ถ้าจะกล่าวถึงจุดเริ่มต้นระบบการศึกษาไทยหรือสยาม ต้องขอย้อนไปในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งมีแต่เด็กผู้ชายเท่านั้นที่ได้รับโอกาสเรียนหนังสือที่วัด แม้ผู้นำบ้านเมืองเริ่มสนใจจะจัดให้มีโรงเรียนเหมือนประเทศที่เจริญแล้วแต่ก็ไม่รู้จะดำเนินการอย่างไรเพราะสมัยนั้นไม่มีใครรู้เรื่องการจัดการศึกษาสมัยใหม่ กระทั่ง ในปี พ.ศ. 2394 คณะมิชชันนารีอเมริกันเพรสไบทีเรียน (American Presbyterian) ได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ให้สามารถซื้อที่ดิน 2 แปลงที่ตำบลกุฎีจีน หลังวัดแจ้ง และตำบลสำเหร่ ต่อมาคณะมิชชันนารีได้ก่อตั้งโรงเรียนแห่งแรกที่ตำบลกุฎีจีนขึ้น โดยมีซินแสกีเฮียง ก๊วยเซียน เป็นผู้สอน และจ้างเด็กมาเรียนวันละ 12 สตางค์ นักเรียนกลุ่มแรกเป็นชาวจีน 8 คน ในปี พ.ศ. 2399 มีนักเรียนคนไทยกลุ่มแรกที่สมัครเข้ามา ในปี พ.ศ. 2405 เมื่อกิจการโรงเรียนเป็นไปได้ด้วยดี จึงย้ายที่ตั้งมาที่ตำบลสำเหร่ และมอบหมายให้ศาสนทูตเอล แมตตูน เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ในขณะนั้นรัฐบาลไทยได้เปิดโรงเรียนของรัฐบาลแห่งแรกเพื่อให้การศึกษาเฉพาะบุคคลชั้นเจ้านายหรือบุตรข้าราชการในราชสำนัก โดยมอบหมายให้ท่านเอส.จี.แมคฟานแลนด์ (คุณพระอาจวิทยาคม) เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ท่านเอส.จี.แมคฟานแลนด์จึงเชิญท่านอาจารย์จอห์น.เอ.เอกิ้น เข้ามาร่วมงาน
ต่อมาในปี พ.ศ. 2431 ท่านอาจารย์จอห์น.เอ.เอกิ้น ลาออกจากตำแหน่งครูรัฐบาล และก่อตั้งโรงเรียนขึ้น ณ ตำบลกุฎีจีน ตั้งชื่อว่าโรงเรียนบางกอกคริสเตียนไฮสกูล (B.C.H) และได้เชิญอาจารย์และแหม่มเจ.บี.ดันแลป พร้อมด้วยน้องสาวของท่านเข้าร่วมงานในโรงเรียนด้วย ในปีนั้น อาจารย์จอห์น.เอ.เอกิ้น และคณะทั้งสามของท่านได้สมัครเข้าสังกัดของคณะเพรสไบธิเรียนแล้ว
ในเวลาเดียวกันท่านศาสนทูตเอส.อาร์เฮ้าส์ ท่านศาสนทูตเจ.เอม.คัลเบริ์ทซัน ท่านศาสนทูตเอน.เจ.แมคโดนัล และท่านศาสนทูตเจ.แวนได๊ก์ ได้เดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านเกิด ณ สหรัฐอเมริกา ทำให้ทางฝ่ายมิชชันนารีขาดผู้บริหารด้านการศึกษาไป ที่ประชุมจึงได้มีมติให้อาจารย์จอห์น.เอ.เอกิ้น เป็นผู้บริหารงานแทน ดังนั้นท่านอาจารย์ต้องบริหารโรงเรียนถึง 2 แห่ง ในเวลาเดียวกัน ทั้งโรงเรียนบางกอกคริสเตียนไฮสกูล ณ ตำบลกุฎีจีน และโรงเรียนของคณะมิชชันนารี ณ ตำบลสำเหร่ จนในที่สุดท่านก็ตัดสินใจยกเลิกกิจการโรงเรียนที่กุฎีจีน แล้วมุ่งหน้าปรับปรุงกิจการโรงเรียนของคณะมิชชันนารีที่สำเหร่
ในปี พ.ศ. 2443 คณะมิชชันนารีมีจุดมุ่งหมายในการขยายกิจการงานศึกษาให้กว้างไกลออกไป จึงได้ก่อตั้งสถาบันการศึกษาขึ้นใหม่ ณ ที่ดินชายฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งกรุงเทพฯ บริเวณถนนประมวล ตำบลสีลม อำเภอบางรัก และตั้งชื่อว่า "บางกอกคริสเตียนไฮสกูล"
ในปี พ.ศ. 2456 คณะกรรมการของคณะมิชชันนารีอเมริกันเพรสไบทีเรียนที่สหรัฐอเมริกา มีมติให้ยกระดับของโรงเรียนไฮสกูล ( High School ) ขึ้นเป็นคอลเลจ (College) ชื่อโรงเรียนจึงได้รับการเปลี่ยนเป็น "กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย" (Bangkok Christian College ) และใช้อักษรย่อว่า B.C.C. ต่อมาในปี พ.ศ. 2463 โรงเรียนได้รับการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการให้มีวิทยฐานะเทียบเท่าโรงเรียนรัฐบาล
ตลอดเวลา 169 ปี ของ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ได้มุ่งผลิตบุคคลากรที่ดีมีคุณภาพให้ประเทศชาติ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยมี ศิษย์เก่าที่ประสบความสำเร็จทำคุณประโยชน์ให้ประเทศชาติและสังคมไทยจำนวนมาก
กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยในปัจจุบัน
โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนฯมีการพัฒนาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพกาล แต่ก็ยังคงไว้ซึ่งความเป็นสถาบันการศึกษาที่มีความโดดเด่นและมีความเป็นผู้นำอย่างชัดเจน ลักษณะอาคารเรียนของบีซีซีปัจจุบันกลายเป็นลักษณะอาคารสูง 16 ชั้น ถึง 3 อาคาร เป็นโรงเรียนแรกที่มีลักษณะอาคารแบบนี้ ภายในอาคารนั้นประกอบไปด้วยสื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัย ดร.ศุภกิจ จิตคล่องทรัพย์ อดีตผู้อำนวยการ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย เปิดเผยว่า หลักสูตรของโรงเรียนนั้นแบ่งออกเป็น 2 โปรแกรมคือ โปรแกรมการเรียนแบบสามัญ (Regular program) และโปรแกรมการเรียนใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อการสอน (English Immersion Program, EIP) ทั้งสองหลักสูตรพัฒนาออกมาเพื่อตอบรับกับสังคมในยุคปัจจุบัน แต่รากปรัชญาของการศึกษายังคงเหมือนเดิม ใช้หลักธรรมแบบคริสตชนเป็นพื้นฐานในการฝึกอบรมคุณธรรมจริยธรรม มุ่งเน้นพัฒนาการด้านสติปัญญาควบคู่กับทักษะความเป็นผู้นำ
ในระดับประถมศึกษานั้น โรงเรียนฯ มุ่งเน้นหลักการเรียนการสอนตามแบบหลักทฤษฎี multiple intelligent เพื่อให้นักเรียนได้เปิดโลกทัศน์การเรียนรู้ให้กว้างและหลากหลาย มุ่งสร้างให้เด็กนักเรียนได้สนุกกับการเรียนรู้ในทุกกลุ่มสาระการเรียน โรงเรียนฯมุ่งพัฒนาทักษะความรู้ที่สำคัญในศตวรรษที่ 21 เช่น มีห้องเรียนที่ใช้ไอแพดเป็นสื่อการเรียนรู้ มีห้องเรียนแมคอินทอชเป็นทางเลือก มีกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อให้เด็กได้พัฒนาทักษะดังได้กล่าวข้างต้น ผู้เรียนจะได้มีโอกาสเรียนรู้กับผู้สอนที่ประกอบอาชีพที่อยู่ในสาขาอาชีพมากมายแตกต่างกันไป ทั้งนี้เพื่อผู้เรียนจะได้มีโอกาสสัมผัสจากผู้มีประสบการณ์จริงในอาชีพหรืองานนั้น ๆ นำไปสู่การเกิดแรงบันดาลใจในการพัฒนาตนเองต่อ ๆ ไป
ในระดับมัธยมศึกษานั้น โรงเรียนฯมีการพัฒนาหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้เรียนได้ค้นพบตัวตนอย่างแท้จริง อันจะนำไปสู่การรู้จักตนเองว่าจุดอ่อนจุดแข็งของตนเองนั้นคืออะไร อันจะนำไปสู่การเลือกพัฒนาสติปัญญาความรอบรู้ของตนให้เป็นเลิศในทางที่ตนเองรักและชอบ โรงเรียนฯเปิดโอกาสให้นักเรียนใส่ชุดไปรเวทสัปดาห์ละ 1 วัน ซึ่งพบว่าการอนุญาตดังกล่าวนั้นได้มีส่วนเสริมความมั่นใจตนเอง รวมถึงการกล้าแสดงออก โรงเรียนฯพบว่านักเรียน มีความสุขมากขึ้นกับการมาโรงเรียน สนุกกับการเรียนหนังสือและการทำกิจกรมมากขึ้น หรืออาจกล่าวได้ว่านักเรียนบีซีซีนั้น มีความสุขในการมาเรียนหนังสือเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้โรงเรียนยังได้พัฒนาแผนการสอนของการเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ยกเลิกระบบแผนการเรียนแบบยุคสมัยก่อน ที่มีเพียงสายวิทย์สายศิลป์เพียงเท่านั้น มาเป็นรูปแบบของ Pre-college (เตรียมอุดมศึกษา) ซึ่งเรียกว่า BCC NEXT โดยเป็นรูปแบบการเรียนที่มุ่งเน้นไปเฉพาะทางในสายอาชีพและสายการเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยให้เข้มข้น ตรงตามความต้องการในการพัฒนาตนเองของผู้เรียนมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันบีซีซียังได้ชื่อว่าเป็นโรงเรียนแห่งแรกที่มีการเรียนการสอนในเรื่องของดาวเทียมซึ่งถูกบรรจุอยู่ในหลักสูตรที่เรียกว่า space program หลักสูตรดังกล่าวโดยเริ่มต้นคือการมุ่งพัฒนาให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เกร่ายบวกับเทคโนโลยีทางด้านดาวเทียม บีซีซีได้รับการจารึกไว้อีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ชาติว่าเป็นโณงเรียนแห่งแรกของประเทศไทยและแห่งแรกของภูมภาคอาเซียนที่สร้างดาวเทียมขนาดเล็กและปล่อยสู่วงโคจรของโลกในอวกาศ โดยดาวเทียมลูกนี้มีชื่อว่า BCC SAT1 ดาวเทียมดังกล่าวนั้นได้ถูกบรรจุและลงทะเบียนยอมรับอย่างเป็นทางการเรียบร้อยแล้ว
โรงเรียนกำลังพัฒนาระบบการเรียนแบบออนไลน์ให้รองรับกับสภาพปัจจุบันและอนาคต โดยมีแผนที่จะเพิ่มศักยภาพผู้สอนที่เป็นครูปัจจุบันและเชิญอาจารย์ในระดับมหาวิทยาลัยเพื่อให้นักเรียนได้มีความรู้มากยิ่งขึ้น และอาจมีแผนการเรียนที่การเรียนเป็นลักษณะของเรียนออนไลน์เป็นหลัก (internet base learning) นอกจากนี้โรงเรียนกำลังพัฒนาให้ผู้เรียนได้มีโอกาสเรียนรู้ในสาขาวิชาชีพต่าง ๆ จากสภาพจริงและในสถานที่จริง (internship program) ทั้งในระดับประถมและมัธยมศึกษา
นับตั้งแต่ก่อตั้งในปี พ.ศ.2395 จนถึงปัจจุบัน โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยได้ดำเนินการปรับปรุงและพัฒนากิจกรรมการเรียนการสอนให้เป็นโรงเรียนแห่งความสุข (School of Happiness) สมกับที่เป็นโรงเรียนเอกชนแห่งแรกของประเทศไทย
ชาวบีซีซี ร่วมใจจัดกิจกรรมช่วยสังคมต้านภัยโควิด
เนื่องในวันที่ 30 กันยายน 2564 โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย (B.C.C.) โรงเรียนเอกชนชายแห่งแรกของประเทศไทย จะครบรอบการก่อตั้งโรงเรียน 169 ปี นายประพันธ์ ปุษยไพบูลย์ นายกสมาคมศิษย์เก่ากรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย เปิดเผยว่า เนื่องในวันสำคัญของโรงเรียนอันเป็นที่รักยิ่งของทุกคน ในปีนี้ทางสมาคมศิษย์เก่ากรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ได้ร่วมกับ สมาคมผู้ปกครองและครู โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย รวมทั้งคณะครูและนักเรียน ได้ร่วมกันจัดโครงการ "B.C.C. ครบรอบ 169 ปี ร่วมใจช่วยเหลือสังคม ต้านภัยโควิด" ในช่วง 30 กย. - 4 ธค.นี้ เพื่อมอบเงิน อาหารและสิ่งของทางการแพทย์ต่างๆ ให้แก่บุคคลากรทางการแพทย์สู้ภัยโควิด 19 ในโรงพยาบาลต่างๆ อาทิ รพ.ราชวิถี รพ.รามาธิบดี รพ.จุฬาลงกรณ์ เป็นต้น รวมทั้งการบริจาคเงินสมทบทุนมูลนิธิเทพรัตนเวชชานุกูล เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของ รพ.ชุมชนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จำนวน 11 แห่ง ขอเชิญศิษย์เก่าทุกคนและผู้มีจิตศัทราร่วมบริจาคได้ที่ ธ.กรุงไทยฯ เลขที่บัญชี 660-9-55548-6 ชื่อบัญชี กิจกรรม B.C.C. ครบรอบ 169 ปี ร่วมใจช่วยเหลือสังคมต้านภัยโควิด
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit