นิเทศ นิด้า เผยผลวิจัย คนไทยรับรู้ประโยชน์ สนใจการพัฒนาทักษะด้าน Big Data และ ปัญญาประดิษฐ์ แต่ยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ได้อย่างเพียงพอ

29 Oct 2021

คณะนิเทศ นิด้า ร่วมกับ กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดโครงการ "DATA+AI Powered Communication 2022" ส่งเสริมศักยภาพของบุคลากร รวมทั้งการเตรียมความพร้อมของสังคม พัฒนาทักษะพื้นฐานทางด้านปัญญาประดิษฐ์ (Re-skill/ Up-skill) ทางด้านการสื่อสาร เพื่อเตรียมความพร้อมสู่สังคมที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ข้อมูล (Data) และปัญญาประดิษฐ์ (Artifactual Intelligence -AI) พร้อมนำเสนอผลการวิจัย พบว่า คนไทยตระหนักดีว่า การเข้ามาของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ จะกระทบต่อการประกอบอาชีพ เช่น การทำให้คนสูญเสียงาน หรือได้งานทำ และสนใจที่จะรับการพัฒนาทักษะด้านการวิเคราะห์ข้อมูล (Data) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) แต่ยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ได้อย่างเพียงพอ

นิเทศ นิด้า เผยผลวิจัย คนไทยรับรู้ประโยชน์ สนใจการพัฒนาทักษะด้าน Big Data และ ปัญญาประดิษฐ์ แต่ยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ได้อย่างเพียงพอ

รองศาสตราจารย์ ดร.บุหงา ชัยสุวรรณ คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หัวหน้าโครงการวิจัย "สถานการณ์ แนวโน้มและความต้องการ ความรู้ ทักษะปัญญาประดิษฐ์ทางการสื่อสาร เพื่อเพิ่มศักยภาพการทำงานของบุคลากรวัยทำงานในประเทศไทย" กล่าวถึงการวิจัยครั้งนี้ว่า ดำเนินการด้วยการสำรวจแบบสอบถาม ผ่านระบบออนไลน์ จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,250 คน ส่วนใหญ่มีอาชีพพนักงานริษัทเอกชน รองลงมา คือ นักเรียน/นักศึกษา และอาชีพข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ และส่วนใหญ่มีการศึกษาระดับปริญญาตรี ดังนี้

กลุ่มตัวอย่างมีการรับรู้ประโยชน์ของ AI ในการพัฒนามิติต่าง ๆ

  • ร้อยละ 67.68 รับรู้ว่า ระบบ AI ช่วยพัฒนาการการทำงานของคนในปัจจุบันได้ เช่น การใช้ chat bot, การโฆษณาออนไลน์ หรือ โปรแกรมต่าง ๆ รองลงมาคือ
  • ร้อยละ 61.52 คิดว่า AI ช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลสำหรับองค์กร เช่น วิเคราะห์ความต้องการและพฤติกรรมของลูกค้า
  • ร้อยละ 49.12 รับรู้ว่า AI ช่วยให้คนสร้างอาชีพใหม่หรือธุรกิจใหม่ๆ ได้ เช่น Tech Start-ups / SME/ Digital Business
  • น้อยกว่าร้อยละ 40 รับรู้ว่า ระบบ AI นำมาใช้พัฒนาใน มิติสังคม และสิ่งแวดล้อม ได้ด้วย อาทิ AI ช่วยให้คนมีความเท่าเทียมกันมากขึ้น ในแง่ รายได้ การศึกษา การได้รับบริการด้านสุขภาพ AI ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ลดมลภาวะ ลดการใช้ทรัพยากรบางประเภท AI ช่วยเตือนให้เกิดการรับมือกับภัยธรรมชาติได้แม่นยำรวดเร็วยิ่งขึ้น และ AI สามารถช่วยพัฒนางานภาครัฐได้ เป็นต้น

กลุ่มตัวอย่างยังไม่สามารถที่จะพัฒนาตนเองและสังคมได้ด้วยปัญญาประดิษฐ์
อย่างไรก็ตาม มีกลุ่มตัวอย่างเพียง 1 ในสี่ของกลุ่มตัวอย่าง ที่รับรู้ว่าตนเองสามารถใช้เครื่องมือ AI ในการพัฒนาทักษะความสามารถของตนเอง (ร้อยละ 25.76) ตลอดจนสามารถใช้เครื่องมือ AI ในการพัฒนาองค์กร สังคม สิ่งแวดล้อม ประเทศได้ (ร้อยละ 24.96)

ผลที่ตามมาคือ ทำให้กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 70 ตระหนักว่า AI เป็นสิ่งที่กระทบต่อการปรับตัวในการประกอบอาชีพ เช่น การทำให้คนสูญเสียงาน หรือได้งานทำในอนาคตต่อไป และประเด็นที่สำคัญคือ มีกลุ่มตัวอย่าง เพียงร้อยละ 20.96 ที่เข้าถึงเครื่องมือต่าง ๆ ที่ใช้พัฒนาระบบ AI ได้

การนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ Re-skill/ Up-skill DATA+AI นิเทศปัญญาประดิษฐ์
ทั้งนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.บุหงา ชัยสุวรรณ กล่าวว่า จากผลการวิจัยดังกล่าว จึงได้มุ่งนำผลการวิจัยวิชาการมาต่อยอดขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาทักษะของบุคคลากรวัยทำงานในประเทศไทย ด้วยการจัดอบรมโครงการ "DATA+AI Powered Communication 2022" หวังมุ่งยกระดับ ส่งเสริมศักยภาพ (Re-skill/ Up-skill) การใช้ข้อมูล (Data) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ทางด้านการสื่อสารให้แก่ บุคลากรที่ทำงานด้านการสื่อสาร นิเทศศาสตร์ต่าง ๆ ให้เท่าทันเทคโนโลยี ซึ่งในอนาคตอันใกล้นี้ การใช้ข้อมูล (Data) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะกลายเป็นทักษะพื้นฐานที่จำเป็นในการสื่อสารเหมือนการใช้คอมพิวเตอร์พื้นฐานในการทำงาน อีกทั้ง ปัจจุบันเริ่มมีความต้องการผู้ที่มีทักษะการใช้ข้อมูล (Data) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) จำนวนมากขึ้น ซึ่งผู้ที่ได้รับการจ้างงานก็มักเป็นผู้ที่เรียนเฉพาะด้านที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ ดังนั้นการจัดการอบรมเสริมทักษะให้บุคคลากรทางสายสังคมศาสตร์ นิเทศศาสตร์ ก็จะเป็นการขยายโอกาส และลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีการใช้ข้อมูล (Data) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ให้เกิดความเท่าเทียมกัน นำไปสู่อาชีพที่มั่นคงด้วยทักษะทางเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม

ทั้งนี้ โครงการ "DATA+AI Powered Communication 2022" ดำเนินการภายใต้ศูนย์สร้างสรรค์และนวัตกรรมทางนิเทศศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ โดยงบประมาณสนับสนุนจาก กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

ประกอบไปด้วย การอบรม 2 หลักสูตร รวม 11 วัน 50 รายวิชา 50 วิทยากรผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศ ตลอดเดือนพฤศจิกายน 2564 ผ่านระบบออนไลน์ ดูรายละเอียดโครงการ และสมัครได้ที่ http://gscm.nida.ac.th/th/previews.php?id=405 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย (รับจำนวนจำกัด)

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์สร้างสรรค์นวัตกรรมนิเทศศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ โทร 099-287-4647 หรือ Facebook Page : CIC ศูนย์สร้างสรรค์นวัตกรรมนิเทศศาสตร์ https://www.facebook.com/CICNitadeNida