รศ. ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ชี้ถึงเวลาดึงบทบาทคนรุ่นใหม่ร่วมเปลี่ยนแปลงอนาคตการศึกษาของชาติ แนะผู้ใหญ่ต้องเปิดโอกาสและรับฟังความคิดเห็นของเด็กซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักของระบบการศึกษา รวมถึงโรงเรียนและครูต้องปรับบทบาทไปตามบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว พร้อมย้ำภารกิจปฏิรูปการศึกษาของคณะกรรมการปฏิรูปฯ ก่อนหมดวาระในปีนี้หลังดำเนินงานภายใต้แผน 5 บิ๊กร็อกอย่างต่อเนื่องตลอดเกือบสองปี ทั้งนี้ งานเสวนา "TEP FORUM 2022 ก่อร่างสร้างใหม่ การศึกษาไทยสู่อนาคต" จัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ
รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เปิดเผยภายในงาน "TEP FORUM 2022 ก่อร่างสร้างใหม่ การศึกษาไทยสู่อนาคต" ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาชุดปัจจุบันได้เข้ามามีบทบาทในการกำหนดนโยบาย ปฏิรูปการศึกษา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2563 และได้ดำเนินงานภายใต้แผนกิจกรรม 5 บิ๊กร็อก ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษาตั้งแต่ปฐมวัย เสริมสร้างและพัฒนาระบบผลิตครู ปฏิรูประบบอาชีวศึกษาไปจนถึงอุดมศึกษา และเตรียมรายงานผลสำเร็จที่เกิดขึ้นต่อสาธารณะก่อนหมดวาระในปีนี้ โดยยังพบข้อจำกัดที่สำคัญคือ กรรมการปฏิรูปฯ ไม่มีอำนาจในการเข้าไปแก้ไขถึงรากลึกของปัญหาได้เป็นเพียงผู้ให้คำแนะนำและสนับสนุนหน่วยงานผู้รับผิดชอบ เพราะฉะนั้นการพัฒนาคุณภาพของระบบการศึกษา ไม่ใช่เพียงหน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่ต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจาก ภาครัฐ ภาคสังคม และประชาชน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง
รศ.ดร.วรากรณ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้การเปิดโอกาสให้กับคนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงการศึกษายังเป็นอีกประเด็นสำคัญที่มักถูกมองข้ามไป แม้ว่าในปัจจุบันการกำหนดทิศทางหรือแผนการศึกษาเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบโดยคนรุ่นเก่า แต่ต้องคำนึงถึงเด็กๆ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักจากระบบการศึกษาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จึงไม่มีเหตุผลที่จะไม่ให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการศึกษาของประเทศ เริ่มจากต้องปรับมุมมองของผู้ใหญ่ว่าเด็กมีสิทธิที่จะกำหนดอนาคตของตัวเอง โดยเฉพาะครอบครัวและผู้ปกครองที่ต้องเปิดโอกาสให้บุตรหลานได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็น
เปิดใจรับฟังอย่างเป็นกลาง รวมถึงครูที่มีบทบาทสำคัญต่อกระบวนการคิดของเด็ก
ด้าน นายนครินทร์ วนกิจไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการและบรรณาธิการบริหาร สำนักข่าว THE STANDARD กล่าวว่า ในอดีตข้อมูลข่าวสารและช่องทางสื่อไม่ได้มีให้เลือกเสพได้หลากหลายเหมือนในปัจจุบัน เช่นเดียวกันกับระบบการศึกษา จากที่โรงเรียนและครูมีหน้าที่ป้อนข้อมูลความรู้ให้ผู้เรียน ทำให้ความรู้กระจุกตัวอยู่ที่สถาบันการศึกษา เมื่อความก้าวหน้าของเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามา ทำให้ข้อมูลความรู้ถูกกระจายออกไป โรงเรียนจำเป็นต้องปรับบทบาทไปตามบริบทของโลกและพฤติกรรมของผู้คน จากบทบาทผู้ป้อนความรู้ เป็นการสอนให้ผู้เรียนมีทักษะ "Learn How To Learn" รู้ว่าอยากเรียนรู้ด้วยวิธีการแบบไหน ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญมากท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้โรงเรียนต้องเป็นสนามทดลองให้ผู้เรียนได้ฝึกทักษะกระบวนการคิด ฝึกการอยู่ร่วมกันในสังคมที่มีความหลากหลาย โดยมีครูเป็น "Facilitator" ผู้คอยอำนวยความสะดวกและส่งเสริมการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพที่สุด
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็ดดูเคชั่น เทคโนโลยี จำกัด กล่าวว่า โลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วยิ่งทำให้คนในแต่ละรุ่นมีชุดความคิดที่แตกต่างกัน โดยไม่ได้มีสาเหตุจากช่วงวัยหรืออายุ แต่เป็นเพราะการเติบโตท่ามกล่างบริบทที่แตกต่างตามยุคสมัย สิ่งสำคัญคือการมีมุมมองที่เป็นกลาง และไม่มีอคติต่อคนต่างรุ่น ตนมองว่าปัญหาการศึกษามีอีกประเด็นที่น่ากังวลคือ "Student Belonging" ทำอย่างไรให้การศึกษามีความหมายต่อผู้เรียน เป็นโจทย์ที่โรงเรียนต้องทำให้เด็กนักเรียนรู้สึกว่าไปโรงเรียนแล้วจะได้ฝึกทักษะที่หาไม่ได้จากที่อื่น และนำไปสู่โอกาสในการประสบความสำเร็จในอนาคต
ติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวกิจกรรม ของ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาได้ใน4 ช่องทาง ดังนี้ เว็บไซต์https://www.thaiedreform2022.org เฟซบุ๊กแฟนเพจ https://web.facebook.com/Thaiedreform2022 ยูทูบช่อง 'thaiedreform2022' และทวิตเตอร์ https://twitter.com/Thaiedreform22
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit