นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จากการปฏิรูปภาคการประมงของไทยในยุคปัจจุบันที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำให้เกิดความยั่งยืนโดยชุมชน ควบคู่ไปกับความมั่นคงในการประกอบอาชีพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของพี่น้องเกษตรกรชาวประมง ตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
กรมประมง โดยการขับเคลื่อนของนายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง ได้ผลักดันโครงการต่างๆ ในพื้นที่มากมาย ในทุกมิติ ทั้งด้านการส่งเสริมและการแก้ปัญหาประมง อาทิ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การบริหารทรัพยากรหลังการจับ การพัฒนาแหล่งน้ำ การอนุรักษ์ และการแปรรูปสัตว์น้ำ ฯลฯ ภายใต้การขับเคลื่อนของคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด ซึ่งต้องมีการบูรณาการทำงานร่วมกันในหลายด้านเพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์และเกิดประโยชน์สูงสุดในพื้นที่ภายใต้พระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2560 ด้วยเหตุนี้ กรมประมงจึงมีแนวคิดที่จะส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพให้ "หัวหน้ากลุ่มบริหารจัดการด้านการประมง" ของสำนักงานประมงจังหวัดทั่วประเทศ เข้ามามีบทบาทในการดำเนินงานในระดับพื้นที่ โดยเฉพาะหน้าที่ความรับผิดชอบที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนบริหารจัดการที่รักษาพันธุ์สัตว์น้ำ ตามมาตรา 56 การควบคุมเครื่องมือทำการประมง วิธีการทำประมง พื้นที่ทำการประมง ขนาดของเรือประมง ตามมาตรา 71 และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควบคุม มาตรา 77 แห่งพระราชกำหนดการประมง ซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการประมงจังหวัดที่เชื่อมโยงภายใต้อำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และมาตรา 25 ในการขับเคลื่อนองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นที่ขึ้นทะเบียนแล้วกว่า 2,500 องค์กร เพื่อทำงานร่วมกับประชาชน ชาวประมง ให้เกิดความยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำในทุกจังหวัด
โดยล่าสุด กรมประมง ได้มีการประชุมหารือผ่านระบบ Video Conference ร่วมกับ หัวหน้ากลุ่มบริหารจัดการด้านการประมง 77 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อทำความเข้าใจในบทบาทและภารกิจที่ต้องดำเนินการในพื้นที่ ต่อจากนี้ หัวหน้ากลุ่มบริหารจัดการด้านการประมง จะทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยประมงจังหวัด ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายของกรมประมง (Fisheries Co - ordinator : FC) ของแต่ละพื้นที่ ในการศึกษา วิเคราะห์ วิจัยการบริหารจัดการทรัพยากรประมง เครื่องมือประมง การอนุรักษ์ การแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ตรวจสอบคุณลักษณะของแพปลา ท่าเทียบเรือ ที่รวบรวมสัตว์น้ำ เรือประมงในพื้นที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย จัดทำปรับปรุงระบบฐานข้อมูลทางด้านการประมงเพื่อวางแผนพัฒนาการประมง แผนการแจ้งเตือน และแนวทางการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรชาวประมง รวมถึงเรื่องของการกำกับดูแลการทำประมงในพื้นที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย การจัดเก็บเงินอากร การออกใบอนุญาต และการให้คำปรึกษา แนะนำ สนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรประมง ฯลฯ ทั้งนี้ ล่าสุดได้ร่วมพิจารณาร่าง ประกาศกรมประมง เรื่องหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น พ.ศ….. ฉบับใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทในแต่ละพื้นที่ ที่จะยกระดับไปสู่เครือข่ายองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นระดับจังหวัดเพื่อต่อยอดเป็นองค์กรระดับชาติต่อไป
รองอธิบดี กล่าวในตอนท้ายว่า นับจากนี้ไป งานประมงในพื้นที่ จะเป็นลักษณะเชิงรุก เน้นการเข้าถึงเกษตรกรให้มากที่สุด ภารกิจงานในพื้นที่ทั้งในเรื่องของงานส่งเสริมและงานแก้ไขปัญหาทางการประมง จะสามารถดำเนินการได้อย่างทันท่วงทีอย่างเต็มประสิทธิภาพ เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและสร้างความมั่นใจในการประกอบอาชีพของพี่น้องชาวประมงมากยิ่งขึ้น
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit