ธนาคารทิสโก้เชียร์ซื้อหุ้นจีน ญี่ปุ่น และเวียดนาม รับเทรนด์ตลาดหุ้นฟื้นตัว หลัง Fed ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามคาด ชี้ทั้งสามประเทศยังเดินหน้านโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เพราะเงินเฟ้อต่ำกว่าเป้าหมาย ขณะที่มูลค่าหุ้นยังอยู่ในระดับต่ำว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 10 ปี
นายณัฐกฤติ เหล่าทวีทรัพย์ ผู้อำนวยการอาวุโสที่ปรึกษาการลงทุนทิสโก้เวลธ์ ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) (Mr.Nattakrit Laotaweesap, Head Of Wealth Advisory of TISCO Bank Psublic Company Limited) เปิดเผยว่า การประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่ผ่านมา ได้มีการประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% เป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาด โดยจากความชัดเจนดังกล่าวส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกฟื้นตัวขึ้นทันที และยังมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงนี้ แม้จะยังมีประเด็นความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนอยู่ แต่ตลาดหุ้นก็รับรู้ข่าวไปค่อนข้างมากแล้ว อีกทั้งประเด็นการเจรจาระหว่างสองประเทศที่มีอย่างต่อเนื่องยังเป็นปัจจัยหนุนให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นอีกด้วย
และจากข้อมูลศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) ที่ประเมินว่า ช่วงนี้ตลาดหุ้นจะกลับมาฟื้นตัว และเป็นโอกาสในการเข้าลงทุนในตลาดหุ้นที่ธนาคารกลางยังคงเดินหน้านโยบายการเงินเชิงผ่อนคลาย และไม่ได้มีแรงกดดันจากปัญหาเงินเฟ้อมากนัก
โดยจากประเด็นดังกล่าว ธนาคารทิสโก้จึงมองว่า ตลาดหุ้นที่สามารถเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่โดดเด่น เหมาะสำหรับเข้าซื้อ (Buy) คือ ตลาดหุ้นจีน ญี่ปุ่น และเวียดนาม
โดยตลาดหุ้นจีนมีประเด็นสนับสนุน คือ รัฐบาลจีนได้ตั้งเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2565 อยู่ที่ 5.5% ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางของจีน (PBoC) มีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราการดำรงเงินสำรอง (RRR) ลงอีก 50bps และปรับลดดอกเบี้ยลงอีก 10bps ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้เพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากสถานการณ์ควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดแบบเข้มงวด (Zero-COVID Policy) และอัตราเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์ยังอยู่ที่ 0.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อที่ทาง PBoC ตั้งไว้ที่ระดับ 3% จึงมีโอกาสที่รัฐบาลจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ซึ่งจะส่งผลดีต่อราคาหุ้นในช่วงดังกล่าว
ส่วนตลาดหุ้นญี่ปุ่นมีความน่าสนใจ คือ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 2565 จะขยายตัวได้ 3.3% ขณะที่ธนาคารกลางของญี่ปุ่น (BoJ) ยังมีท่าทีคงนโยบายการเงินผ่อนคลาย ทั้งในส่วนของอัตราดอกเบี้ยนโยบายและมาตรการ Yield Curve Control เพราะอัตราเงินเฟ้อในเดือนมกราคมยังอยู่เพียง 0.5% YoY ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อที่ทาง BoJ ตั้งไว้ที่ระดับ 2%
และสุดท้าย คือ ตลาดหุ้นเวียดนาม ซึ่ง IMF คาดว่า เศรษฐกิจปี 2565 จะขยายตัวได้ 6.6% และธนาคารกลางยังมีแนวโน้มที่ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 4% ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี ด้านอัตราเงินเฟ้อของเวียดนามเดือนกุมภาพันธ์ก็อยู่เพียง 1.42%YoY ทำให้ธนาคารกลางเวียดนามก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวด
ทั้งนี้ เมื่อมาพิจารณาที่มูลค่าหุ้น (Valuation) ของทั้ง 3 ประเทศ พบว่าอยู่ในระดับที่น่าสนใจ เพราะยังอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยข้อมูล ณ วันที่ 14 มีนาคม 2565 พบว่าอัตราราคาต่อกำไรล่วงหน้า (Forward P/E) ของตลาดหุ้นจีน (CSI3 00) อยู่ที่ 11.7 เท่า ขณะที่ค่าเฉลี่ย 10 ปีอยู่ที่ 11.8 เท่า ตลาดหุ้นญี่ปุ่น (NIKKEI 225) อยู่ที่ 14.1 เท่า ขณะที่ค่าเฉลี่ย 10 ปีอยู่ที่ 16.6 เท่า และตลาดหุ้นเวียดนาม (VN) อยู่ที่ 13 เท่าขณะที่ค่าเฉลี่ย 10 ปีอยู่ที่ 13.2 เท่า ซึ่งสะท้อนว่าหุ้นของทั้ง 3 ประเทศดังกล่าว มีราคาถูกกว่า เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นสหรัฐฯ (S&P 500) ที่มี Forward P/E อยู่ที่ 18.2 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปี ที่อยู่ในระดับ 16.9 เท่า
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit