เจาะลึก "4 มิติ สวนผึ้งโมเดล" ออกแบบห้องเรียนแก้เหลื่อมล้ำในทุกมิติ กับภารกิจที่เด็กไทยทุกคนต้องได้เรียน

24 Mar 2022

แม้ว่าโลกของการศึกษาจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จากทั้งโควิด-19 และความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทในการจัดการเรียนการสอน เด็กๆ หลายคนอาจเกิดความเบื่อหน่ายที่ต้องอยู่แต่ในบ้านและนั่งหน้าจอเพื่อเรียนออนไลน์เป็นเวลานาน แต่ยังมีเด็กกลุ่มหนึ่งที่ไม่มีแม้แต่ไฟฟ้าหรือสัญญาณอินเทอร์เน็ตเพื่อใช้ในการเรียน อีกทั้งยังประสบปัญหาครอบครัว ทั้งด้านรายได้ การอยู่อาศัย พ่อแม่ไม่สามารถแนะนำการเรียนการสอนให้ลูกหลาน เพราะต้องออกไปทำงานนอกบ้าน และบางครอบครัวก็ไม่เข้าใจภาษาไทยดีพอ ทั้งหมดนี้คือสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับเด็กๆ ในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร และโรงเรียนชายขอบ เป็นสาเหตุให้เด็กและเยาวชนกลุ่มดังกล่าวเสียเปรียบในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ เสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา ทั้งที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรได้รับอย่างเท่าเทียม

เจาะลึก "4 มิติ สวนผึ้งโมเดล" ออกแบบห้องเรียนแก้เหลื่อมล้ำในทุกมิติ  กับภารกิจที่เด็กไทยทุกคนต้องได้เรียน

ล่าสุด กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ได้เข้ามามีบทบาทในการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษาอีกครั้ง ด้วยการเปิดตัว "สวนผึ้งโมเดล" โครงการ "Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน" ที่มีเป้าหมายปฏิรูปแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำผ่านกลไกจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ ซึ่งวันนี้จะพาไปเจาะลึกแนวทางการออกแบบการเรียนรู้ และการทำงานร่วมกันในพื้นที่ของสถานศึกษาเพื่อช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสให้ได้กลับมาเรียนอีกครั้ง

นายภาณุพงศ์ มุ่นพลาย ผู้อำนวยการโรงเรียนสินแร่สยาม ได้ให้ข้อมูลว่า โรงเรียนสินแร่สยาม เป็นโรงเรียนที่มีพื้นที่ติดต่อกับแนวชายแดน ทำให้มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ วัฒนธรรม และความเป็นอยู่ นักเรียนส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เสี่ยงหลุดจากระบบ โรงเรียนจึงเริ่มจากการศึกษาข้อมูลและวิเคราะห์ปัญหาของเด็กเป็นรายบุคคล เพื่อช่วยเหลืออย่างตรงจุดและตอบโจทย์มากที่สุด

เมื่อโรงเรียนมีฐานข้อมูลของเด็กนักเรียนแล้ว จึงได้จำแนกออกมาเป็นปัญหาในมิติต่างๆ พร้อมออกแบบแนวทางการจัดการเรียนรู้ที่เอื้อต่อเด็กที่มีปัญหาในแต่ละด้าน ได้แก่ 1.ด้านการเรียนรู้ เน้นพัฒนาครูให้สร้างเทคนิคในการจัดการเรียนรู้ที่ช่วยเพิ่มทักษะให้เด็กอ่านออกเขียนได้ เน้นจัดกิจกรรมแบบ Active Learning เพื่อให้เด็กลงมือปฏิบัติจริง ใช้สื่อการสอนที่ดึงดูดใจและสร้างความสุขในการเรียน 2.ด้านเศรษฐกิจ เด็กหลายคนเลือกที่จะออกจากโรงเรียนไปทำงานหาเงินเพื่อช่วยครอบครัว โรงเรียนจึงสร้างรายได้ระหว่างเรียนให้กับนักเรียน ผ่านโครงการส่งเสริมทักษะอาชีพ เช่น บาริสต้าน้อยในร้านกาแฟ การเลี้ยงไก่ไข่และปลูกผักเพื่ออาหารกลางวัน หรือร้านตัดผมสินแร่บาร์เบอร์ และมีการปันผลให้นักเรียนเป็นทุนการศึกษา 3.ด้านสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะในครอบครัว แม้โรงเรียนจะมีระบบส่งครูไปเยี่ยมบ้านเด็กอยู่แล้ว แต่สิ่งสำคัญคือการทำความเข้าใจกับผู้ปกครองถึงความสำคัญของการศึกษา พูดคุยกับผู้ปกครองเป็นประจำเพื่อติดตามเด็กๆ เสมอ 4.ด้านกายภาพ ไม่ว่าจะเป็นห้องเรียน อุปกรณ์ เทคโนโลยีที่สอดคล้องกับการจัดการเรียนการสอนสมัยใหม่ บรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ จำนวนบุคลากรที่เพียงพอ ไปจนถึงโรงอาหารและห้องน้ำที่ถูกสุขลักษณะ

"อีกหัวใจสำคัญของการศึกษาคือครูผู้สอน โรงเรียนต้องทำความเข้าใจกับคณะครูให้เข้าใจถึงปัญหาและบริบทของเด็กแต่ละคนก่อน เพราะนักเรียนแต่ละคนมีปัญหาที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านทักษะการอ่านออกเขียนได้ ด้านเศรษฐกิจ หรือสภาพแวดล้อมทางสังคมและครอบครัว ก่อนที่จะออกแบบแนวทางการจัดการศึกษาให้เหมาะสมกับเด็กทุกคนได้อย่างเท่าเทียม เพื่อลดความเสี่ยงที่เด็กจะหลุดออกนอกระบบการศึกษา" นายภาณุพงศ์ กล่าวสรุป

ดร.รัตนา รุ่งศิริสกุล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (ราชบุรี) กล่าวว่า จากการทำงานร่วมกับโรงเรียนสินแร่สยาม ทำให้มองเห็นถึงปัญหาของเด็กแต่ละคนได้ชัดเจนขึ้น มจธ. ในฐานะสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ จึงทำหน้าที่เป็นเหมือนพี่เลี้ยงให้กับโรงเรียน เนื่องจากปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องร่วมรับผิดชอบ โดยหนึ่งในตัวอย่างการสร้างระบบช่วยเหลือและส่งต่อที่ประสบความสำเร็จ คือ น้องเอ (นามสมมติ) ชั้น ป.6 โรงเรียนสินแร่สยาม ที่มีปัญหาเรียนช้ากว่าเพื่อนๆ และครอบครัวไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายทางการศึกษาได้ แต่ตัวน้องอยากที่จะเรียนต่อ จึงได้ช่วยประสานไปยังโรงเรียนรุจิรพัฒน์ ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำในอำเภอสวนผึ้ง และมีหลักสูตรที่รองรับเด็กในกลุ่มการเรียนรู้บกพร่อง รวมถึงการฝึกทักษะงานฝีมือและอาชีพ นอกจากจะช่วยลดค่าเดินทาง บรรเทาปัญหาเรื่องไม่มีผู้ดูแลที่เหมาะสม ยังได้ฝึกทักษะด้านอาชีพและค้นหาความถนัดระหว่างเรียนอีกด้วย ส่วนการส่งต่อปลายทาง ก็ได้ร่วมมือกับสถาบันอาชีวศึกษาในพื้นที่ในการเข้ามาสนับสนุนเด็กๆ ที่มีความสามารถแต่ยังขาดโอกาส ให้ได้เข้าเรียนต่อในระดับ ปวช. ต่อไป

ด้านรศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา กล่าวว่า ปัญหาการศึกษาถือเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของทุกคนที่ต้องร่วมมือกันช่วยให้เด็กและเยาวชนซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศได้รับการศึกษาอย่างเสมอภาคเท่าเทียม โดยเฉพาะการป้องกันไม่ให้เด็กนักเรียนหลุดออกจากระบบ เริ่มจากการส่งเสริมการกระจายอำนาจในการจัดการปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาสู่กลไกเชิงพื้นที่ เพื่อการจัดการที่รวดเร็ว ทันสถานการณ์ ครูผู้สอนต้องเอาใจใส่และเข้าใจเด็ก ขณะเดียวกันก็ต้องมีระบบที่สนับสนุนให้ครูสามารถพัฒนาการจัดการศึกษา สร้างความเข้าใจให้กับผู้ปกครอง สังคม และชุมชน ว่าปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบนับเป็นเรื่องร้ายแรง เพราะเด็กเหล่านั้นจะขาดโอกาสในการเติบโตและก้าวหน้าในอนาคต หรือแม้แต่ขาดทักษะในการดำเนินชีวิตประจำวัน จำเป็นต้องลดจำนวนเด็กหลุดออกนอกระบบให้เหลือน้อยที่สุด

"ตัวอย่างจากการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานในพื้นที่จนเกิดเป็นต้นแบบ สวนผึ้งโมเดล สะท้อนให้เห็นว่าพื้นที่มีความเข้าใจปัญหาลึกซึ้ง และมีเป้าหมายพัฒนาคุณภาพการศึกษาร่วมกัน นอกจากจะช่วยให้เด็กได้เรียนรู้อย่างมีความสุข สามารถพัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพ จนสามารถพึ่งพาตัวเองได้ ยังเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยป้องกันการหลุดจากระบบซ้ำอีกด้วย" รศ.ดร.วรากรณ์ กล่าวทิ้งท้าย

ติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวกิจกรรม ของ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา
ได้ใน 4 ช่องทาง ดังนี้ เว็บไซต์https://www.thaiedreform2022.org เฟซบุ๊กแฟนเพจ https://web.facebook.com/Thaiedreform2022 ยูทูบช่อง 'thaiedreform2022' และทวิตเตอร์ https://twitter.com/Thaiedreform22

HTML::image(