ธนาคารทิสโก้แนะใช้ 'ประกันบำนาญ' วางแผนเกษียณ พร้อมเปิดทริคเลือกให้คุ้มค่า ย้ำควรเน้นประกันบำนาญที่สร้างผลประโยชน์ในขณะดำรงชีวิต (Living Benefit) สูง เพื่อให้มีเงินเพียงพอต่อการใช้ชีวิต ที่มีโอกาสยืนยาวถึง 100 ปี ตามกระแสเมกะเทรนด์ของโลก
นายณัฐกฤติ เหล่าทวีทรัพย์ ผู้อำนวยการอาวุโสที่ปรึกษาการลงทุนทิสโก้เวลธ์ ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) (Mr.Nattakrit Laotaweesap, Head Of Wealth Advisory of TISCO Bank Public Company Limited) เปิดเผยถึงอายุขัยเฉลี่ยประชากรไทยว่า มีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังจากนี้ โดยจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ* พบว่า ปัจจุบันคนไทยมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 75 ปี และจะเพิ่มขึ้นอีกปีละ 4.4 เดือน ประกอบกับการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ทำให้คาดการณ์ว่าคนไทยที่เกิดตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นไป จะมีอายุยืนถึง 100 ปี ซึ่งเป็นไปตามเมกะเทรนด์ของโลกที่หลายประเทศกำลังเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประชากรผู้สูงอายุ
จากประเด็นที่กล่าวมาข้างต้น 'การวางแผนเพื่อการเกษียณ' จึงต้องให้ความสำคัญกับความเพียงพอของรายได้สำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวันที่ยาวนานมากขึ้น ซึ่ง "ประกันบำนาญ" เป็นอีกเครื่องมือทางการเงินหนึ่งที่ผู้วางแผนการเงินเพื่อการเกษียณไม่ควรละเลย เนื่องจากสามารถสร้างรายได้และผลประโยชน์ในขณะดำรงชีวิต (Living Benefit) ที่สม่ำเสมอผลประโยชน์ไม่ผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจเหมือนการลงทุนประเภทอื่น จึงช่วยให้ผู้ซื้อประกันมีหลักประกันชีวิต นำมาซึ่งคุณภาพชีวิตหลังเกษียณที่ดีอีกด้วย นอกจากนี้ ประกันบำนาญยังมอบความคุ้มครองชีวิตกรณีผู้เอาประกันภัยจากไปก่อนวัยอันควร อีกทั้งยังสามารถนำค่าเบี้ยมาลดหย่อนภาษีตามเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนดสูงสุดไม่เกิน 3 แสนบาทต่อปี
นายณัฐกฤติกล่าวอีกว่า สำหรับวิธีการเลือกประกันบำนาญให้เพียงพอและตอบโจทย์การใช้ชีวิตหลังเกษียณนั้นควรเน้นที่มีผลประโยชน์ในขณะดำรงชีวิต (Living Benefit) สูง มากกว่าผลประโยชน์เมื่อเสียชีวิต (Death Benefit) เพราะประโยชน์หลักของประกันบำนาญ คือ เน้นสร้างกระแสเงินสดผ่านเงินบำนาญให้ผู้เอาประกันในขณะมีชีวิตในระดับสูง เช่น เลือกประกันบำนาญที่ให้เงินบำนาญต่อปีประมาณ 24% ของจำนวนเงินเอาประกันภัย เพื่อให้มีเงินรับต่อเดือนหรือต่อปีที่เพียงพอต่อการใช้จ่าย และควรเลือกประกันบำนาญที่จ่ายเงินบำนาญไปจนถึงอายุ 99 ปี เพื่อตอบโจทย์ที่คนไทยมีโอกาสอายุยืนยาวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ควรพิจารณาถึงความมั่นคงทางฐานะการเงินของบริษัทประกันเพื่อเพิ่มความอุ่นใจด้านการรับประกันที่จะเกิดขึ้นหลังเกษียณ และถ้าวางแผนทำประกันบำนาญตั้งแต่อายุยังไม่มาก ค่าเบี้ยประกันต่อปีก็จะไม่สูงเมื่อเทียบกับผู้ที่ซื้อประกันบำนาญช่วงใกล้เกษียณอายุ
สำหรับวิธีคำนวณหาจำนวนเงินเอาประกันภัย (ทุนประกัน) ที่เหมาะสมเพื่อรักษาคุณภาพชีวิตหลังเกษียณอายุให้คล้ายกับตอนทำงานนั้น เบื้องต้นแนะนำให้ท่านประเมินหาค่าใช้จ่ายหลังเกษียณต่อเดือน โดยอัตราที่เหมาะสมควรอยู่ที่ประมาณ 70% ของค่าใช้จ่ายต่อเดือน ณ วันก่อนเกษียณ โดยที่ประมาณ 75% นั้นจะเป็นค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตประจำวัน เช่น ค่าอาหาร ค่าที่อยู่อาศัย ยานพาหนะ ค่ารักษาอาการเจ็บป่วยต่างๆ เป็นต้น ส่วนที่เหลือจะเป็นค่าใช้จ่ายตาม Lifestyle เช่น การท่องเที่ยว การบริจาคทำบุญ และการลงทุนต่างๆ เมื่อประเมินจำนวนเงินที่ต้องใช้หลังเกษียณได้แล้ว ท่านสามารถพิจารณานำประกันบำนาญมาเพิ่มความมั่นคงของการวางแผนเกษียณ นอกเหนือจากสินทรัพย์อื่นๆ ที่ท่านมีตัวอย่างเช่น ปัจจุบันท่านอายุ 40 ปี หากท่านต้องการใช้จ่ายในการดำรงชีวิตประจำวันหลังเกษียณอยู่ที่ประมาณเดือนละ 20,000 บาท หรือปีละ 240,000 บาท คาดว่าจะเกษียณ ณ อายุ 60 ปี และจะมีชีวิตอยู่ถึง 85 ปี ณ วันที่เกษียณอายุต้องเตรียมเงินทุนไว้ 5,338,413 บาท (คำนวณจากอัตราผลตอบแทน ปรับด้วยเงินเฟ้อสุทธิที่ 1%)
แต่หากมีอายุยืนยาวถึง 99 ปี ก่อนเกษียณอายุจะต้องเตรียมเงินทุนไว้ 7,769,319 บาท (คำนวณจากอัตราผลตอบแทน ปรับด้วยเงินเฟ้อสุทธิที่ 1%) ซึ่งเป็นจำนวนเงินไม่น้อยเลยทีเดียว กรณีนี้หากท่านทำประกันบำนาญที่ได้รับเงินบำนาญรายปีอยู่ที่ 24% ของจำนวนเงินเอาประกันภัย และคุ้มครองยาวนานถึง 99 ปี โดยปัจจุบันท่านมีอายุ 40 ปี จะต้องทำประกันบำนาญที่ทุนประกัน 1 ล้านบาท เพื่อหลังเกษียณอายุจะได้รับเงินบำนาญปีละ 240,000 บาท โดยก่อนเกษียณอายุท่านจะชำระค่าเบี้ยประกันต่อปีประมาณ 215,920 บาท และเลือกชำระค่าเบี้ยรายปีทุกปีจนถึงอายุ 60 ปี สุทธิแล้วต้องชำระเงินค่าเบี้ยทั้งสิ้น 4,318,400 ล้านบาท จะเห็นได้ว่าเงินที่ต้องชำระค่าเบี้ยประกันจะน้อยกว่าเตรียมเงินทุนการด้วยตนเองถึง 3,450,919 บาท (คำนวณจาก 7,769,319 - 4,318,400) และยังได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอย่างต่อเนื่องตลอดทุกปีที่ชำระค่าเบี้ยประกันภัยอีกด้วย ทั้งนี้ ผู้ซื้อควรทำความเข้าใจรายละเอียดความคุ้มครองและเงื่อนไข ก่อนตัดสินใจทำประกันภัยทุกครั้ง
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit