ไทยเรล โลจิสติกส์ ร่วมรฟท.-บุญรอด ซัพพลายเชน เปิดทดลองขนส่งสินค้าทางรถไฟ

24 Mar 2022

ก้าวแรก บ.ไทยเรล โลจิสติกส์ ร่วมรฟท.-บุญรอด  ซัพพลายเชน  เปิดทดลองขนส่งสินค้าทางรถไฟ เส้นทางศรีสำราญ จ.สุพรรณฯ-บ้านทุ่งโพธิ์ จ.สุราษฎร์ฯ หนุนลดต้นทุนค่าขนส่ง  ลดภาระประชาชน

ไทยเรล โลจิสติกส์ ร่วมรฟท.-บุญรอด ซัพพลายเชน เปิดทดลองขนส่งสินค้าทางรถไฟ

บริษัทไทยเรล โลจิสติกส์  โดยนางสาวณัฏฐา ธนกิจสถาพร ประธานบริหาร พร้อมด้วย  นายฐากูร อินทรชม ผู้อำนายการฝ่ายปฏิบัติการเตินรถ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)และ นายธนวรรธน์  ไทยอยู่ ผู้อำนวยการฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์  บริษัทบุญรอดซัพพลายเชน จำกัด และผู้แทนจากบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ร่วมพิธีเปิดทดลองขนส่งสินค้าทางรถไฟ เส้นทางจุดหยุดรถศรีสำราญ จ.สุพรรณบุรี-สถานีบ้านทุ่งโพธิ์  อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2565  ณ จุดหยุดรถศรีสำราญ อ. สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี เพื่อส่งเสริมการขนส่งทางรถไฟเติบโต  ลดต้นทุนค่าขนส่ง  ลดภาระประชาชน หนุนเป้าหมายการเป็นบริษัทศูนย์กลางการขนส่งทุกหมวด ตั้งเป้ากลางปีส่งสินค้าเต็มขบวนถึงปาดังเบซาร์ ประเทศมาเลเซียทุกวัน  วันละ 1 ขบวนไป-กลับ พร้อมเล็งส่งสินค้าเกษตร ผักผลไม้ไกลถึงจีน

นางสาวณัฏฐา ธนกิจสถาพร ประธานบริหาร บริษัท ไทยเรลโลจิสติกส์ จำกัด กล่าวถึงวัตถุประสงค์การทดลองขนส่งสินค้าทางรถไฟในครั้งนี้ว่า   บริษัทไทยเรล โลจิสติกส์ จำกัด เป็นบริษัทขนส่งทางรางที่มีการขนส่งแบบครบวงจร ที่มุ่งเป็นบริษัทศูนย์กลางการขนส่งทุกหมวด ทั้งทางบก  ทางน้ำหรือเรือและทางอากาศ  สำหรับการขนส่งทางรางล่าสุดได้ร่วมมือกับบริษัทกลุ่มพันธมิตรหลายบริษัท  และได้รับการสนับสนุนการรถไฟแห่งประเทศเอื้ออำนวยสถานที่ ขบวนรถจักร จัดเตรียมสถานที่และปรับปรุงทางเพื่อการจัดงาน

การทดลองขนส่งสินค้าในครั้งนี้จะทำให้ทราบว่า การขนส่งทางรถไฟจะช่วยเอื้ออำนวยความสะดวกในเรื่องของการขนส่งได้มากน้อยอย่างไร  รวมถึงการช่วยลดต้นทุนการขนส่ง  อุปสรรค ปัญหาที่จะเกิดขึ้นระหว่างการขนส่งจากต้นทางถึงปลายทาง การโหลดสินค้าขึ้นลง หรือขั้นตอนวิธีการต่าง ๆ จากการทดลองขนส่ง   เพื่อนำประสบการณ์นี้ไปปรับปรุงแก้ไขในเที่ยวขบวนจริงในอนาคต

บริษัท ไทยเรลโลจิสติกส์  มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะดำเนินการและสนับสนุนนโยบายของภาครัฐ ที่ได้มีการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางด้านระบบรางอย่างมหาศาล พร้อมทั้งการรถไฟแห่งประเทศไทยเองที่พัฒนาทั้งระบบการขนส่ง พัฒนาบุคลากรขององค์กรที่เป็นคนรุ่นใหม่ การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อที่จะสร้างมาตรฐานคุณภาพของการขนส่งทางรางให้มีมาตรฐานยิ่งขึ้น  ภาคเอกชน โดยไทยเรล โลจิสติกส์และบริษัทในกลุ่มของพันธมิตร โดยเฉพาะ บริษัทบุญรอด ซัพพลายเชน ที่ร่วมมือกันในการทดลองครั้งนี้ เพื่อที่จะทำให้เห็นว่า กลุ่มบริษัทเรามีความยินดีและประสงค์ที่จะสนับสนุนกิจการการขนส่งทางรถไฟให้เติบโตและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นไป

"หลังการทดลองครั้งนี้จะมีการประเมินผลร่วมกัน มีการปรับแก้ให้ลงตัวจะเริ่มขนส่งจริงได้ในเร็ว ๆ นี้ โดยคาดหวังว่าในช่วงกลางปี 2565 นี้ จะเริ่มขนส่งจริง ขนส่งสินค้าอย่างเต็มขบวนจากจุดศรีสำราญไปถึงปาดังเบซาร์ ของประเทศมาเลเซียทุกวัน วันละ 1 ขบวนไป-กลับ  ซึ่งในส่วนขากลับจะมีสินค้ากลับมาด้วยเป็นยางพาราและกลุ่มสินค้าจำพวกอะไหล่อิเล็กทรอนิกส์จากท่าเรือปีนังของมาเลเซียที่ขนส่งจากอินเดียกลับมา เพื่อจะส่งต่อไปยังจีนและไต้หวัน

จากนั้นจะขยายผลไปยังจุดอื่น ๆ โดยไทยเรล โลจิสติกส์ยังมีนโยบายที่จะขนส่งสินค้าเกษตร ผลไม้ตามฤดูกาลไปให้ผู้ประกอบการนำเข้าผักผลไม้รายใหญ่ในจีนด้วย  ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้าภาคอุตสาหกรรมและการเกษตรติดต่อเข้ามาค่อนข้างมาก ตัวอย่างหน่วยงานที่สนใจ เช่น  บริษัท ดีเอชแอล ซัพพลายเชน (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท Flash Express (แฟลชเอ็กซ์เพรส) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัดและการท่าเรือ เป็นต้น

นางสาวณัฏฐา กล่าวต่อว่า การขนส่งสินค้าทางรถไฟมีจุดเด่นในเรื่องความปลอดภัย ความปลอดภัยของคนขับที่ต้องขับรถระยะไกล ค่าใช้จ่ายด้านความเสื่อมสภาพรถยนต์และซ่อมบำรุงรถยนต์ต่ำลง น้ำมันราคาสูงขึ้นและช่วยลดปัญหาเรื่องมลพิษน้อยกว่า ส่วน จุดหยุดรถศรีสำราญ มีจุดเด่นเหมาะสมเรื่องทำเลใกล้นิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง  จึงสะดวกในการขนส่งสินค้า ทั้งจากปทุมธานี อยุธยา นครปฐม อีกทั้งการอยู่นอกชุมชน ไม่ผ่านชุมชนย่อยที่เป็นการรบกวนประชาชน และมีพื้นที่กว้างขวาง  คาดการณ์ว่า การขนส่งทางรถไฟจะมีการเติบโตอย่างแน่นอน ทั้งรถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง  ด้วยมีการสั่งขบวนรถเข้ามามาก เป็นปริมาณเพียงพอที่จะรองรับรับ

นายฐากูร อินทรชม ผู้อำนายการฝ่ายปฏิบัติการเตินรถ การรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า  ถือฤกษ์วันนี้เป็นการทดลองเดินรถไฟขนส่งสินค้าในทุกขั้นตอน เป็นก้าวแรก ถ้าวันนี้สำเร็จจะมีการขนส่งต่อเนื่องต่อไป โดยครั้งนี้เป็นการขนส่งเที่ยวเดียวแบบวางและผูกมัดจำนวน 10 แคร่ รวมเป็นเส้นทางกว่า 400 กิโลเมตร ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 12-13 ชั่วโมง สินค้าทั้ง 10 แคร่จะถึงปลายทางพร้อมกัน แตกต่างจากการขนส่งทางรถยนต์ไม่มาก ขณะที่ต้นทุนการขนส่งต่อกิโลเมตรต่ำกว่า ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีขนส่งจากสุพรรณบุรีและพร้อมจะขยายเพิ่มจุดขนส่งที่เหมาะสมแก่ผู้ประกอบการได้ในอนาคต

นายฐากูรกล่าวต่อว่า เนื่องจากไทยเป็นประเทศผู้ผลิต การขนส่งมีการปรับตามการบริโภคของประชาชนและจำนวนผู้ประกอบการ  ปัจจุบันจำนวนรถบรรทุกมีจำนวนเพิ่มขึ้นทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ทางผู้ประกอบการไทยเรล โลจิสติกส์เล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องของความปลอดภัย จึงมองว่า การขนส่งสินค้าทางรถไฟเป็นสิ่งที่น่าสนับสนุนต่อไป   ซึ่งเดิมการรถไฟมีการขนส่งทางรางมากอยู่แล้ว ในกลุ่มอุตสาหกรรมหนักในรูปคอนเทนเนอร์ เช่น ปูนซีเมนต์ น้ำมันและสินค้าคอนซูเมอร์นำเข้าส่งออกต่าง ๆในเส้นตะวันออกเฉียงเหนือ ที่แหลมฉบัง ที่บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) แก่งคอย สำหรับสถานการณ์ที่ราคาน้ำมันสูงขึ้นส่งผลกระทบทำให้ค่าธรรมเนียมและค่าระวางผันแปรตามเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นไม่ใช่ทั้งหมด

ด้านนายธนวรรธน์  ไทยอยู่  ผู้อำนวยการฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ บริษัทบุญรอด ซัพพลายเชน จำกัด กล่าวเสริมเรื่องผลกระทบราคาน้ำมันที่สูงขึ้นในปัจจุบันว่า  ราคาน้ำมันส่งผลต่อต้นทุนการขนส่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  ภาคเอกชนมองการขนส่งแบบหลายประเภทมานานแล้ว  เดิมบริษัทบุญรอดพึ่งพาการขนส่งทางถนนหรือรถยนต์เป็นหลัก  และจากการคำนึงถึงเรื่องของต้นทุน การรับผิดชอบของสังคมและด้านสิ่งแวดล้อม จึงต้องบริหารจัดการอย่างครอบคลุมให้เกิดความคุ้มค่าและตอบโจทย์ธุรกิจมากที่สุด  โดยต้องการขนส่งในทุก ๆ ประเภท มีจุดออกจากหลายจุด ส่งไปหลายที่ ซึ่งการขนส่งทางรถไฟตอบโจทย์ธุรกิจอย่างมาก  โดยเฉพาะการขนส่งเป็นปริมาณมากและขนส่งเป็นระยะทางไกล

 

 

ไทยเรล โลจิสติกส์ ร่วมรฟท.-บุญรอด ซัพพลายเชน เปิดทดลองขนส่งสินค้าทางรถไฟ