"เอ็นไอเอ" เตรียมหนุน 3 นวัตกรรมปราบคอร์รัปชั่นฝีมือคนนิวเจน พร้อมเร่งปลุกพลังนวัตกรเลือดใหม่ ร่วมสรรค์สร้างอนาคตของประเทศ

06 Oct 2021

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมมือกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) สนับสนุนการประกวดนวัตกรรมลดการทุจริตและคอร์รัปชั่น "ACTkathon: Anti-Corruption Virtual Hackathon 2021 ภายใต้แนวคิด "พลิกเกมโกงให้อยู่หมัด สร้างไอเดียรัฐเปิดเผย" เพื่อเปิดรับมุมมองการแก้ปัญหาคอร์รัปชันผ่านการสรรค์สร้างนวัตกรรมจากคนรุ่นใหม่ โดยมีนวัตกรรมที่ผ่านการคัดเลือกและเตรียมให้การสนับสนุน ได้แก่ ทีม Corruption Analysis กินยกแก๊ง: แพลตฟอร์มต้านโกง ซึ่งเป็นการใช้บิ๊กดาต้ามาช่วยในการวิเคราะห์การทุจริตในเชิงเครือข่าย ทีมขิงบ้านเรา: รู้จักชุมชนของเราให้ดีกว่าที่เคย แพลตฟอร์มสำหรับตรวจสอบการใช้งบประมาณของท้องถิ่น เพื่อให้สามารถตรวจสอบโครงการจัดซื้อจัดจ้างในพื้นที่ได้ง่ายยิ่งขึ้น และทีม PICA: เรดาร์จับโกง แอปพลิเคชันที่เปิดให้คนทั่วไปสามารถร้องเรียนการทุจริต และแบ่งปันข้อมูลได้ผ่านโซเชียลมีเดีย นอกจากนี้ NIA ยังคงเดินหน้าเปิดรับมุมมองจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ให้เข้ามาร่วมสรรค์สร้างนวัตกรรมในหลากหลายมิติ รวมถึงผลักดันและต่อยอดสู่การเป็นทั้งสตาร์ทอัพ เจ้าของธุรกิจนวัตกรรม และผลักดันสินค้าและบริการทางนวัตกรรมให้สามารถนำไปใช้จริงได้ในเชิงเศรษฐกิจและสังคม

"เอ็นไอเอ" เตรียมหนุน 3 นวัตกรรมปราบคอร์รัปชั่นฝีมือคนนิวเจน พร้อมเร่งปลุกพลังนวัตกรเลือดใหม่ ร่วมสรรค์สร้างอนาคตของประเทศ

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า ปัญหาคอร์รัปชันเป็นปัญหาสำคัญที่เป็นอุปสรรคในการขับเคลื่อนประเทศให้เดินหน้าได้อย่างมั่นคง จึงถือเป็นเรื่องที่ควรสร้างสรรค์โซลูชันหรือนวัตกรรมเพื่อลดการเกิดป้ญหาทุจริตหรือคอร์รัปชันในทุกภาคส่วน รวมถึงช่วยตรวจสอบให้เกิดความโปร่งใส ล่าสุด NIA ได้มีโอกาสร่วมมือกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และหน่วยงานพันธมิตร จัดกิจกรรมการประกวดนวัตกรรมลดการทุจริตและคอร์รัปชั่น "ACTkathon: Anti-Corruption Virtual Hackathon 2021 ภายใต้แนวคิด "พลิกเกมโกงให้อยู่หมัด สร้างไอเดียรัฐเปิดเผย" เพื่อเป็นการเปิดรับมุมมองจากคนรุ่นใหม่เกี่ยวกับการแก้ปัญหา คอร์รัปชัน และผลักดันให้กลุ่มคนเหล่านี้เข้ามาสร้างบรรยากาศในด้านต่าง ๆ ของประเทศไทยให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น สำหรับนวัตกรรมที่ผ่านการคัดเลือก และ NIA เตรียมให้การสนับสนุนเพื่อให้สามารถนำผลงานไปต่อยอดใช้งานได้จริง ได้แก่

  • ทีม Corruption Analysis กินยกแก๊ง: แพลตฟอร์มต้านโกง ผ่านการใช้บิ๊กดาต้าในการวิเคราะห์ปัญหาและเรื่องราวต่าง ๆ โดยทำการวิเคราะห์ข้อมูลผ่านความสัมพันธ์ในเชิงเครือข่าย เช่นความสัมพันธ์ระหว่างนักการเมือง นักธุรกิจ หรือผู้ใกล้ชิด เพื่อค้นหาความจริงจากกรณีการทุจริตที่อาจมีความยุ่งยากในการสืบสวนสอบสวน โดยจะแสดงแนวโน้มการทุจริตทั้งวิธีการจัดซื้อจัดจ้าง การทุจริตเชิงนโยบาย และการทุจริตในกระบวนการประมูล พร้อมแสดงเครือข่ายในกระบวนการตั้งแต่ต้นทาง - ปลายทาง
  • ทีมขิงบ้านเรา: รู้จักชุมชนของเราให้ดีกว่าที่เคย แพลตฟอร์มสำหรับตรวจสอบการใช้งบประมาณของท้องถิ่น โดยจะวิเคราะห์ข้อมูลการใช้งบประมาณโครงการในท้องถิ่น รวบรวมงบประมาณเพื่อให้คนในท้องถิ่นได้รับรู้ว่ามีโครงการอะไรบ้าง เพื่อให้สามารถตรวจสอบโครงการจัดซื้อจัดจ้างในพื้นที่ และรายละเอียดการใช้จ่ายเงินงบประมาณ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับองค์การบริหารในท้องถิ่นที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในประเทศไทย
  • ทีม PICA: เรดาร์จับโกง แอปพลิเคชันที่เปิดให้คนทั่วไปสามารถร้องเรียนการทุจริต หรือโครงการที่มีความน่าสงสัยผ่านเครื่องมือสื่อสาร และส่งข้อมูลเรื่องร้องเรียนได้ทันที รวมถึงสามารถแบ่งปันข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดียเพื่อให้ผู้พบเห็นหรือผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถร่วมตรวจสอบได้ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่มีการร้องเรียนจะมีการบันทึกบนบล็อกเชน รวมถึงมีระบบหลังบ้านซึ่งมี AI และเจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบซ้ำอีกครั้ง

"ทั้ง 3 ทีม ถือว่าเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมเข้ามาตรวจสอบเพื่อลดการเกิดปัญหาทุจริตและคอร์รัปชันได้อย่างน่าสนใจ เรียกได้ว่าเป็นมิติหรือมุมมองใหม่ทางนวัตกรรมที่ประเทศไทยยังไม่ค่อยได้เห็นหรือมีมาก่อน สำหรับในส่วนของ NIA พร้อมให้การสนับสนุนในด้านของเงินทุน เพื่อให้นวัตกรรมเหล่านี้สามารถนำไปต่อยอดใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะการเป็นตัวช่วยลดการทุจริตและคอร์รัปชั่นในกลุ่มหน่วยงานในภาครัฐ การปกครองท้องถิ่น และอื่น ๆ ที่มีภารกิจในด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่ง NIA มีโครงการเพื่อสนับสนุนให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรม และนวัตกรรมเพื่อการยกระดับบริการของภาครัฐ (GovTech) ผ่านกลไกเงินทุนสนับสนุนให้ตั้งแต่ 1.5 ล้านบาท - 5 ล้านบาท"

ดร.พันธุ์อาจ กล่าวเพิ่มเติมว่า การเปิดรับมุมมองจากกลุ่มคนรุ่นใหม่เป็นเรื่องที่ NIA ให้ความสำคัญเป็น อย่างมาก ซึ่งกลุ่มคนรุ่นใหม่มักมีไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ที่สามารถนำไปต่อยอดให้เกิดเป็นเครื่องมือ โซลูชั่น และนวัตกรรมในหลากหลายมิติ ซึ่งที่ผ่านมา NIA ได้มีการทำงานกับกลุ่มคนรุ่นใหม่มาอย่างต่อเนื่อง และได้ร่วมผลักดันและต่อยอดสู่การเป็นทั้งสตาร์ทอัพ เจ้าของธุรกิจนวัตกรรม ตลอดจนผลักดันสินค้าและบริการทางนวัตกรรมให้สามารถนำไปใช้จริงได้กับหลากหลายองค์กร เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติฯ กลุ่มโรงพยาบาลรัฐ - เอกชน องค์การบริหารส่วนปกครองท้องถิ่น ฯลฯ และจะยังคงสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมการพัฒนาประเทศในอนาคต

HTML::image(