มรภ.สงขลา สุดเจ๋ง เป็นตัวแทนประเทศไทยส่งคลิปการแสดงซัมเป็งสิละยาลอและสกาปูซิเระ ร่วมโชว์เทศกาลซาปินนานาชาติ ประเทศมาเลเซีย เทียบเชิญ "ผศ.ทัศนียา คัญทะชา" ประธานหลักสูตรนาฏศิลป์และการแสดง ผู้สร้างสรรค์ผลงาน ร่วมเวทีเสวนาซาปินในอดีตและปัจจุบัน 5 ประเทศอาเซียน
ผศ.ทัศนียา คัญทะชา ประธานหลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานาฏศิลป์และการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า มรภ.สงขลา ได้รับเชิญให้ส่งคลิปการแสดงเข้าร่วมในเทศกาลซาปินนานาชาติ ประเทศมาเลเซีย (Main Zapin Aswara 2021) ระหว่างวันที่ 29-31 ตุลาคม 2564 ภายในงานมีการแสดงซาปินจาก 5 ประเทศ คือ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และ บรูไน ในงานเดียวกันนี้ ตนได้รับเชิญให้เข้าร่วมเวทีเสวนาในหัวข้อ ซาปินในอดีตและปัจจุบัน 5 ประเทศอาเซียน ซึ่งในส่วนของประเทศไทยตอนนี้สถาบันการศึกษาที่สอนการเต้นซาปินมี มรภ.สงขลา เพียงแห่งเดียว ที่บรรจุรายวิชาดังกล่าวในหลักสูตรการเรียนการสอน
ผศ.ทัศนียา กล่าวว่า ตนได้ส่งคลิปวิดีโอการแสดงสร้างสรรค์ "ซัมเป็งสิละยาลอและซัมเป็งสกาปูซิเระ" ร่วมเผยแพร่ในระดับนานาชาติ แสดงโดยนักศึกษาสาขาวิชานาฏศิลป์และการแสดง โดยมีตนเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานดังกล่าว ซึ่งการแสดงซัมเป็งสิละยาลอ มีวัตถุประสงค์ในการสร้างสรรค์เพื่อใช้สำหรับการประกวดดนตรีและการแสดงพื้นบ้าน ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พุทธศักราช 2563 "รวมศิลป์แผ่นดินสยาม" ได้แนวคิดมาจากสิละ ศิลปะการต่อสู้ของคณะหนังเต็งสาคอ ตะลุงบันเทิง บ้านสาคอ ตำบลท่าสาป อำเภอเมือง จังหวัดยะลา โดยใช้แนวคิด Creating new folk dances for today's generation มาใช้ในการสร้างสรรค์ผลงาน
กระบวนการสร้างสรรค์ประกอบด้วย 7 ขั้นตอน ได้แก่ 1. ศึกษาท่าเต้นซัมเป็งรูปแบบดั้งเดิม 2. ศึกษาท่าทางของสิละ จากคณะหนังเต็งสาคอ ตะลุงบันเทิง 3. คัดเลือกนักแสดง 4. ออกแบบท่าเต้นและรูปแบบแถว 5. ออกแบบเพลงประกอบการแสดง 6. ออกแบบเครื่องแต่งกาย และ 7. การตรวจสอบคุณภาพผลงานโดยศิลปินพื้นบ้านผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งการสร้างสรรค์ซัมเป็งสิละยาลอ เป็นการเต้นซัมเป็งที่นำเสนอท่าทางของสิละ โดยนำท่าทางของสิลาจำนวน 3 ท่า คือ ท่าไหว้ครู ท่าตูโต๊ะ (ท่าสับคู่ต่อสู้) และ ท่าต่อสู้ด้วยมือเปล่า มาใช้ออกแบบท่าเต้นซัมเป็ง ซึ่งเป็นการบูรณาการศิลปะการแสดงพื้นบ้านภาคใต้ 2 ประเภทเข้าด้วยกัน ใช้เพลงซาปินมานูรุปาดีประกอบการแสดง ใช้นักเต้นชาย-หญิง จำนวน 3 คู่ นักเต้นชายแต่งกายด้วยชุดสะลีแน นักเต้นหญิงแต่งกายด้วยชุดบานง สีสันเสื้อผ้าเป็นโทนสีเหลืองทองผสมม่วง ใช้เวลาในการแสดง 4 นาที ผลการประกวดได้รับรางวัลชนะเลิศ
ส่วนการแสดงซัมเป็งสกาปูซิเระ เวอชั่นปี 2021 (Zapin Sekapur sirih) ตนได้นำซัมเป็งสกาปูซิเระดั้งเดิมที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากครูศิลปินในจังหวัดปัตตานี 2 ท่าน คือ ครูก่อเกียรติ สุขธรานนท์ และ ครูเชาว์ จันทรจิตร มาพัฒนาให้ทันสมัยขึ้น โดยพัฒนาจากเดิมที่ใช้นักเต้น 4 คน เปลี่ยนเป็นใช้ 6 คน สร้างสรรค์รูปแบบแถว พัฒนาเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย และตัดทอนท่าเต้นให้ระยะเวลาการแสดงเหลือเพียง 5 นาที ตามกำหนดของงาน โดยซัมเป็งสกาปูซิเระเวอชั่นปี 2021 Zapin Sekapur sirih ร่วมส่งในนามคณะอัสลีมาลา ซึ่งเป็นคณะรองเง็งที่สนับสนุนการสร้างสรรค์และบรรเลงเพลงประกอบการแสดงให้กับคณะศิลปกรรมศาสตร์
"งานในครั้งนี้จะสำเร็จไม่ได้เลยหากขาด Mr.Hazlami Harun เพื่อนศิลปินในประเทศมาเลเซีย ที่คอยส่งข้อมูลข่าวสาร และ อ.รัชยา วีรการณ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรนาฏศิลป์และการแสดง ผู้ประสานงาน รู้สึกยินดีและภูมิใจที่ได้ร่วมอนุรักษ์สืบสานและรักษาการเต้นซัมเป็งในประเทศไทยมาเป็นระยะเวลา 16 ปี ตั้งแต่ได้รับการถ่ายทอดมาจากครูศิลปินจากปัตตานีทั้ง 2 ท่าน จนวันหนึ่งสามารถพัฒนาและสร้างสรรค์ซัมเป็งให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติได้ จากคำพูดของครูศิลปินที่ฝากไว้ว่า ให้รักษาด้วยอย่าให้สูญหาย ณ วันนี้ถือว่าราชภัฏสงขลาเป็นสถานศึกษาที่เก็บรักษาสมบัติชาติไว้ให้คงอยู่ต่อไป" ผศ.ทัศนียา กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit