ม.มหิดล ค้นพบสารสกัดจาก "เห็ดเผาะฝ้าย" มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อไวรัสก่อโรคมือเท้าปาก และเริม เตรียมพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์เพื่อใช้ในประเทศและส่งออก เพื่อช่วยลดการแพร่เชื้อ หรือความรุนแรงของโรค
"เห็ดเผาะ" หรือ "เห็ดถอบ" เป็นเห็ดในวงศ์ Diplosystaceae ดอกอ่อนมีลักษณะกลม เมื่อแก่ดอกจะบานออกลักษณะคล้ายดาว
นอกจากนี้ ในบรรดาเห็ดที่พบในภาคเหนือและภาคอีสาน เห็ดเผาะเป็นที่นิยมและมีราคาสูง ซึ่งพบได้ตามธรรมชาติในภูมิอากาศร้อนชื้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเข้าฤดูฝน
ที่ผ่านมาในประเทศไทย โดยโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ได้ส่งเสริมให้มีการปลูกไม้วงศ์ยาง (ยางนา) เพื่อรักษาความชุ่มชื้น และอุดมสมบูรณ์ของดิน หรือผืนป่า ซึ่งเห็ดเผาะสามารถเจริญเติบโตได้ดีในรากของต้นยางนา และทำให้ต้นยางนาเจริญเติบโตได้ดีด้วย
ตามภูมิปัญญาชาวบ้าน เห็ดเผาะมีสรรพคุณหลากหลาย ได้แก่ ช่วยบำรุงร่างกายให้แข็งแรง ช่วยรักษาอาการช้ำใน ช่วยป้องกันโรควัณโรค ช่วยป้องกันและยับยั้งการเกิดของเซลล์มะเร็งได้ดี เป็นต้น
และจากหลายงานวิจัยพบว่า เห็ดเผาะมีสารสำคัญประกอบด้วย พอลิแซ็กคาไรด์ สารเทอร์พีน สเตียรอยด์ สารประกอบฟีนอลิก และสารประกอบเฮเทอโรไซคลิ ที่มีสรรพคุณในการต้านการอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระ กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ยับยั้งมะเร็ง และฆ่าไวรัสก่อโรค วัณโรค เป็นต้น
โดยเห็ดเผาะที่พบมากตามธรรมชาติในประเทศไทยมีทั้ง "เห็ดเผาะหนัง" ซึ่งมีรสชาติกรุบกรอบ หอม อร่อย นิยมนำมาทำอาหาร และ "เห็ดเผาะฝ้าย" ซึ่งมีลักษณะคล้าย "เห็ดเผาะหนัง" แต่มีรสชาติไม่อร่อย และกลิ่นที่ไม่ชวนรับประทาน ทว่ามากด้วยสรรพคุณทางยาอย่างคาดไม่ถึง จากการค้นพบโดยอาจารย์แพทย์นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดลผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาภูมิคุ้มกันและไวรัสวิทยา พบว่ามีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อไวรัสก่อโรคหลายชนิด ได้แก่ โรคมือเท้าปาก โรคเริม เป็นต้น
อาจารย์ ดร. นายแพทย์บุญรัตน์ ทัศนีย์ไตรเทพ หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการถ่วงดุลทางอิมมูโนโลยี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดเผยถึงความสำเร็จจากการค้นพบสารสำคัญที่มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อไวรัสก่อโรคจาก "เห็ดเผาะฝ้าย" ว่าขณะนี้ได้ร่างเอกสารทางวิชาการ เพื่อตีพิมพ์ผลงานนวัตกรรมดังกล่าวเผยแพร่ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ และอยู่ระหว่างการยื่นจดทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศไทย ดำเนินการโดย สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล
ซึ่งก่อนหน้านี้ได้รับการจดสิทธิบัตรแล้วในสาธารณรัฐประชาชนจีน เตรียมต่อยอดพัฒนาเป็นเภสัชภัณฑ์ป้องกันหรือลดความรุนแรงของโรคมือเท้าปากเป็นครั้งแรกของโลก และคาดว่าจะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ถึงปีละหลายพันล้านบาท
ซึ่งเชื้อไวรัสก่อโรคในคน มี 2 กลุ่มใหญ่ คือ "กลุ่มที่มีเปลือกไขมันห่อหุ้มอนุภาคไวรัส" เช่น เชื้อไวรัสก่อโรคเริม เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ หรือเชื้อเอชไอวี และ "กลุ่มที่ไม่มีเปลือกไขมันห่อหุ้มอนุภาคไวรัส" เช่น เชื้อก่อโรคมือเท้าปาก ซึ่งพบการแพร่ระบาดทุกปี โดยเฉพาะในเด็กเล็ก และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี
โดยอาการที่พบได้บ่อย เช่น แผลในปาก มือ เท้า ไข้ และอาจพบภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงต่อสมอง กล้ามเนื้อหัวใจ หรือปอด ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้ในระยะเวลาอันสั้น
และเมื่อเกิดการระบาดของโรคมือเท้าปากในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก หรือโรงเรียนอนุบาล อาจต้องปิดศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก หรือโรงเรียนอนุบาล เพื่อทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคเป็นอย่างน้อย 1 สัปดาห์ ซึ่งระยะเวลาดังกล่าวเป็นภาระทำให้ผู้ปกครองต้องหยุดงานดูแลเด็กทั้งในรายที่ติดเชื้อ และไม่ได้ติดเชื้อ
เนื่องจากเชื้อไวรัสก่อโรคมือเท้าปากไม่สามารถถูกทำลายด้วยแอลกอฮอล์ได้เหมือนกับเชื้อไวรัสที่มีเปลือกไขมันห่อหุ้มอนุภาคไวรัส เช่น เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ดังนั้นการค้นพบสารสำคัญที่มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อไวรัสก่อโรคจาก "เห็ดเผาะฝ้าย" จะสามารถต่อยอดสู่การพัฒนาเภสัชภัณฑ์ประเภทเจลล้างมือ เจลสำหรับช่องปาก หรือครีมทาแผลที่ติดเชื้อ ซึ่ง
สามารถใช้ป้องกันและลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสได้
นอกจากนี้ จากการศึกษาวิจัยก่อนหน้านี้ยังพบว่าโรคมือเท้าปากสามารถติดต่อได้ในกลุ่มครูและผู้ปกครองโดยไม่แสดงอาการ ที่น่าเป็นห่วง คือ เมื่อครูได้ไปสัมผัสนักเรียนเด็กเล็กที่ติดเชื้อ แล้วไปสัมผัสกับนักเรียนเด็กเล็กที่ไม่ติดเชื้อ อาจทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อเพิ่มขึ้นได้
โดยคณะผู้วิจัยหวังว่าจะสามารถผลักดันให้เกิดการสร้างสรรค์และพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์เจลล้างมือที่มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อไวรัสก่อโรคจาก "เห็ดเผาะฝ้าย"
ซึ่งหากนำเจลล้างมือดังกล่าวที่คิดค้นขึ้นนี้ไปใช้ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก หรือโรงเรียนอนุบาล คาดว่าจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคมือเท้าปากได้
เพื่อโรงเรียนจะได้ไม่ต้องปิดทำการ และเด็กๆ จะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งจะช่วยลดความกังวลให้กับกลุ่มผู้ปกครองได้อีกทางด้วย อีกทั้งจะเป็นการส่งเสริมเกษตรกรให้หันมาเพาะเห็ดเผาะฝ้ายเสริมรายได้ และส่งเสริมเศรษฐกิจไทยกันมากขึ้นได้อีกด้วย .
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit