วว. ขับเคลื่อน BCG เพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือทิ้งภาคการเกษตร วิจัยพัฒนาเป็นกระถางเพาะชำย่อยสลายได้

21 Mar 2022

กระทรวงการอุดมศึกษา  วิทยาศาสตร์  วิจัยและนวัตกรรม  (อว.)  โดย  สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย  (วว.)  มุ่งขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจ BCG  ประสบผลสำเร็จในการเพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือทิ้งจากภาคการเกษตร นำมาวิจัยพัฒนาเป็นกระถางเพาะชำที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อทดแทนและลดการใช้ถุงเพาะชำที่ทำจากพลาสติก ระบุผลิตภัณฑ์มีความแข็งแรง ทนทาน มีความยืดหยุ่น ทำให้รากพืชสามารถชอนไชออกจากก้นกระถาง/ด้านข้างของกระถางได้ มีความสามารถในการอุ้มน้ำ ระบายความร้อนได้ดี ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช

วว. ขับเคลื่อน BCG  เพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือทิ้งภาคการเกษตร วิจัยพัฒนาเป็นกระถางเพาะชำย่อยสลายได้

ศ. (วิจัย) ดร. ชุติมา   เอี่ยมโชติชวลิต   ผู้ว่าการ  วว.  กล่าวว่า  นโยบายเศรษฐกิจ BCG เป็นธงการดำเนินงานของ วว. เพื่อร่วมขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลให้สำเร็จ สามารถตอบโจทย์ แก้ปัญหา ของประเทศด้วยองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม "กระถางเพาะชำย่อยสลายได้" เป็นหนึ่งในผลงานที่เป็นรูปธรรม ซึ่ง วว.  โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมวัสดุ ประสบผลสำเร็จในการเพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือทิ้งจากภาคการเกษตร  ได้แก่  ใยมะพร้าว   แกลบ  เปลือกข้าวโพด  ฟางข้าว  หญ้าเนเปีย  เยื่อกล้วย ชานอ้อย  ผักตบชวา และไผ่ เป็นต้น  นำมาวิจัยและพัฒนาขึ้นรูปเป็นกระถางเพาะชำที่สามารถย่อยสลายได้และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผลิตภัณฑ์มีความแข็งแรงและทนทาน มีความยืดหยุ่นที่ดี เพื่อให้รากสามารถชอนไชออกจากก้นกระถางและด้านข้างของกระถางได้เป็นอย่างดี รวมถึงมีความสามารถในการอุ้มน้ำ และระบายความร้อนได้ดี ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช

"...ในการเพาะชำไม้ดอกไม้ประดับรวมถึงพืชอื่นๆ ชาวสวนส่วนใหญ่จะเพาะกล้าไม้ลงในถุงเพาะชำหรือกระถางเพาะชำที่ทำมาจากพลาสติก โดยพลาสติกเหล่านั้นเป็นวัสดุที่ย่อยสลายยาก และเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดสภาวะโลกร้อน จึงเป็นโจทย์ที่ วว. นำมาแก้ปัญหาและประสบผลสำเร็จในการพัฒนาเป็นกระถางเพาะชำย่อยสลายได้ ซึ่งถือเป็นการนำองค์ความรู้ ประสบการณ์ มาต่อยอดโดยใช้หลักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาช่วยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์  ที่สามารถ  เข้าใจ  เข้าถึง กระบวนการผลิตได้ไม่ยาก และใช้วัตถุดิบที่มีต้นทุนต่ำในการปรับปรุงคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ และเป็นการเพิ่มมูลค่าของเหลือทิ้งทางการเกษตรตามหลักการ BCG ..." ผู้ว่าการ วว. กล่าว

การผลิต "กระถางเพาะชำย่อยสลายได้" ผลงานวิจัยพัฒนา วว. จะใช้วัตถุดิบที่มีต้นทุนต่ำ  จากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรมาสับย่อยให้มีขนาดที่เหมาะสมซึ่งขึ้นกับชนิดของพืช    ดังนี้    ใยมะพร้าว  ไม่ต้องตัด  สามารถใช้แบบยาวๆ ได้     แกลบ  นำมาล้างและอบให้แห้ง   เปลือกข้าวโพด  ฉีกตามแนวยาวให้มีความกว้างประมาณ   0.5 - 2.0  เซนติเมตร    ฟางข้าว  นำมาล้างและอบให้แห้ง  จากนั้นนำไปผสมกับตัวประสานอินทรีย์ในปริมาณที่เหมาะสม  เพื่อช่วยในการยึดเกาะของเยื่อและมีความแข็งแรงหลังการขึ้นรูป

ในส่วนของพืชที่มีเส้นใยอ่อน  เช่น   หญ้าเนเปีย/ผักตบชวา/กาบกล้วย  นำมาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ และนำไปปั่นละเอียดจนเป็นเยื่อ  จากนั้นนำเยื่อที่ได้ไปอัดขึ้นรูป ส่วนพืชที่มีโครงสร้างแข็ง  เช่น  ชานอ้อย/ไผ่/ฟางข้าว  นำมาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ และต้มด้วยโซเดียมไฮดรอกไซต์ (NaOH) หรือ โซดาไฟ   จะได้เยื่อที่มีความอ่อนนุ่มขึ้นรูปได้  ทั้งนี้เส้นใยและเยื่อข้างต้น จะถูกอัดด้วยเครื่องอัดร้อนระบบไฮดรอลิก (รูปทรงของผลิตภัณฑ์ที่ได้จะขึ้นอยู่กับแม่พิมพ์ที่ใช้)  นอกจากนี้อาจมีการผสมหรือพ่นเคลือบด้วยสารที่เป็นธาตุอาหารพืช เพื่อช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช

"... วว. พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตกระถางเพาะชำย่อยสลายได้ให้แก่ผู้สนในในรูปแบบการฝึกอบรมถ่ายทอดความรู้จากนักวิจัยที่เชี่ยวชาญของ วว. เพื่อนำวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรมาใช้ประโยชน์ให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างอาชีพและสร้างรายได้ที่มั่นคงให้แก่พี่น้องประชาชน อันจะนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีและสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจโดยรวมด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม..." ศ. (วิจัย) ดร. ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวสรุป

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม  รับคำแนะนำปรึกษา และรับบริการด้านวิทยาศาสตร์  เทคโนโลยีและนวัตกรรม จาก วว.  ติดต่อได้ที่  โทร. 0 2577 9000 ,0 2577 9439  โทรสาร  0 2577 9426  เว็บไซต์ www.tistr.or.th  อีเมล [email protected]  Line@TISTR

HTML::image(