จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) แลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อตรวจสอบและป้องกันการลอกเลียนวรรณกรรมผ่านระบบอักขราวิสุทธิ์ พัฒนากลไกมาตรฐานหลักสูตรระดับอุดมศึกษาของประเทศ
พิธีลงนามความร่วมมือระหว่าง รศ.ดร.ยุทธนา ฉัพพรรณรัตน์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.วรินธร สงคศิริ ที่ปรึกษาอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รักษาการรองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ณ ห้อง 702 ชั้น 7 อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา จุฬาฯ
โดยมี รศ.ดร.วันชัย ตรียะประเสริฐ ผู้ช่วยอธิการบดี จุฬาฯ ดร.อลิสา คงทน รักษาการรองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ และ ศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ สมบัติสมภพ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ร่วมเป็นสักขีพยาน
รศ.ดร.ยุทธนา ฉัพพรรณรัตน์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาฯ เปิดเผยว่า การลงนามความร่วมมือระหว่างจุฬาฯ มจธ. และ สวทช. ในครั้งนี้ เป็นการผนึกความร่วมมือกันตรวจสอบการลอกเลียนงานวรรณกรรมของประเทศไทย โดยใช้ "โปรแกรมอักขราวิสุทธิ์" ที่พัฒนาขึ้นโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยตรวจสอบการลอกเลียนวรรณกรรมของบุคคลอื่น ซึ่งจุฬาฯ ได้เปิดตัวโปรแกรม อักขราวิสุทธิ์อย่างเป็นทางการเมื่อปี 2556 พร้อมทั้งเริ่มใช้งานจริงกับวิทยานิพนธ์ของจุฬาฯ ในปีเดียวกันโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับหน่วยงานและสถาบันการศึกษาต่างๆ ให้สามารถใช้งานโปรแกรมอักขราวิสุทธิ์ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2557 ช่วงเวลา 8 ปีที่ผ่านมา จุฬาฯ ได้มีการลงนามความร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและรัฐวิสาหกิจจำนวนกว่า 150 แห่ง เพื่อตรวจสอบวิทยานิพนธ์ งานวิจัยและผลงานทางวิชาการด้วยโปรแกรมอักขราวิสุทธิ์ซึ่งเป็นโปรแกรมหลักที่ใช้ในการตรวจสอบการลอกเลียนวรรณกรรม และเป็นการป้องปรามมิให้มีการลอกเลียนวรรณกรรมของบุคคลอื่น
"ความร่วมมือทางวิชาการระหว่างจุฬาฯ มจธ. และ สวทช. ในครั้งนี้เป็นอีกก้าวสำคัญในการยกระดับและขยายฐานข้อมูลเพื่อการตรวจสอบการลอกเลียนวรรณกรรมของประเทศไทยให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น ในอนาคตมีแผนพัฒนาโปรแกรมอักขราวิสุทธิ์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น" รศ.ดร.ยุทธนา เผยความสำคัญของการลงนามความร่วมมือครั้งนี้
รศ.ดร.ยุทธนา กล่าวเพิ่มเติมว่า การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้เป็นโครงการนำร่อง (Sandbox) ในการพัฒนาระบบกลไกกำกับมาตรฐานหลักสูตรระดับอุดมศึกษาตามเกณฑ์มาตรฐานชาติ และวิชาชีพในระดับสถาบัน โดยเชื่อมต่อฐานข้อมูลงานวิจัยกับศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (Thai-Journal Citation Index Centre: TCI) ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญที่จัดเก็บข้อมูลบทความวิชาการและวิจัยของไทยฐานข้อมูล TCI นับว่ามีคุณูปการต่อวงวิชาการอุดมศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาของประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการเป็นวารสารมาตรฐานที่มี peer review อย่างเป็นระบบ เป็นแหล่งอ้างอิงในการเผยแพร่ผลงานวิชาการและผลงานวิจัยระดับอุดมศึกษาระดับชาติที่ได้รับการยอมรับในวงวิชาการมาอย่างยาวนาน อีกทั้งยังช่วยเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนบ่มเพาะให้กับนิสิตนักศึกษารวมถึงคณาจารย์และนักวิจัยใหม่ระดับอุดมศึกษา ได้มีเวทีและพื้นที่ในการเผยแพร่ผลงานวิชาการ/งานวิจัยในก้าวแรก เพื่อฝึกปรือ พัฒนาผลงานและศักยภาพไปสู่การนำผลงานไปเผยแพร่ในระดับวารสารระดับนานาชาติต่อไปในอนาคต อีกทั้งโครงการนี้จะนำไปสู่การพัฒนาขยายผล ต่อยอด และนำเสนอระบบกลไกในการกำกับมาตรฐานในระดับประเทศต่อไปอีกด้วย
"ในปีนี้บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาฯ จะมีวาระครบ 60 ปี ซึ่งจะเป็นอีกก้าวสำคัญที่เห็นความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ระดับประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อขยายฐานข้อมูลให้เป็นแหล่งอ้างอิงเพื่อการตรวจสอบการลอกเลียนวรรณกรรม เป็นการพัฒนาต่อยอดไปสู่ความเป็นอักขราวิสุทธิ์ (พลัส) โดยมีฐานข้อมูลงานวิจัยกับ TCI เป็นแหล่งข้อมูลสำคัญของโปรแกรมอักขราวิสุทธิ์ รวมถึงฐานข้อมูลสำคัญอื่น ๆ อีกด้วย" คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาฯ กล่าวในที่สุด
ดร.วรินธร สงคศิริ ที่ปรึกษาอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยได้พัฒนาระบบฐานข้อมูล TCI ตั้งแต่ปี 2547 เพื่อทำหน้าที่รวบรวม จัดเก็บ และสืบค้นบทความวิจัย รวมถึงการคำนวณและรายงานค่าดัชนีผลกระทบการอ้างอิงของบทความวิชาการ (Journal Impact Factors ; JIF) เพื่อประโยชน์ของนักวิจัยและนักวิชาการในการตีพิมพ์บทความวารสาร ฐานข้อมูล TCI เป็นฐานข้อมูลระดับชาติแห่งเดียวของประเทศไทยที่มีการรวบรวมข้อมูลบทความวิชาการไว้มากที่สุด ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนบ่มเพาะให้นิสิตนักศึกษา รวมถึงคณาจารย์และนักวิจัยใหม่ระดับอุดมศึกษาได้มีพื้นที่เผยแพร่ผลงานวิชาการและงานวิจัยในก้าวแรก เพื่อพัฒนาและเพิ่มศักยภาพไปสู่การนำผลงานไปเผยแพร่ในระดับวารสารระดับนานาชาติต่อไปในอนาคต
ศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า ความร่วมมือของทั้ง 3 องค์กรในครั้งนี้จะช่วยเสริมความเข้มแข็งให้กับแพลตฟอร์ม anti-plagiarism ของประเทศไทย ทั้งโปรแกรม CopyCatch ที่พัฒนาโดยศูนย์เนคเทค สวทช. และโปรแกรมอักขราวิสุทธิ์ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้เชื่อมต่อกับฐานข้อมูลงานวิจัยกับศูนย์ TCI
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit