ไม่ใช่แค่ภาษาประจำชาติ หรือเป็นภาษาที่คุ้นเคยมาตั้งแต่เยาวัย แต่ "ภาษาไทย" สำหรับ แมน คล้ายสุวรรณ อาจารย์ ประจำกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ในอีกฐานะคือ กรรมการ บริหารสถาบันสุนทรภู่ ผู้ซึ่งเป็น 1 ใน 2 คนที่ได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น "รางวัล 100 ปี ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร" เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ พ.ศ. 2564 : ศาสตร์ ศิลป์ ภาษา เพลาฟ้าหลังฝน จัดโดย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับ กระทรวงวัฒนธรรม ไปหมาดๆ ไม่ใช่แค่เรียนเพื่อไว้ใช้ในการสอบ แต่คือการศึกษา ฝึกฝน เพื่อสร้างโอกาสให้ตนเองและทำความเข้าใจชีวิตคน แนวคิดดังกล่าวยังกลายเป็นปณิธาน ที่ตัวเขาใช้เป็นเมล็ดพันธุ์ทางความคิดปลูกฝัง แก่บรรดาลูกศิษย์จนถึงทุกวันนี้
ส่วนหนึ่งที่ทำให้อาจารย์แมนได้รับรางวัลอันทรงเกียรติ มาจากหัวใจที่รักในภาษาไทยอย่างแท้จริง และยังลงมือลงแรงพัฒนา ต่อยอดภาษาไทยอย่างไม่หยุดยั้ง โดยเฉพาะเมื่อเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรีใน คณะครุศาสตร์ สาขาภาษาไทย ที่ มหาวิทยาลัย ราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (มบส.) อาจารย์แมนก็ได้ทำกิจกรรมด้านภาษาไทยร่วมกับนักศึกษาคนอื่นๆ ไปด้วย ไม่ว่าจะเป็น การเขียนกวีนิพนธ์ การกล่าวสุนทรพจน์ แม้แต่การเขียนเรียงความ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากต้นน้ำ คือ ผศ.ดร.ลินดา เกณฑ์มา อธิการบดี มบส. ผู้บริหารที่เป็นแรงสำคัญผลักดันองค์ความรู้คู่กิจกรรม และยังวางระบบมาสู่กลางน้ำคือคณาจารย์ในคณะและสาขา ที่บูรณาการการเรียนการสอนทั้งศาสตร์ภาษาไทยและศาสตร์วิชาชีพครู เพื่อให้นักศึกษามีอัตลักษณ์สมกับเป็นครูภาษาไทย จนสามารถ คว้ารางวัลระดับประเทศกว่า 50 รางวัล รวมถึงได้รับความไว้วางใจจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ให้เป็นวิทยากรด้านวรรณศิลป์ และวาทศิลป์ นำมาซึ่งรางวัลแห่งความภาคภูมิใจในชีวิตอีกรางวัลคือ นักศึกษารางวัลพระราชทาน ประจำปีการศึกษา 2559 โดยอาจารย์แมนเป็นคนแรกของ มบส. ที่ได้รับรางวัลดังกล่าว และจบการศึกษาด้วยเกียรตินิยมอันดับ 1
กระทั่งได้บรรจุเป็นอาจารย์ประจำกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา รับผิดชอบการจัดการเรียนรู้ในระดับมัธยมศึกษาทั้งในรายวิชาภาษาไทยพื้นฐาน และภาษาไทยเพิ่มเติม ได้แก่ ภาษากับวัฒนธรรม การอ่านและพิจารณาวรรณกรรม การเขียน และการพูดในที่ประชุมชน อาจารย์แมนได้ปรับรูปแบบการจัดการเรียนรู้ภาษาไทยขึ้นใหม่ ให้น่าสนใจและเข้าถึงนักเรียนได้มากขึ้น โดยสังเคราะห์แนวคิด "WAC" ได้แก่ 1.วอร์ม อัพ (Warm Up) คือ การเตรียมผู้เรียนเข้าสู่ บทเรียนด้วยการทักทายไถ่ถามสารทุกข์ เหตุการณ์บ้านเมือง ปัญหาในการเรียนรู้ และเชื่อมโยงเข้าสู่เนื้อหา ในข้อนี้สิ่งสำคัญคือ การเรียนรู้วัฒนธรรมของนักเรียนและปรับตัวให้เข้ากับเด็ก ส่งผลให้นักเรียนกล้าที่จะ "เปิดใจ" ส่วนตัวครูเองก็จะ "เข้าใจ" นักเรียน มากขึ้นด้วย
2.แอคทิวิตี (Activity) การจัดกิจกรรมที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ ผ่านการสังเกตสมาธินักเรียนเป็นระยะ โดยการสอบถามด้วย คำถามปลายเปิดและกระตุ้นความคิด บางครั้งแม้ไม่ได้คำตอบ แต่เชื่อว่าทุกคนได้ขบคิด และพยายามไม่จัดกิจกรรมเชิงวิชาการอย่าง เดียว ทั้งนี้ระหว่างอธิบายเนื้อหาจะสอดแทรกเรื่องราวและประสบการณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับเนื้อหาด้วย ยิ่งเป็นเรื่องร่วมสมัยหรืออยู่ในกระแส หรือทำให้นักเรียนเห็นว่าการสืบสานงานเก่าให้มีความน่าใจในโลกสมัยใหม่ เช่น รังสรรค์งานงานทำนองเสนาะให้ใช้ในงานเพลงแร็ปได้ นักเรียนจะสนใจเป็นพิเศษ และ 3.คูลดาวน์ (Cooldown) คือการสรุปเนื้อหาทั้งหมด และวางแผนร่วมกันเพื่อเตรียมการเรียนในครั้งหน้า ส่วนแบบฝึกทักษะประกอบการเรียนรู้จะเน้นลงมือให้น้อยที่สุดแต่ต้องคิดให้มากที่สุด และคิดเสมอว่า "สื่อการสอนที่ดีที่สุดคือตัว คุณครูเอง" ซึ่งนักเรียนให้ความสนใจ และตอบสนองการสอนด้วยหลัก WAC เป็นอย่างดี
อาจารย์ประจำกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ยังให้แง่คิดด้วยว่า ภาษาไทยนอกจากเรียนเพื่อไปสอบแล้ว องค์ความรู้ ภาษาไทยนั้นสามารถนำไปใช้ประโยชน์และต่อยอดสิ่งต่างๆ ได้อย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นทักษะฟัง พูด อ่าน และเขียน ภาษาไทย มีความสำคัญกับทุกอาชีพเสมอ เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการสื่อสาร ดังนั้นใครก็ตามที่มีความชำนาญในการใช้ภาษาไทยย่อมมีภาษี มากกว่าคนอื่น อันจะเป็นปัจจัยสำคัญสร้างความก้าวหน้าให้ชีวิตของตนเอง และการการเรียนภาษาไทยอย่างถูกต้อง ยังสำคัญสำหรับ นักเรียนในยุคปัจจุบัน ด้วยวัฒนธรรมการใช้ภาษาของผู้รับสารและผู้ส่งสารต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวัย เพศ ค่านิยม อำนาจ ฯลฯ ภาษาไทยนี้เองจะทำให้นักเรียนเข้าใจคนจากการเข้าใจภาษา และการใช้ภาษาไทยเหมาะสม สื่อสารภาษาไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยังสามารถช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ ทั้งในระดับครอบครัวในระดับโรงเรียน สังคม และประเทศชาติด้วย
"รางวัล 100 ปี ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร เป็นรางวัลแห่งความภาคภูมิใจในสายวิชาชีพครู และเป็นเครื่องมือที่ยืนยัน ว่า การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในชั้นเรียนมีประสิทธิภาพ รวมถึงการสร้างสรรค์ผลงานในแวดวงภาษาไทยจนเป็นที่ประจักษ์ในวงกว้าง โดยเฉพาะด้านกวีนิพนธ์" อาจารย์แมน กล่าวด้วยรอยยิ้มพร้อมให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันเขามีผลงานรวมเล่มกวีนิพนธ์ 3 เล่ม ได้แก่ คำสารภาพถึงพ่อขุนรามคำแหง แผ่นดินเดียว และ นับหนึ่งให้ถึงฝัน โดยทั้ง 3 เล่ม ได้รับรางวัลจากการประกวดหนังสือดีเด่น งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ในปี 2560 2562 และ 2564 ตามลำดับ จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และกำลังศึกษาต่อระดับอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาภาษาไทยเพื่อการพัฒนาอาชีพ มหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อนำความรู้ที่เพิ่มพูน มาประยุกต์ใช้สอนนักเรียนในอนาคต
ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น รางวัล 100 ปี ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ พ.ศ. 2564 : ศาสตร์ ศิลป์ ภาษา เพลาฟ้าหลังฝน อีก 1 ท่าน คือ ศ.ดร.คิม ฮง คู อธิการบดีมหาวิทยาลัยปูซานภาษาและกิจการต่างประเทศ สาธารณรัฐเกาหลี
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit