหญ่อันดับหนึ่งของภาคใต้ และได้เป็นตัวแทนของภาคใต้ในการเข้าประกวดระดับประเทศอีกด้วย" ผู้อำนวยการ สศท.9 กล่าว
อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงแพะควรมีการส่งเสริมพัฒนาองค์ความรู้ พัฒนาการเลี้ยงแพะขุนคุณภาพอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งพัฒนากลุ่มเกษตรกรในการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร และพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกัน อีกทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มเพื่อจำหน่ายให้พ่อค้าขายปลีกเนื้อแพะชำแหละโดยตรง มีการส่งเสริมสนับสนุนการจัดตั้งโรงชำแหละที่ได้รับมาตรฐาน และการส่งเสริมการแปรรูปเนื้อแพะให้แก่เกษตรกรเพื่อนำไปขยายผลและพัฒนาต่อไป ทั้งนี้ ท่านใดที่สนใจข้อมูลเชิงลึกของผลการวิจัย ซึ่งสศท.9 ได้ทำการศึกษาวิถีการตลาด ต้นทุนการตลาด และส่วนเหลื่อมการตลาดของแพะขุนในพื้นที่จังหวัดสงขลา สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.9 โทร 0 7431 2996 หรืออีเมล [email protected]