นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์หอมหัวใหญ่ ปีเพาะปลูก 2564/65 (ข้อมูลพยากรณ์ ณ กุมภาพันธ์ 2565) คาดว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกหอมหัวใหญ่ รวมประมาณ 8,504 ไร่ ลดลงจากปีเพาะปลูก 2563/64 ที่มีพื้นที่ปลูก 8,798 ไร่ (ลดลงร้อยละ 3.34) ให้ผลผลิต 34,647 ตัน ลดลงจากปีเพาะปลูก 2563/64 ที่ให้ผลผลิต 34,797 ตัน (ลดลง ร้อยละ 0.43) เนื่องจากเกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นที่ราคาดีกว่าแทน อาทิ หอมแขก ข้าวโพดหวาน เป็นต้น ซึ่งแหล่งปลูกสำคัญอันดับหนึ่งของประเทศ คือ จังหวัด เชียงใหม่ (ผลผลิตร้อยละ 74 ของประเทศ) รองลงมาคือ เชียงราย และนครสวรรค์ ตามลำดับ ผลผลิตส่วนใหญ่ทยอยออกตลาดตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ถึง เดือนเมษายน และผลผลิตออกมากสุดในเดือนมีนาคม ทั้งนี้ ภาพรวมราคาหอมหัวใหญ่ที่เกษตรกรขายได้ เริ่มปรับตัวสูงขึ้นจากช่วงต้นปี เนื่องจากผลผลิตลดลง พ่อค้าในพื้นที่เข้ามารับซื้อผลผลิตมากขึ้น และการส่งออกไปต่างประเทศโดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่นส่งออกได้เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา
ขณะที่การบริหารจัดการสินค้าหอมหัวใหญ่ในปี 2565 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยคณะอนุกรรมการจัดการการผลิตและการตลาดกระเทียม หอมแดง หอมหัวใหญ่ และมันฝรั่ง ในคราวประชุมครั้งที่ 3/2564 เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2564 ได้มีแนวทางการบริหารจัดการผลผลิตเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตพืชหัวตกต่ำ ทั้งในระยะเร่งด่วน และ ระยะยาว โดยระยะเร่งด่วน เน้นมาตรการกระจายผลผลิตออกนอกแหล่งผลิตที่สำคัญ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการเชื่อมโยงตลาดซื้อขายผลผลิตหอมหัวใหญ่ล่วงหน้าระหว่างกลุ่มเกษตรกรที่เป็นแหล่งผลิตที่สำคัญกับผู้รวบรวมผู้คัดคุณภาพผลผลิต ส่งจำหน่ายให้กับห้างส่งค้าปลีกขนาดใหญ่ และโรงงานแปรรูป รวมทั้งมาตรการปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ การดำเนินการตรวจสอบสต๊อกสินค้าของผู้ประกอบการและผู้นำเข้าเพื่อป้องกันการกักตุนเพื่อเก็งกำไร ระยะยาว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนการปลูกให้สอดคล้องกับตลาดรองรับ เพื่อลดผลผลิตกระจุกตัว บริหารผลผลิตตามพื้นที่การปลูกให้มีการเหลื่อมเวลาปลูก นอกจากนี้ ยังมีมาตรการที่เกี่ยวข้องกับด้านการเงิน โดย ธกส. จะพิจารณาดำเนินโครงการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่เกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรมีเงินทุนหมุนเวียนใช้ในการชะลอการจำหน่ายผลผลิตในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ ในทุกมาตรการ สศก. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการฯ จะได้ติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินการอย่างเคร่งครัด เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายต่อไป
ด้านนางกาญจนา แดงรุ่งโรจน์ รองเลขาธิการ สศก. กล่าวว่า สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีแหล่งผลิตสำคัญอยู่ที่ อำเภอแม่วาง และ อำเภอฝาง ระหว่างวันที่ 23 - 24 กุมภาพันธ์ 2565 พบว่า ทั้งสองอำเภอมีพื้นที่ปลูกและผลผลิตลดลง เนื่องจากในช่วงเพาะต้นกล้า ได้เกิดฝนตกติดต่อกันหลายวัน ส่งผลให้ต้นกล้าได้รับความเสียหายไปบางส่วน ประกอบกับสภาพอากาศที่แปรปรวน อากาศหนาวเย็นไม่ยาวนานส่งผลต่อคุณภาพของหอมหัวใหญ่
สำหรับผลผลิตและราคาที่เกษตรกรขายได้ พบว่า อำเภอแม่วาง ณ สิ้นเดือนมีนาคม จะเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วเสร็จทั้งหมด เกษตรกรที่มีผลผลิตอยู่ในเกณฑ์ดี จะมีพ่อค้าในท้องถิ่นมารับซื้อผลผลิตแบบเหมาสวน โดยให้ราคา ไร่ละ 42,000 - 45,000 บาท โดยราคาหอมหัวใหญ่ที่เกษตรกรขายได้ (ณ 10 มีนาคม 2565) เบอร์ 0 , 1 เฉลี่ยที่กิโลกรัมละ 11 บาท อำเภอฝาง เกษตรกรเริ่มทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิตไปบางส่วนประมาณร้อยละ 40 โดยคาดว่าจะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จทั้งหมดภายในต้นเดือนเมษายน ราคาหอมหัวใหญ่ที่เกษตรกรขายได้ (10 มีนาคม 2565) เบอร์ 0 , 1 อยู่ที่กิโลกรัมละ 12 บาท
ทั้งนี้ ผลผลิตหอมหัวใหญ่ของ อ.แม่วาง ถือเป็นแหล่งผลิตสำคัญที่ส่งออกไปต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่น
ที่เป็นตลาดส่งออกหลัก ซึ่งในช่วงเดือนมกราคม 2565 ไทยส่งออกหอมหัวใหญ่ไปญี่ปุ่นแล้ว ปริมาณ 121,913 กิโลกรัม
มูลค่า 3.38 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ที่ส่งออกปริมาณ 92,069 กิโลกรัม (เพิ่มขึ้นร้อยละ 32)
มูลค่า 2.42 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 40)