การพัฒนาเศรษฐกิจไทยยุคดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก EEC นั้น มีความต้องการทักษะแรงงานสมรรถนะสูงที่จะรองรับอุตสาหกรรมใหม่ ไม่ว่าจะเป็น อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร เป็นต้น ล่าสุด คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผนึกความร่วมมือกับ สำนักพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรอาชีวศึกษา (สสอ) ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา พร้อมด้วยภาคเอกชน ขับเคลื่อน 'โครงการพัฒนาระบบนิเวศน์ในการผลิตช่างเครื่องมือกลการผลิตความแม่นยำสูง และวิศวกรรมการผลิตยุคดิจิทัลเพื่อรองรับพื้นที่ EEC' ตั้งเป้าหมาย 350 คน ในระยะเวลา 2 ปี
รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่าง ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ ร่วมกับ สำนักพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรอาชีวศึกษา (สสอ) ขับเคลื่อนจัดโครงการพัฒนาระบบนิเวศน์ในการผลิตช่างเครื่องมือกลการผลิตความแม่นยำสูง และวิศวกรรมการผลิตยุคดิจิทัลเพื่อรองรับพื้นที่ EEC โดยดำเนินการฝึกอบรมครูช่างกลโรงงานและสาขาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง 3 ระดับ เป้าหมายรวมจำนวน 350 คน เริ่มกลุ่มแรกนำร่อง 45 คน ในกรุงเทพฯ ในวันที่ 21 - 25 มีนาคม, 4 - 9 เมษายน และ 25 - 29 เมษายน 2565 ส่วนแผนในอนาคตจะขยายไปจัดในภูมิภาคที่มีฐานอุตสาหกรรม เช่น จังหวัดชลบุรี นครราชสีมา อุบลราชธานี ขอนแก่น เป็นต้น วัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มศักยภาพให้ครูอาชีวะช่างกลโรงงานและสาขาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ได้เข้าร่วมอบรมและสำเร็จในระดับทักษะที่สูงสุด คือระดับ 3 เพื่อนำความรู้ไปถ่ายทอดแก่นักศึกษา ตอบโจทย์การผลิตช่างเครื่องมือกลที่มีทักษะมุ่งเป้าสู่การผลิตความแม่นยำสูง (Ultra-High Precision Mechanist) และเตรียมการปรับปรุงหลักสูตรของช่างกลโรงงานของประเทศไทยในอนาคต ซึ่งจะเป็นทักษะที่ตรงความต้องการของตลาดแรงงานในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) พร้อมไปกับเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยต่อไป
ดร.สุรพงษ์ เอิมอุทัย ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรอาชีวะ กล่าวว่า โครงการนำร่องฯ นี้จะเป็นการศึกษาวิจัยการเติบโตทางทักษะจากการเรียนรู้ในเทคโนโลยีการผลิตที่ผสมผสานระหว่างระบบอัตโนมัติและทักษะการผลิตแม่นยำสูง เพื่อให้ผู้เข้าฝึกสัมฤทธิ์ผลตามเกณฑ์ที่คาดหวัง การอบรมจึงมุ่งเน้นการอบรมเชิงปฏิบัติการบนทักษะที่จำเป็น โดยใช้หลักการเรียนรู้แบบทักษะพิสัย (Psychomotor Domain) และใช้การประเมินด้วยแบบทดสอบที่พัฒนาร่วมกับภาคเอกชน เพื่อให้การประเมินมาจากการมีส่วนร่วมและเป็นความต้องการจริงจากภาคเอกชนที่จะนำช่างผู้เชี่ยวชาญไปใช้งานได้ เช่น ทักษะช่างผลิตเครื่องมือกลซีเอ็นซี วิทยาการหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติในอุตสาหกรรม ทำให้ทีมงานวิจัยมีความเข้าใจถึงการลดช่องว่างในตลาดแรงงาน ระหว่าง Supply ที่มีข้อจำกัดของความพร้อมทางเทคโนโลยี และ Demand ที่ต้องการทักษะบนเทคโนโลยีอัตโนมัติความแม่นยำสูง
ดร.เอกชัย วารินศิริรักษ์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ด้วยทุนสนับสนุนจากสถาบันอุดมศึกษาการวิจัยและสร้างนวัตกรรม หลักสูตรอบรมนี้มุ่งเน้นเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมในยุค Industry 4.0 และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในหมวดทักษะต่างๆ มากขึ้น โดยอบรม 4 หมวดวิชา ดังนี้ 1. ช่างเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ช่วยในการออกแบบและผลิต 2. ช่างเทคโนโลยีหุ่นยนต์อุตสาหกรรม 3. ช่างงานวัดละเอียดและควบคุมคุณภาพ 4. ช่างเทคโนโลยีซีเอนซี (Computer Numerical Control) เครื่องจักรกลแบบอัตโนมัติที่มีการทำงานด้วยระบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์
ในการฝึกทักษะเทคโนโลยีอย่างก้าวหน้าทันสมัยได้รับความร่วมมือจากภาคอุตสาหกรรมชั้นนำ เช่น เทคนิคการใช้ซอฟท์แวร์ CAD/CAM/CAE เพื่อสร้างต้นแบบชิ้นส่วนระดับอุตสาหกรรม และงานวิศวกรรมย้อนกลับ (Reverse Engineering) ทักษะด้านหุ่นยนต์ช่วยทำงาน ทักษะเทคโนโลยีเครื่องมือตัดคุณภาพสูง (Cutting Tool) ขณะเดียวกันยังคงรักษาการฝึกทักษะที่ให้ความแม่นยำในการผลิตชิ้นส่วนซึ่งอยู่ในมาตรฐานอุตสาหกรรมด้วย ครูที่ผ่านฝึกอบรมสามารถถ่ายทอดเผยแพร่แก่นักเรียนช่างอาชีวะทั่วประเทศ ให้มีความรู้และทักษะเป็นที่คาดหวังในอุตสาหกรรมการผลิตปัจจุบันและอนาคต
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit