CGTN: จีนฉลอง 50 ปีสมาชิกยูเอ็น เดินหน้าส่งเสริมสันติภาพ ระบบพหุภาคี และความร่วมมือ

26 Oct 2021

50 ปีที่แล้ว เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม สาธารณรัฐประชาชนจีนได้รับการฟื้นฟูสิทธิอันชอบธรรมในสหประชาชาติ (ยูเอ็น) นับเป็นหลักชัยสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ขององค์การระหว่างประเทศแห่งนี้

ในปีนี้ จีนได้สานต่อบทบาทในยูเอ็นด้วยการให้คำมั่นว่าจะยังคงยึดมั่นในความปรารถนาตั้งแต่แรกเริ่ม แม้ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายตลอดครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา พร้อมกับเรียกร้องให้ทุกฝ่ายพยายามร่วมกันสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันเพื่อมวลมนุษยชาติ

จีนเป็นผู้สร้างสันติภาพในโลก ส่งเสริมการพัฒนาทั่วโลก และรักษาความสงบเรียบร้อยของโลกมาโดยตลอด ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา

5 ทศวรรษอันน่าทึ่ง

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้ทบทวนเส้นทางอันรุ่งโรจน์ร่วมกับยูเอ็น โดยกล่าวว่าการที่จีนได้รับการฟื้นฟูสิทธิอันชอบธรรมในยูเอ็นถือเป็นชัยชนะของประชาชนชาวจีนและของทั่วโลก

เขากล่าวว่า ความสำเร็จดังกล่าวเป็นผลพวงมาจากความพยายามร่วมกันของทุกประเทศที่ยึดมั่นในสันติภาพและยืนหยัดเพื่อความถูกต้อง โดยถือเป็นการนำประชาชนชาวจีนซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 4 ของประชากรโลก กลับสู่เวทียูเอ็น นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับจีนและทั่วโลก

เขากล่าวเสริมว่า ตลอด 50 ปีที่ผ่านมาแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า จีนมีการพัฒนาอย่างสันติและยึดมั่นในสวัสดิภาพของมวลมนุษยชาติ

ในปีนี้ จีนได้รับชัยชนะในการขจัดความยากจนสัมบูรณ์ (absolute poverty) รวมถึงบรรลุเป้าหมายการสร้างสังคมที่มีความเจริญระดับปานกลางในทุกแง่มุม และเริ่มการเดินทางครั้งใหม่เพื่อสร้างประเทศสังคมนิยมที่ทันสมัย

นับตั้งแต่ได้รับการฟื้นฟูสิทธิอันชอบธรรมในยูเอ็นเมื่อปี พ.ศ. 2514 จีนก็มีบทบาทเชิงรุกมากขึ้นในกิจการระหว่างประเทศ  

ยกตัวอย่างเช่น ในฐานะประเทศกำลังพัฒนาขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และ 1 ใน 5 สมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ จีนได้ส่งเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพกว่า 50,000 คนเข้าร่วมปฏิบัติการรักษาสันติภาพของยูเอ็น ปัจจุบัน จีนเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินรายใหญ่อันดับสองของยูเอ็นและของปฏิบัติการรักษาสันติภาพของยูเอ็น

การเดินทางครั้งใหม่เพื่อสร้างโลกที่ดีกว่าเดิม

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เรียกร้องให้ทุกฝ่ายดำเนินรอยตามประวัติศาสตร์ โดยเน้นย้ำความสำคัญของการต่อต้านการใช้อำนาจครอบงำ การเมืองแบบใช้อำนาจบังคับ การกระทำเพียงฝ่ายเดียว และการผูกขาดทุกรูปแบบ

"เราควรเดินหน้าส่งเสริมสันติภาพ การพัฒนา ความเสมอภาค ความยุติธรรม ประชาธิปไตย และเสรีภาพ ซึ่งเป็นค่านิยมพื้นฐานของมนุษยชาติ ตลอดจนทำงานร่วมกันเพื่อวางหลักการที่ถูกต้องในการสร้างโลกที่ดีกว่าเดิม" เขากล่าว

จากนั้นเขาได้เน้นย้ำถึงการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันเพื่อมวลมนุษยชาติ ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์สำคัญของจีนในการร่วมกันรับมือกับความท้าทายทั่วโลกในปัจจุบัน ทั้งนี้ นายสี จิ้นผิง กล่าวว่า ประชาชนทั่วโลกล้วนเป็นส่วนหนึ่งของ "ประชาคมที่มีอนาคตร่วมกัน" เป็นครั้งแรกในการกล่าวสุนทรพจน์ที่กรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2556

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เขาได้แจกแจงว่าการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันเพื่อมวลมนุษยชาติ ไม่ได้หมายความว่าต้องลบล้างระบบหรืออารยธรรมใด "แต่เป็นการที่ประเทศต่าง ๆ ซึ่งมีระบบสังคม แนวคิด ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และระดับการพัฒนาแตกต่างกัน มารวมตัวกันโดยมีผลประโยชน์ สิทธิ และความรับผิดชอบร่วมกันในกิจการทั่วโลก และประสานพลังอันยิ่งใหญ่เพื่อสร้างโลกที่ดีกว่าเดิม"

นอกจากนี้ เขาได้ตอกย้ำถึงความจำเป็นของประโยชน์ร่วมกันและผลลัพธ์ที่ดีต่อทุกฝ่าย โดยระบุว่าการพัฒนาจะมีความหมายก็ต่อเมื่อเป็นไปเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน และจะมีความยั่งยืนก็ต่อเมื่อได้รับแรงผลักดันจากประชาชน

ในแถลงการณ์ผ่านวิดีโอลิงก์ในการอภิปรายทั่วไประหว่างการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ครั้งที่ 76 เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา นายสี จิ้นผิง ได้นำเสนอแผนการพัฒนาโลก (Global Development Initiative) เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาโลกไปสู่การเติบโตที่มีความสมดุล มีการประสานความร่วมมือ และมีความครอบคลุมมากขึ้น ท่ามกลางผลกระทบอันรุนแรงจากสถานการณ์โควิด-19

ในช่วงท้ายของการกล่าวสุนทรพจน์ เขาได้เน้นย้ำถึงบทบาทของยูเอ็น พร้อมกับเรียกร้องให้ทุกประเทศให้ความเคารพยูเอ็น ดูแลครอบครัวยูเอ็นอย่างดี และไม่แสวงหาประโยชน์จากยูเอ็น

"ขอให้เราจับมือกัน ยืนอยู่ข้างประวัติศาสตร์ที่ถูกต้องและยืนอยู่ข้างความก้าวหน้าของมนุษยชาติ ตลอดจนทุ่มเททำงานเพื่อพัฒนาโลกอย่างสันติและยั่งยืน และสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันเพื่อมวลมนุษยชาติ" นายสี จิ้นผิง กล่าว

https://news.cgtn.com/news/2021-10-25/Xi-attends-event-marking-restoration-of-PRC-s-lawful-seat-in-UN-14DOanrXxcs/index.html