ผลสำรวจเผย "โควิด-19" เร่งให้เกิดการปฏิรูปด้านดิจิทัลเฮลท์ในประเทศไทย

15 Oct 2021

งานวิจัยล่าสุดของเมดิกซ์ โกลบอล (Medix Global) ที่จัดทำโดย กันตาร์ (Kantar) เปิดเผยว่า บริการด้านดิจิทัลเฮลท์ และการใช้แอปเพื่อขอคำแนะนำทางการแพทย์และแนวทางการรักษา ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในประเทศไทย สืบเนื่องมาจากความกังวลเกี่ยวกับสุขภาพและข้อจำกัดในการมีระยะห่างทางสังคมจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

ผลสำรวจเผย "โควิด-19" เร่งให้เกิดการปฏิรูปด้านดิจิทัลเฮลท์ในประเทศไทย

84% หรือ 4/5 ของผู้ตอบแบบสำรวจที่เป็นกลุ่มตัวอย่างของประชากรไทย ตอบว่า การแพร่ระบาดของโรคทำให้เห็นถึงประโยชน์ของดิจิทัลเฮลท์แคร์หรือการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยยกระดับบริการทางการแพทย์ และในอนาคตจะใช้แอปดิจิทัลต่าง ๆ เพื่อขอคำแนะนำด้านการดูแลสุขภาพและแนวทางการรักษาต่อไป แสดงให้เห็นความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับ 51% ในกลุ่มนี้ที่เคยใช้แอปเพื่อการดูแลสุขภาพมาแล้ว นอกจากนี้ ความกลัวและข้อจำกัดที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 ส่งผลให้ผู้ตอบแบบสำรวจ 82% ตอบว่าอยากจะขอคำแนะนำทางการแพทย์ผ่านบริการปรึกษาทางไกล

นางซิกัล อัทซ์มอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง เมดิกซ์ โกลบอล กล่าวว่า "คนไทยเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่มีความรอบรู้เรื่องการดูแลสุขภาพอย่างมีคุณภาพ และมีความคาดหวังสูงต่อบริการทางการแพทย์ที่ได้รับ การแพร่ระบาดของโรคครั้งใหญ่ยิ่งตอกย้ำว่า คนทุกคนจำเป็นต้องดูแลสุขภาพของตนเองและครอบครัว และมั่นใจได้ว่าจะได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด ซึ่งคนไทยคุ้นเคยกับเทคโนโลยีเป็นอย่างดีและเปิดรับการนำนวัตกรรมมาใช้อย่างรวดเร็ว ซึ่งรวมถึงสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ ๆ และเทคโนโลยี 5G ที่ครอบคลุมมากขึ้น"

ฟีเจอร์ที่อยากเห็นในดิจิทัลแอปต่าง ๆ
คำตอบที่ได้รับเมื่อสอบถามเกี่ยวกับฟีเจอร์สำคัญในแอปเพื่อการดูแลสุขภาพดิจิทัล ที่ผู้ตอบแบบสอบถามได้ให้คำตอบโดยเรียงลำดับตามความสำคัญ ดังนี้ 1) การวิเคราะห์ผลตรวจเลือดผ่านระบบดิจิทัลและรับคำแนะนำ 2) การอัปโหลด จัดการข้อมูล และการแชร์เวชระเบียนของตนได้ และ 3) การประเมินความเสี่ยงด้านการแพทย์และสุขภาพในระบบดิจิทัลผ่านอัลกอริทึม นอกจากนี้ การสำรวจยังสรุปได้ว่า คนไทยมีความวิตกกังวลด้านสุขภาพเกี่ยวกับโรคหัวใจและหลอดเลือด ปัญหาระบบทางเดินหายใจ และโรคมะเร็งมากที่สุด

เชื่อมั่นในระบบสุขภาพของไทย
ในส่วนที่เกี่ยวกับระบบสุขภาพของประเทศไทยนั้น ผู้ตอบแบบสำรวจ 37% มีความพึงพอใจกับระบบสาธารณสุข ในขณะที่ 66% พึงพอใจกับระบบสุขภาพที่ให้บริการโดยเอกชน โดย 3 อันดับแรกที่คนไทยอยากให้ปรับปรุงให้ดีขึ้น ได้แก่ การเข้าถึงบริการสุขภาพ ค่ารักษาพยาบาล และคุณภาพของระบบการแพทย์ โดย 76% หรือประมาณ 3/4 ของผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวว่า มีความสนใจในบริการจัดการดูแลผู้ป่วยรายบุคคล ในขณะที่ 85% กล่าวว่า จะเพิ่มแผนประกันสุขภาพให้ครอบคลุมโซลูชั่นและการรักษาด้วยเทคโนโลยีล่าสุดที่เกี่ยวกับโรคมะเร็งและการดูแลสุขภาพในระบบดิจิทัล

"ผลการสำรวจนี้ ตอกย้ำว่าแนวทางสหสาขาวิชาชีพของเมดิกซ์ ที่ยกระดับการดูแลสุขภาพให้ก้าวหน้าไปอีกขั้นนั้นเป็นแนวทางที่ถูกต้อง เป็นสิ่งที่คนไทยต้องการ" นางซิกัลกล่าวและเสริมว่า "แนวทางนี้ รวมถึงการเข้าถึงเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญ คำแนะนำและทางเลือกต่าง ๆ เกี่ยวกับการรักษา ศูนย์บริการลูกค้าที่พร้อมให้บริการและดูแลตลอด 24 ชั่วโมง เครือข่ายมืออาชีพที่คอยให้กำลังใจตลอดการรักษา รวมทั้งแพทย์และพยาบาลในพื้นที่ที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลเคสของคุณ และการที่ประเทศมีโครงสร้างพื้นฐานระบบการดูแลสุขภาพที่มั่นคง ก็ทำให้เมดิกซ์สามารถช่วยคนไทยตอบสนองความต้องการเฉพาะด้านของตนได้ โดยมุ่งเน้นที่การดูแลป้องกันการดูแลสุขภาวะ และระบบติดตามสุขภาพที่ดีขึ้น"

ในแง่การมีส่วนร่วมระหว่างผู้เชี่ยวชาญกับผู้ป่วย คนไทย 76% ที่ตอบแบบสำรวจ มีความมั่นใจในข้อมูลที่ได้รับ เข้าใจในเงื่อนไขต่าง ๆ ทางการแพทย์ และเห็นว่าจะช่วยให้ได้การวินิจฉัยที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีความมั่นใจสูงในผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ แต่ 81% ของผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าไม่มีอาการรุนแรง กล่าวว่าอยากจะขอความเห็นที่สองเพิ่ม หากมีอาการรุนแรงมากขึ้น ซึ่งจากกลุ่มคนที่ตอบแบบสำรวจนี้ มี 18% ที่มีอาการป่วยรุนแรง และในกลุ่มผู้ป่วยรุนแรงนี้ มี 88% อยากจะขอคำปรึกษาทางการแพทย์เพิ่มเติมเพื่อให้แน่ใจว่าการวินิจฉัยนั้นถูกต้อง หรือแนวการรักษาที่แนะนำนั้น เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด

การสำรวจ Medix Medical Monitor Research ของเมดิกซ์ โกลบอล โดยกันตาร์ ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยตลาดข้ามชาติชั้นนำ จัดทำขึ้นในระหว่างวันที่ 7 - 25 มิถุนายน 2564 เป็นการสำรวจภาคตัดขวางในกลุ่มชุมชนต่าง ๆ ของไทย ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม อินเดีย และออสเตรเลีย เนื้อหาของการวิจัยครอบคลุมเรื่องความตระหนักรู้และพฤติกรรมของผู้บริโภคเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพ โรคมะเร็ง และความสนใจในบริการดิจิทัลเฮลท์แคร์ ทั้งนี้ เมดิกซ์จะนำผลการสำรวจไปใช้เพื่อทำความเข้าใจกระแสด้านสุขภาพหลัก ๆ ในตลาดเหล่านี้ และเพื่อประเมินความสนใจที่มีต่อบริการหลักของบริษัท

* การศึกษานี้ ทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่างจากคนไทยที่มีภูมิหลังแตกต่างกันในแง่รายได้ อายุ และเพศ โดยมีผู้ตอบแบบสำรวจจาก 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นครราชสีมา เชียงใหม่ ขอนแก่น ภูเก็ต และสงขลา

เกี่ยวกับเมดิกซ์
เมดิกซ์ ก่อตั้งขึ้นในปี 2006 เป็นกิจการชั้นนำที่ให้บริการนวัตกรรมการจัดการทางการแพทย์คุณภาพสูงด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ปัจจุบันมีสำนักงานที่กรุงลอนดอน ฮ่องกง เซี่ยงไฮ้ สิงคโปร์ เทลอาวีฟ จาการ์ตา กัวลาลัมเปอร์ กรุงเทพฯ มุมไบ นิวยอร์ก มิวนิก และเมลเบิร์น มีฐานลูกค้าสมาชิกมากกว่า 7 ล้านคน ในกว่า 90 ประเทศ ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าประกันชีวิตและประกันสุขภาพจากทั่วโลก สถาบันการเงิน องค์กรขนาดใหญ่ และหน่วยงานภาครัฐ และเมดิกซ์ยังให้ความสำคัญกับการให้บริการที่เพิ่มคุณค่าด้านการจัดการดูแลสุขภาพ

ทีมให้บริการทางการแพทย์ของเมดิกซ์ประกอบด้วยแพทย์ประจำ 300 คน พร้อมด้วยพยาบาล ผู้เชี่ยวชาญด้านวิจัย ทีมบริหารทางการแพทย์ เครือข่ายคุณภาพระดับโลกที่ได้รับการรับรองและผู้เชี่ยวชาญกว่า 4,000 คน และโรงพยาบาลชั้นนำ 2,000 แห่ง เมดิกซ์ให้บริการด้วยการนำเสนอโซลูชันที่ช่วยให้ลูกค้าบรรลุผลทางการแพทย์ที่พิสูจน์แล้วว่าดีขึ้น เมดิกซ์ให้บริการจัดการดูแลผู้ป่วยรายบุคคลทั่วโลก (Global Personal Case Management Services) บริการจัดการป้องกันโรค (Disease Prevention Management Services) โซลูชันด้านดิจิทัลเฮลท์ (Digital Health Solutions) บริการฟื้นฟูสุขภาพ (Rehabilitation Services) การดูแลสุขภาพจิต (Mental Health) บริการดูแลสุขภาพที่บ้าน (Home Care Services) รวมถึงบริการด้านกลยุทธ์

การดูแลสุขภาพและบริการกำกับดูแลทางการแพทย์ (Health Strategy and Medical Governance Services) โดยให้บริการแก่บริษัทประกัน กลุ่มสถาบันทางการเงิน องค์กรขนาดใหญ่ และหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ เมดิกซ์ให้ความสำคัญกับคุณค่าที่มีร่วมกัน (shared value) จึงมุ่งส่งเสริมให้คนทั่วโลกได้เข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ พร้อมช่วยลดความแตกต่างในบริการ และช่วยคุมค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง ด้วยความเชื่อที่ว่าการเข้าถึง การรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพและความยั่งยืนนั้น เป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญที่สุดในด้านสิทธิทางสังคม เมดิกซ์จึงให้ความสนใจในประเด็นเหล่านี้เป็นอย่างยิ่ง และมุ่งมั่นในการส่งเสริมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องทั่วโลก