กลุ่มบริษัทจีเอเบิล ในฐานะผู้นำการให้บริการเทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิทัลโซลูชันอย่างครบวงจร ร่วมสนับสนุน สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ติดตั้ง 'NVIDIA DGX A100' ผลักดัน CiRA CORE (ซีร่า คอร์) แพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์ (AI) สัญชาติไทย ยกระดับศักยภาพภาคอุตสาหกรรมของประเทศให้ก้าวทันทัดเทียมระดับโลก
รศ.ดร.ศิริเดช บุญแสง คณบดี คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หนึ่งในหัวเรือสำคัญผู้สร้างแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์ (AI) สัญชาติไทยที่ชื่อว่า CiRA CORE (ซีร่า คอร์) กล่าวว่า "โครงการ CiRA CORE ถูกพัฒนาขึ้นเมื่อปี 2562 เป็นงานวิจัยที่ได้รับความร่วมมือของ 3 สถาบันการศึกษาชั้นนำ คือ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ผนวกความร่วมมือจากพันธมิตรที่เป็นบริษัทเอกชนชั้นนำของประเทศ ซึ่งปัจจุบันนี้ CiRA CORE ได้มีการพัฒนาเสร็จสมบูรณ์และมีการนำมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมเรียบร้อยแล้ว"
ในปัจจุบัน CiRA CORE ถูกนำไปใช้งานอย่างหลากหลาย เช่น นำ AI ไปตรวจสอบคุณภาพของหน้ากากอนามัย การช่วยตรวจสอบตำแหน่งของการเติมปูนในรถบรรทุกในภาคอุตสาหกรรมอย่างโรงงานปูนซีเมนต์ และยังมีการใช้ตรวจเชื้อไวรัสโควิดกลายพันธุ์สนับสนุนการทำงานของทีมแพทย์ในการวิเคราะห์สายพันธุกรรมของไวรัสจากตัวอักษร เพื่อให้สามารถมองภาพรวมแล้วเทียบได้ว่าเป็นไวรัสสายพันธุ์ใด ความแม่นยำสูงถึง 99% โดยในปีนี้มีโอกาสได้รับความร่วมมือจากกลุ่มบริษัทจีเอเบิลที่มีเป้าหมายเดียวกัน ที่อยากเห็นเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมของไทยสามารถใช้งานได้จริงและแข่งขันในระดับนานาประเทศได้ โดยจีเอเบิลเข้ามาช่วยทางเทคนิคหลายด้าน อาทิ เครือข่าย สตอเรจ การออกแบบระบบ ซึ่งต้องสอดรับกับแผนการเติบโตของ CiRA CORE โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จีเอเบิลช่วยในเรื่องการจัดหาเครื่องมือที่ต้องมีพลังการประมวลระดับสูงอย่างซูเปอร์คอมพิวเตอร์ เพื่อนำมาสร้างโมเดล สร้างเซิร์ฟเวอร์ AI นั่นคือการจัดหา NVIDIA DGX A100 ที่สามารถตอบโจทย์ระบบการทำงานของแพลตฟอร์ม CiRA CORE ได้อย่างสมบูรณ์แบบ
ดร. ชัยยุทธ ชุณหะชา กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัทจีเอเบิล กล่าวว่า "จีเอเบิลมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนโครงการ CiRA CORE แพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์ที่เป็นของไทยเอง โดยจีเอเบิลได้เข้ามาช่วยในเรื่องการติดตั้งเครื่อง 'NVIDIA DGX A100' ซึ่งมีประสิทธิภาพ เป็นศูนย์ข้อมูลแบบเร่งความเร็วระดับ 5 Petaflops ซี่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะกับการทำปัญญาประดิษฐ์ สิ่งสำคัญที่ช่วยนักวิจัยในการเร่งสปีดของงานวิจัยและนวัตกรรม ทั้งด้านประสิทธิภาพและลดระยะเวลาในการประมวลผล การที่จีเอเบิลได้มีโอกาสเข้ามาสนับสนุนในครั้งนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้เห็นเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ถูกพัฒนาจากบุคลากรของไทยที่มีความรู้ความสามารถ ในการนำไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่แพ้แพลตฟอร์มจากต่างประเทศ ที่ผ่านการพิสูจน์และได้การยอมรับจากสถาบันการศึกษา ภาคธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรมของไทย"
"สิ่งที่หวังไว้คือ CiRA CORE จะต้องเป็นแพลตฟอร์มที่คนไทยพัฒนาประสบความสำเร็จ และอยู่ในตลาดอย่างต่อเนื่อง และเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถต่อยอดไปได้เรื่อยๆ สามารถออกบริการใหม่ๆ ถึงจะอยู่รอดในโลกของนวัตกรรมได้ นอกจากนี้ การที่ประเทศไทยมีแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์ของคนไทยเอง มีข้อดีในหลายด้าน ยกตัวอย่างเช่น การขยายผลไปสู่เศรษฐกิจสรางสรรค์ ที่เราจะสามารถหารายได้โดยที่ไม่ต้องสูญเสียทรัพยากร โดยการจ่ายเงินราคาแพงเพื่อซื้อแอปพลิเคชันจากต่างชาติมาใช้ ซึ่งจะทำให้เราสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากร หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง และพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยได้" รศ.ดร.ศิริเดช กล่าวเสริม
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit