กรมสุขภาพจิต ร่วมกับสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย และเครือข่ายพันธมิตร รวมพลังสนับสนุนผู้ป่วยไบโพลาร์ให้เข้าถึงการรักษาอย่างยั่งยืน ในงาน World Bipolar Day 2022

31 Mar 2022

จากข้อมูลองค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่าประมาณ 5% ของประชากรโลกป่วยเป็นโรคไบโพลาร์ ขณะที่มีผู้ป่วยเพียง 1-2% เท่านั้นที่ได้รับการวินิจฉัย ซึ่งอายุเฉลี่ยของการเกิดโรคไบโพลาร์ คือ อายุ 20 ปี โดยอัตราความชุกของโรคไบโพลาร์ มักจะเกิดขึ้นในผู้หญิงที่ 3.3% ซึ่งมากกว่าในผู้ชายที่ 2.6% นับเป็นตัวเลขที่ไม่น้อย ขณะที่ทั่วโลกยังอยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้วิถีการดำเนินชีวิตและสุขภาพจิตของหลายคนได้รับผลกระทบ หลายคนต้องเผชิญกับความเครียดในระดับที่สูงขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคไบโพลาร์ รวมถึงโรคทางจิตเวชอื่นๆ ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการกำเริบของโรคได้ จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่สังคมไทยควรต้องตระหนักรู้ถึงโรคไบโพลาร์ เพื่อให้ครอบครัวและคนใกล้ชิดเกิดความเข้าใจอาการและพฤติกรรมของโรคสนับสนุนให้บุคคลอันเป็นที่รักเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่ระยะแรกๆ ซึ่งเป็นหัวใจหลักที่ทำให้โรคไบโพลาร์สามารถรักษาหายได้

กรมสุขภาพจิต ร่วมกับสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย และเครือข่ายพันธมิตร รวมพลังสนับสนุนผู้ป่วยไบโพลาร์ให้เข้าถึงการรักษาอย่างยั่งยืน ในงาน World Bipolar Day 2022

โดยทุกวันที่ 30 มีนาคมของทุกปี ตรงกับ 'วันไบโพลาร์โลก' กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดกิจกรรมกระตุ้นให้สังคมไทยตระหนักถึงโรคไบโพลาร์มาอย่างต่อเนื่อง ในปี 2565 นี้ กรมสุขภาพจิต ร่วมกับสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สนับสนุนโดย ซาโนฟี่ ประเทศไทย ได้จัดงาน World Bipolar Day 2022 เปิดใจให้ไบโพลาร์ ปี 2 ภายใต้คอนเซ็ปต์ 'ใกล้ไกล ไบโพลาร์อุ่นใจ ด้วยจิตเวชทางไกล' โดยมีแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ จิตแพทย์ และตัวแทนผู้ป่วยไบโพลาร์ 'ดีเจเคนโด้' ร่วมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ตรง เพื่อสร้างการรับรู้ในวงกว้าง ให้สังคมเข้าใจถึงพฤติกรรมผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ เกิดทัศนคติที่ดี ไม่แบ่งแยกผู้ป่วยออกจากสังคม และสนับสนุนให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข ซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยได้รับเกียรติจาก ดร. สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีเปิด

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวแสดงวิสัยทัศน์ผ่านวิดีทัศน์ที่จัดทำขึ้นเป็นพิเศษสำหรับงานนี้ว่า "กระทรวงสาธารณสุขได้ตระหนักถึงการรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคไบโพลาร์ รวมถึงโรคทางจิตเวชอื่นๆ เพื่อให้สังคมเข้าใจและเปิดใจยอมรับเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข นอกจากนี้ ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้ป่วยไม่สะดวกในการเดินทางมาพบแพทย์เพื่อติดตามผลการรักษาได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบต่อครอบครัวผู้ป่วยด้วย กระทรวงสาธารณสุขจึงได้มีนโยบายสนับสนุนหน่วยบริการด้านสุขภาพจิต โดยมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาบริการให้มีความก้าวหน้าทันสมัย สามารถให้บริการจิตเวชทางไกลได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อผู้ป่วยไบโพลาร์ เพื่อได้รับการบำบัดรักษาอย่างต่อเนื่อง และฟื้นฟูกลับมาเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติต่อไป"

พญ. อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์ของโรคไบโพลาร์ในประเทศไทย ในปี 2564 พบว่ามีผู้ป่วยจำนวน 38,681 คนที่เข้าถึงการรักษา ซึ่งลดลงจากปี 2563 ถึง 3% สะท้อนให้เห็นว่าผู้ป่วยจำนวนหนึ่งไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้ หรืออาจได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่ง 'โรคไบโพลาร์' เป็นหนึ่งในโรคทางอารมณ์ที่หากไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลต่อการใช้ชีวิตของผู้ป่วยอย่างมาก ทำให้ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีปัญหาความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด รวมไปถึงการทำร้ายตัวเองและปัญหาการฆ่าตัวตาย โดยในช่วงการระบาดโควิด-19 มีผู้ที่กังวลและทำแบบประเมินสุขภาพจิต ผ่าน Mental Health Check พบว่า ช่วงสายพันธุ์เดลต้าระบาด ประมาณเดือนสิงหาคม 2564 มีผู้ป่วยภาวะซึมเศร้าเพิ่มมากขึ้น อาทิ กลุ่มที่ถูกเลิกจ้างงาน กลุ่ม First Jobber ที่เพิ่งจบการศึกษาและหางานทำไม่ได้ กลุ่มที่ติดเชื้อโควิด-19 จนเกิดภาวะเครียด ซึ่งในช่วงปี 2564 จะเห็นได้ว่ามีการเสียชีวิตด้วยการฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้น

ทั้งนี้ กรมสุขภาพจิตได้ดำเนินการเพิ่มศักยภาพในการบำบัดรักษาผู้ป่วยไบโพลาร์ด้วย 'ระบบจิตเวชทางไกล' หรือ 'Telepsychiatry' ซึ่งเป็นการใช้เทคโนโลยีในสถาบันและโรงพยาบาลจิตเวชทั้ง 20 แห่งทั่วประเทศ โดยมีแผนจะขยายบริการในเครือข่ายอื่นๆ ให้ครอบคลุมมากที่สุด สำหรับรูปแบบการให้บริการตรวจรักษาทางไกลนี้ครอบคลุมทุกการรักษาในทุกด้านอันเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วย ประกอบด้วย การให้คำปรึกษาตรวจวินิจฉัยโดยจิตแพทย์ บริการให้คำปรึกษาเรื่องยาจิตเวชทางไกลโดยเภสัชกร บริการให้คำปรึกษาทางสุขภาพจิตและจิตเวช จิตบำบัดทางไกลโดยนักจิตวิทยาคลินิก บริการเยี่ยมบ้านทางไกลและบริการสังคมสงเคราะห์ทางไกลโดยนักสังคมสงเคราะห์ บริการให้การฟื้นฟูสมรรถภาพโดยทีมฟื้นฟูสมรรถภาพ โดยในอนาคตกรมสุขภาพจิตจะดำเนินการพัฒนาระบบบริการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มผู้ป่วยไบโพลาร์อย่างทั่วถึง ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ในฐานะบริษัทชั้นนำด้านสุขภาพระดับโลก คุณมารีน คินยาร์ค สตูยาโนวิช ผู้จัดการใหญ่ ซาโนฟี่ ประเทศไทยและมาเลเซีย กล่าวว่า "ซาโนฟี่ รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งและขอขอบคุณสำหรับโอกาสที่ได้ร่วมสนับสนุนกรมสุขภาพจิต และสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย รวมถึงเครือข่ายพันธมิตร ในการจัดงาน World Bipolar Day 2022 ในครั้งนี้ เพื่อสร้างความรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคไบโพลาร์ และซาโนฟี่พร้อมสนับสนุนการใช้ 'ระบบจิตเวชทางไกล' ที่นับเป็นก้าวสำคัญของวงการแพทย์ ในการรักษาผู้ป่วยไบโพลาร์และผู้ป่วยโรคจิตเวชอื่นๆ เทคโนโลยีดิจิทัลทางการแพทย์ (Digital Health) เป็นเรื่องที่ซาโนฟี่ให้ความสำคัญและขับเคลื่อนมาโดยตลอด เพราะนับเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษา สามารถติดตามผลได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้การดูแลผู้ป่วยทางไกลเกิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบและมีประสิทธิภาพ อีกทั้งเทคโนโลยียังเป็นตัวเร่งที่ทำให้เกิดความเท่าเทียมในระบบการดูแลสุขภาพอีกด้วย ซึ่งสอดคล้องกับความมุ่งมั่นของซาโนฟี่ในการขับเคลื่อนเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างเท่าเทียมและยั่งยืนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น"

สำหรับบทบาทของ สปสช. นพ. จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า "เนื่องด้วยผู้ป่วยโรคไบโพลาร์และผู้ป่วยจิตเวชอื่นๆ เป็นกลุ่มที่เปราะบางที่สุด ต่างจากโรคอื่นๆ ที่จะพยายามเข้ารับการรักษา ขณะที่ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะแยกตัวออกจากสังคมและครอบครัว แต่สิ่งหนึ่งที่เชื่อว่าจะมีบทบาทสำคัญในอนาคต คือ การใช้ระบบการรักษาทางไกล (Telemedicine) หรือทางจิตเวชเรียกว่า Telepsychiatry สำหรับในส่วน สปสช. ซึ่งมีหน้าที่ในการสนับสนุนงบประมาณ กองทุนก็ได้จัดงบประมาณเพิ่มเติมให้หลังจากที่ริเริ่มหน่วยบริการรักษาทางไกลเข้ามา ในส่วนการให้บริการทางไกลของโรคไบโพลาร์นั้น จะให้บริการทั้งกับตัวผู้ป่วยเอง หรือญาติผู้ป่วย ซึ่งอาจจะมีการใช้กลไกทางสังคม เช่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รบสต.) หรือโรงพยาบาลชุมชน เข้ามาผนวกกัน และหากต้องการเบิกจ่ายในส่วนบริการทางไกลให้ง่ายและสะดวกขึ้น สามารถติดต่อได้ที่ สปสช. โดยจะมีทีมลงไปดูแลในส่วนของระบบทางไกลโดยจะผูกเชื่อมต่อกับกลไกทางการเงินที่ สปสช. ได้ให้การสนับสนุน"

ปิดท้ายด้วยโรงพยาบาลนำร่องที่ได้นำบริการรูปแบบ 'ระบบจิตเวชทางไกล' มาปรับใช้กับโรคไบโพลาร์และโรคจิตเวชอื่นๆ เป็นแห่งแรก พญ. มธุรดา สุวรรณโพธิ  ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลศรีธัญญา กล่าวเสริมว่า "ระบบจิตเวชทางไกล (Telepsychiatry) มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ และโรคทางจิตเวชอื่นๆ โดยโรงพยาบาลศรีธัญญา ได้เริ่มดำเนินการเป็นแห่งแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา โดยให้การทำจิตบำบัดผ่านระบบออนไลน์ หลังจากนั้นจึงได้ขยายบริการรูปแบบออนไลน์ไปยังส่วนต่างๆ เพิ่มขึ้น อาทิ บริการจิตเวชทางไกลให้กับนักโทษในเรือนจำ สถานสงเคราะห์ หรือให้บริการยาผ่านทางไปรษณีย์ เป็นต้น โดยในปี 2563 สามารถให้บริการได้ทั้งสิ้น 2,081 ราย ต่อมาในปี 2564 สามารถขยายบริการจิตเวชทางไกลเพิ่มขึ้นเป็น 17,490 ราย และในปี 2565 ได้เริ่มให้บริการกับประชาชนเป็นรายบุคคล จากข้อมูลล่าสุดเดือนกุมภาพันธ์ 2565 โรงพยาบาลศรีธัญญาได้ให้บริการผ่านระบบจิตเวชทางไกล จำนวน 3,717 ราย ซึ่งมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ในปีนี้ โรงพยาบาลศรีธัญญาได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งต่อผู้ป่วยทั้งภายในและภายนอกกระทรวงสาธารณสุขของจังหวัดนนทบุรี โดยอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบการส่งต่อผู้ป่วยจิตเวชฉุกเฉินโดยผ่านระบบออนไลน์ เพื่อเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการให้บริการ และยกระดับการส่งต่อผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงภาคประชาชน ถือเป็นพลังสำคัญที่จะสนับสนุนให้ผู้ป่วยไบโพลาร์ และผู้ป่วยจิตเวชอื่นๆ เข้าถึงการรักษาอย่างถูกวิธี และรอดพ้นจากการตีตราของสังคม คนในสังคมต้องช่วยกันลดการใช้คำที่สะเทือนใจมาหยอกล้อเล่นกันหรือเป็นคำพูดติดปาก เช่น คำว่า 'ไบโพลาร์' หรือ 'โรคจิต' เป็นต้น ในทางกลับกัน สังคมควรเข้าใจผู้ป่วย เนื่องจากโรคไบโพลาร์เป็นความผิดปกติทางอารมณ์ชนิดหนึ่งที่มีการขึ้นและลงของอารมณ์อย่างรุนแรง แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มอาการแมเนีย (Mania) คือ อารมณ์ดี คึกคัก สนุกสนาน และกลุ่มอาการซึมเศร้า (Depress) คือ หดหู่ คิดลบ อยากฆ่าตัวตาย สาเหตุสำคัญเกิดจากสารเคมีในสมองทำงานผิดปกติ ฉะนั้น คนในครอบครัวมีบทบาทสำคัญที่จะพูดในเชิงบวกเพื่อให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์เพื่อรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะ 'โรคไบโพลาร์สามารถรักษาให้หายได้' ด้วยการใช้ยาเป็นหลัก และอาจมีการใช้จิตบำบัดควบคู่กันไปด้วย เพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างปกติสุข

HTML::image(