"ซิงค์" จัดการประชุมสุดยอดสุขภาวะดิจิทัลครั้งแรก มุ่งยกระดับความเข้าใจในอันตรายของสื่อดิจิทัล

24 Mar 2022

- การประชุมนี้เปรียบได้กับ "การประชุมดาวอสด้านสุขภาวะดิจิทัล" โดยจะสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความจริงที่ซ่อนอยู่ของความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสื่อดิจิทัล

- การประชุมสุดยอดสองวัน (29-30 มีนาคม) จะนำนักวิชาการ ผู้คร่ำหวอดในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี บุคคลสำคัญด้านวัฒนธรรม และผู้กำหนดนโยบาย มารวมตัวกันเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดและวิธีการแก้ปัญหา เพื่อปรัปปรุงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับเทคโนโลยี

- คนดังอย่างไซมอน ซิเนค (Simon Sinek) รวมถึงผู้บริหารจากไอบีเอ็ม ยูเนสโก และไชลด์เน็ต จะมาเป็นวิทยากรในการประชุมย่อยหลายหัวข้อตลอดงาน

- ผลการวิจัยของซิงค์แสดงให้เห็นว่า คนเกือบครึ่งหนึ่ง (48%) ใช้เวลาบนโลกออนไลน์มากเกินกว่าที่ตนเองต้องการทุกวัน

ด้วยความพยายามที่จะสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาสุขภาวะดิจิทัล ทางโครงการส่งเสริมสุขภาวะดิจิทัล "ซิงค์" (Sync) จึงเตรียมเปิดเวทีให้บรรดาผู้นำจากแวดวงเทคโนโลยี วิชาการ กีฬา วัฒนธรรม และนโยบาย มารวมตัวกันในช่วงสิ้นเดือนนี้ ในการประชุมสุดยอดสุขภาวะดิจิทัล "ซิงค์ ดิจิทัล เวลบีอิ้ง ซัมมิต" (Sync Digital Wellbeing Summit) ครั้งแรก

การประชุมครั้งนี้จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29-30 มีนาคม ณ ศูนย์วัฒนธรรมโลกคิงอับดุลอาซิซ หรือ อิทรา (King Abdulaziz Centre for World Culture หรือ Ithra) ประเทศซาอุดีอาระเบีย โดยเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้บรรดาผู้นำทางความคิดได้พัฒนาวิธีการแก้ปัญหาใหม่ ๆ เพื่อปกป้องสุขภาวะของผู้ใช้สื่อดิจิทัลทั่วโลก

การประชุมจะมุ่งเน้นไปที่ 5 ประเด็นหลัก โดยเหล่าวิทยากรจะมานำเสนอข้อมูลเชิงลึกและมุมมองในหัวข้อการเสพติดสื่อดิจิทัล, ความเป็นส่วนตัว, ข่าวปลอมและข้อมูลเท็จ, ความสัมพันธ์ และอัลกอริทึม โดยหวังว่าการแลกเปลี่ยนความคิดและองค์ความรู้จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมในส่วนของการมีปฏิสัมพันธ์ การกำกับดูแล และการออกแบบแพลตฟอร์มดิจิทัล

อับดุลลาห์ อัล-ราชิด ( Abdullah Al-Rashid) ผู้อำนวยการของซิงค์ กล่าวว่า "ความเข้าใจเรื่องผลกระทบอันซับซ้อนของเทคโนโลยีดิจิทัลและโซเชียลมีเดียที่มีต่อความสัมพันธ์ สุขภาวะส่วนบุคคล และสังคม ยังน้อยมากเมื่อเทียบกับความเข้าใจที่มีต่อเทคโนโลยี รวมถึงการดึงดูดยอดคลิก ยอดไลก์ และยอดเอ็นเกจเมนต์ให้ได้มากที่สุด เมื่อไม่กี่ปีมานี้เองที่เราเริ่มมีการพูดคุยถึงอันตรายของความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสื่อดิจิทัลและโซเชียลมีเดีย ปัจจุบัน สถานการณ์โรคระบาดทำให้เทคโนโลยีดิจิทัลบูรณาการเข้ากับชีวิตของเรามากขึ้น ดังนั้นเราจำเป็นต้องพูดคุยกันให้มากขึ้นในประเด็นนี้ ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจว่าเราจะมองเห็นภาพรวมทั้งหมด เพื่อหลีกเลี่ยงการนำเสนอวิธีแก้ปัญหาที่มุ่งเน้นปลายเหตุแทนที่จะเป็นต้นเหตุ รวมถึงวิธีแก้ปัญหาระยะสั้นเพียงบางส่วนและไม่ครอบคลุม แทนที่จะเป็นวิธีแก้ปัญหาระยะยาวอย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุม"

"การประชุมซิงค์ ดิจิทัล เวลบีอิ้ง ซัมมิต จะเปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญแถวหน้าของวงการ ผู้ที่มีบทบาทสำคัญ บุคคลเด่นด้านวัฒนธรรม และอินฟลูเอนเซอร์ ได้พูดคุยกันในประเด็นสุขภาวะดิจิทัลในระดับที่ครอบคลุมอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยในการประชุมย่อยในหัวข้อต่าง ๆ บรรดาผู้นำทางความคิดจะถามคำถามที่ท้าทายแต่มีความสำคัญเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของคนเรากับเทคโนโลยี รวมถึงให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับผลกระทบและนำเสนอทางออกของปัญหาที่เรากำลังเผชิญ เราต้องร่วมกันถามคำถามที่ตรงจุดจึงจะประสบผลสำเร็จในการกำหนดเส้นทางไปสู่ความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นระหว่างคนเรากับเทคโนโลยี"

ผู้นำทางความคิด

บรรดาผู้นำทางความคิดที่จะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดครั้งนี้ประกอบด้วยบุคคลที่มีชื่อเสียงจากแวดวงเทคโนโลยี องค์กรเอ็นจีโอ มูลนิธิ ภาครัฐ และชุมชนอินฟลูเอนเซอร์ด้านวัฒนธรรม โดยวิทยากรหลักประกอบด้วย

  • วิลล์ การ์ดเนอร์ (Will Gardner) ผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นโอบีอี และซีอีโอของไชลด์เน็ต (Childnet) สหราชาณาจักร
  • โม กาวดัต (Mo Gawdat) นักเขียน ผู้ประกอบการ และอดีตประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรกิจของกูเกิล [เอกซ์] (Google [X]) สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
  • โจนาทาน การ์เนอร์ (Jonathan Garner) ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของไมนด์ โอเวอร์ เทค (Mind Over Tech) สหราชาณาจักร
  • ดร. รอสส์ ฟาร์เรลลี (Ross Farrelly) ผู้อำนวยการฝ่ายวิทยาศาสตร์ข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ของไอบีเอ็ม (IBM) ออสเตรเลีย
  • เจ้าหญิงไฮฟา อัล โมกริน (H.H. Princess Haifa Al Mogrin) ผู้แทนถาวรราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียประจำยูเนสโก (UNESCO)
  • ดร. แองเจลา กันดรา ดา ซิลวา มาร์ตินส์ (Angela Gandra da Silva Martins) ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิทธิมนุษยชนครอบครัวของบราซิล
  • ดร. ลิซ สไวการ์ต (Liz Sweigart) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิตภัณฑ์และกลยุทธ์ของเซฟ คิดส์ เอไอ (Safe Kids AI)
  • ดร. จอห์น เอ. นาสลันด์ (John A. Naslund) อาจารย์ภาควิชาสุขภาพโลกและเวชศาสตร์สังคม โรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
  • คีตาญชลี ราว (Gitanjali Rao) นักนวัตกรรม นักเขียน และ "เด็กแห่งปี" คนแรกของนิตยสารไทม์ในปี 2563

วิลล์ การ์ดเนอร์ ซีอีโอของไชลด์เน็ต องค์กรการกุศลจากสหราชอาณาจักรซึ่งส่งเสริมอินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัยมากขึ้นสำหรับเด็ก ๆ กล่าวว่า "โลกออนไลน์มอบโอกาสมากมายให้แก่เด็ก ๆ แต่ก็มาพร้อมความเสี่ยงที่เด็กทั่วโลกต้องเผชิญ จึงจำเป็นต้องมีนโยบาย การกำกับดูแล การปกป้อง และการให้ความรู้ เพื่อให้เท่าทันสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพื่อรับประกันว่าเด็ก ๆ จะสามารถดูแลตัวเองและผู้อื่นได้บนโลกออนไลน์ รวมถึงเพื่อรับฟังเสียงของเด็ก ๆ และให้พวกเขาได้แบ่งปันประสบการณ์ ความกังวล และความคิดเห็น ผมตั้งตารอที่จะมีส่วนร่วมในการสร้างความก้าวหน้าในภาคส่วนนี้ ในการประชุมซิงค์ ดิจิทัล เวลบีอิ้ง ซัมมิต"

วิทยากรที่เข้าร่วมการประชุมจะได้รับเชิญให้พูดคุยในหัวข้อต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาวะดิจิทัล ขณะที่ผู้ฟังก็จะได้รับข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับสุขภาวะดิจิทัลจากบรรดาผู้เชี่ยวชาญ โดยการอภิปรายแบบคณะและการกล่าวสุนทรพจน์สำคัญประกอบด้วย

  • จิตวิทยาของเทคโนโลยี ( The Psychology of Technology) โดย ดร. โมฮัมเหม็ด อัลฮัจจิ (Mohammed Alhajji) ผู้อำนวยการหน่วยงานด้านพฤติกรรมและการปรับพฤติกรรม สังกัดกระทรวงสาธารณสุขซาอุดีอาระเบีย และดร. มอริตซ์ บูชี (Moritz Buchi) เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการวิจัยและการสอน มหาวิทยาลัยซูริก
  • เจนแซดกับโลกดิจิทัล ( Gen Z Versus the Digital World) โดย ดร. ร็อดนีย์ ดับเบิลยูเจ คอลลินส์ (Rodney WJ Collins) รองประธานอาวุโสและกรรมการของแมคคานน์ เวิลด์กรุ๊ป ทรูท เซ็นทรัล (McCann Worldgroup Truth Central) ร่วมด้วยชานเทล เดอ คาร์วัลโฮ (Chantelle de Carvalho) โปรดิวเซอร์ของภาพยนต์สารคดีเรื่องไอแอมเจนแซด (I am Gen Z) และอุษมาน อัลโมอามาร์ (Othman Almoamar) ผู้จัดการโครงการวิจัยและการมีส่วนร่วมกับชุมชนของมิสก์ ฟาวน์เดชัน (MISK Foundation)
  • สแกนอนาคต - แนวโน้มของเทคโนโลยีและความเกี่ยวข้องกับสุขภาวะดิจิทัล ( Scanning the Horizon - Tech Trends and Their Implications for Digital Wellbeing) โดย ดร. ลาติฟา อัล-อับดุลการิม (Latifa Al-Abdulkarim) ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากวิทยาลัยคอมพิวเตอร์และวิทยาศาสตร์ข้อมูล มหาวิทยาลัยคิงซาอุด (KSU) และดร. รอสส์ ฟาร์เรลลี ผู้อำนวยการฝ่ายวิทยาศาสตร์ข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ของไอบีเอ็ม ออสเตรเลีย
  • อินเทอร์เน็ตต้องมีฉลากเตือนหรือไม่ ( Does The Internet Need Warning Labels?) โดยแมททิว เบิร์กแมน (Matthew Bergman) ผู้ก่อตั้งศูนย์กฎหมายเพื่อเหยื่อโซเชียลมีเดีย (Social Media Victims Law Center) และหุ้นส่วนอาวุโสของเบิร์กแมน เดรเปอร์ ออสลันด์ อูโด (Bergman Draper Oslund Udo)

สำหรับวาระการประชุมทั้งหมดจะมีการประกาศเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม

ภายในการประชุมสุดยอดครั้งนี้ยังมีการเปิดเวทีเสวนาสาธารณะเพื่อสนับสนุนการสร้างสรรค์แนวคิดเชิงกลยุทธ์ใหม่ ๆ โดยแบ่งเป็นการประชุมกลุ่มย่อยซึ่งผู้เข้าร่วมสามารถแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาวะดิจิทัลทั่วโลก โดยหัวข้อของการประชุมกลุ่มย่อยคือ "อนาคตของสุขภาวะดิจิทัลแบบที่เราต้องการ" (The Digital Wellbeing Future We Want) และ "การขับเคลื่อนสุขภาวะดิจิทัลทั่วโลก" (Building A Global Digital Wellbeing Movement)

ในระหว่างการประชุมสุดยอดครั้งนี้ ซิงค์จะจัดการประชุมย่อยเพื่อเจาะลึกร่วมกับเอสเอ็มอีและนักวิจัยจากหลายประเทศที่มีประสบการณ์และภูมิหลังแตกต่างหลากหลาย โดยมีเป้าหมายเพื่อรวบรวมข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญเกี่ยวกับสุขภาวะดิจิทัล รวมถึงหนทางข้างหน้าและอนาคตของสุขภาวะดิจิทัล

ข้อมูลจากซิงค์สะท้อนความน่ากังวลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของคนกับเทคโนโลยี

การประชุมสุดยอดครั้งนี้จัดขึ้นหลังจากที่มีการเผยแพร่สมุดปกขาวฉบับแรกของซิงค์ [1] นั่นคือ รายงานสุขภาวะดิจิทัลทั่วโลกประจำปี 2564 (Global Digital Wellbeing Report 2021) โดยผลวิจัยแสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีและสื่อใหม่ฝังลึกลงในชีวิตประจำวันของเราอย่างไรในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา โดยเน้นไปที่แนวโน้มที่รวดเร็วขึ้นอันเป็นผลมาจากสถานการณ์โรคระบาด นอกจากนี้ ผลวิจัยจากรายงานสุขภาวะดิจิทัลทั่วโลกยังถูกกล่าวถึงในเอกสารที่เผยแพร่โดยศาสตราจารย์จัสติน คณบดีคณะจิตวิทยา มหาวิทยาลัยซายิด และนักวิจัยของซิงค์ ในวารสารฟรอนเทียร์ อิน ไซคายอะทรี (Frontier in Psychiatry) ซึ่งเป็นวารสารจิตวิทยาแบบพหุวิทยาการที่ได้รับการกล่าวอ้างถึงมากที่สุดในโลก โดยสามารถอ่านบทความดังกล่าวได้ที่นี่ 

ผลการสำรวจประชากร 15,000 คนที่มีการระบุถึงทั้งในรายงานและเอกสารข้างต้น เผยให้เห็นว่า

  • แม้ว่าจะมีความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับการเสพติดสื่อออนไลน์ และคนครึ่งหนึ่งยอมรับว่าอดหลับอดนอนทุกสัปดาห์เพื่อออนไลน์ในเวลากลางคืน (และมากถึง 69% ในกลุ่มคนเจนแซด) แต่พ่อแม่ 19% ก็ยังปล่อยให้ลูกออนไลน์โดยไม่จำกัดเวลา
  • ผู้ตอบแบบสำรวจเกือบหนึ่งในสามยอมรับว่าให้ข้อมูลผิด ๆ กับเพื่อนและคนในครอบครัวเกี่ยวกับจำนวนเวลาที่ใช้บนโลกออนไลน์ และมากถึง 40% ในกลุ่มคนเจนแซด ซึ่งมีอายุระหว่าง 10-25 ปี
  • ผู้ตอบแบบสำรวจเกือบครึ่งหนึ่ง (48%) ใช้เวลาบนโลกออนไลน์มากเกินกว่าที่ตนเองต้องการทุกวัน และ 4 3% ไม่เคยหยุดเล่นโซเชียลมีเดียเลยสักวันในปีที่ผ่านมา
  • ผู้ตอบแบบสำรวจสามในสี่ ( 75%) ต้องการให้รัฐบาลลงทุนมากขึ้นกับการรักษาอาการเสพติดสื่อออนไลน์ที่มีคุณภาพในราคาย่อมเยา และ 61% ระบุว่าการเสพติดอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียควรได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการว่าเป็นอาการทางการแพทย์

พันธมิตรด้านความรู้

เมื่อไม่นานมานี้ ซิงค์ได้ประกาศความร่วมมือกับศูนย์วิจัยสุขภาวะดิจิทัลแห่งมหาวิทยาลัยมิลาโน-บิคอคคา (Digital Wellbeing Research Center at University of Milano-Bicocca) โดยจะมีการใช้แนวทางใหม่แบบองค์รวมในการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษากับสมาร์ทโฟน รวมถึงผลกระทบที่มีต่อสมาธิและความวิตกกังวลในบริบททางสังคมต่าง ๆ

มาร์โก กุย ( Marco Gui) ผู้อำนวยการศูนย์ฯ กล่าวว่า "นักศึกษามหาวิทยาลัยทุกคนในปัจจุบันมีสมาร์ทโฟน ซึ่งมอบการเชื่อมต่อที่คนรุ่นก่อนทำได้แค่ฝันถึง แต่ก็มีสิ่งที่ต้องสูญเสียไปเช่นกัน เราขอขอบคุณซิงค์ที่สนับสนุนวิธีการใหม่ของเราในการสำรวจประโยชน์และผลเสียที่อาจเกิดขึ้นจากการเชื่อมต่อกันแบบถาวรผ่านเทคโนโลยี"

ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://sync.ithra.com/

เกี่ยวกับซิงค์

ซิงค์เป็นโครงการส่งเสริมสุขภาวะดิจิทัลที่ริเริ่มโดยศูนย์วัฒนธรรมโลกคิงอับดุลอาซิซ หรือ อิทรา ด้วยวิสัยทัศน์ในการสร้างโลกที่เราทุกคนสามารถควบคุมชีวิตดิจิทัลของตนเองได้ โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากการวิจัยอันครอบคลุมซึ่งเกิดจากการร่วมมือกับหน่วยงานระดับโลกหลายแห่ง เพื่อทำความเข้าใจความแพร่หลายของเทคโนโลยีและผลกระทบที่มีต่อชีวิตคนเรา จากนั้นนำความรู้ที่ได้รับมาใช้สร้างสรรค์แคมเปญ เครื่องมือ ประสบการณ์ สื่อการเรียนการสอน และโครงการต่าง ๆ ที่มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มความตระหนักรู้ของสาธารณชนทั่วโลก

ติดตามซิงค์ได้ทางทวิตเตอร์ https://twitter.com/SyncIthra หรือเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/SyncIthra 

เกี่ยวกับอิทรา

ศูนย์วัฒนธรรมโลกคิงอับดุลอาซิซ หรือ อิทรา เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางด้านวัฒนธรรมที่ทรงอิทธิพลที่สุดของซาอุดีอาระเบีย โดยเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับผู้ที่มีความสนใจใคร่รู้ มีความคิดสร้างสรรค์ และต้องการแสวงหาความรู้ อิทราสร้างประสบการณ์ระดับโลกในพื้นที่สาธารณะแบบอินเทอร์แอคทีฟ ผ่านทางโปรแกรม การแสดง นิทรรศการ กิจกรรม และโครงการที่น่าสนใจมากมาย ซึ่งนำวัฒนธรรม นวัตกรรม และองค์ความรู้มาผสมผสานกันในรูปแบบที่ดึงดูดใจทุกคน อิทราเชื่อมโยงความคิดสร้างสรรค์ มุมมองที่ท้าทาย และแนวคิดที่แปลกใหม่เข้าด้วยกัน และภาคภูมิใจที่ได้เป็นผู้นำด้านวัฒนธรรมแห่งอนาคตที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับทุกคน ทั้งนี้ อิทราเป็นโครงการความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (CSR) ระดับเรือธงของบริษัท ซาอุดี อารามโค (Saudi Aramco) และเป็นศูนย์วัฒนธรรมที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ โดยประกอบด้วยโซนต่าง ๆ ได้แก่ ไอเดีย แล็บ (Idea Lab), ห้องสมุด, โรงภาพยนตร์, โรงละคร, พิพิธภัณฑ์, ส่วนจัดแสดงพลังงาน (Energy Exhibit), หอประชุมใหญ่, พิพิธภัณฑ์เด็ก และอิทรา ทาวเวอร์ (Ithra Tower)   

ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.ithra.com

ติดตามอิทราทางโซเชียลมีเดียได้ที่เฟซบุ๊ก (King Abdulaziz Center for World Culture), ทวิตเตอร์ (@Ithra) และอินสตาแกรม (@Ithra) #Ithra

[1] อ้างอิงมาจากการสำรวจประชากร 15,000 คน ใน 30 ประเทศ ซึ่งมอบหมายโดยซิงค์ และดำเนินการโดยพีเอสบี มิดเดิลอีสต์ (PSB Middle-East) ในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม 2564