ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้แนะจับตาการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เดือน กันยายน ชี้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของทิศทางตลาดหุ้นมาหลายครั้ง รอบนี้คาด Fed ส่งสัญญาณเดินหน้านโยบายการเงินที่เข้มงวด ทั้งเตรียมลดการอัดฉีดสภาพคล่อง และคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย กดดันหุ้นทั่วโลกปรับฐาน
นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (Mr.Komsorn Prakobphol, Head of Economic Strategy Unit, TISCO Economic Strategy Unit : TISCO ESU) เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาตลาดหุ้นทั่วโลกปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยแรงผลักดันจากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย และอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ แต่หลังจากนี้ภาพการลงทุนอาจเปลี่ยนไป หากธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ส่งสัญญาณเดินหน้านโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น และแน่นอนว่าในระยะสั้นหุ้นทั่วโลกจะปรับฐานรับข่าวดังกล่าว
ซึ่งศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์การลงทุนทิสโก้ คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะเริ่มส่งสัญญาณเดินหน้านโยบายการเงินที่เข้มงวดในการประชุมวันที่ 21 -22 กันยายนนี้ โดยจะเปิดเผยคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจ และคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย (Dot Plot) ของปี 2567 เป็นครั้งแรก ซึ่งหาก Fed ส่งสัญญาณลดการอัดฉีดสภพคล่อง (QE) รวมถึงส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยแรงในปี 2567 ต่อเนื่องจากที่เคยส่งสัญญาณว่าจะขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้งในปี 2566 ก็อาจจุดชนวนและเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญซึ่งส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับฐานลงได้
"ที่ผ่านมา Fed มักจะใช้โอกาสการประชุมในเดือนกันยายนในการประกาศนโยบายการเงินที่สำคัญ และเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของทิศทางนโยบายการเงิน เนื่องจาก หลังการประชุมจะมีการเปิดเผยคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจ และดอกเบี้ย (Dot Plot) ของปีถัดไปเป็นครั้งแรก ซึ่งทำให้ตลาดเห็นทิศทางของนโยบายชัดขึ้น อย่างเช่น ในการประชุมปี 2560 ที่ Fed ออกมาประกาศว่าจะเริ่มลดขนาดงบดุลในเดือนถัดไป ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปั่นป่วนไประยะหนึ่ง ดังนั้น ในการประชุมที่จะถึงนี้แนะนำให้ลูกค้า และนักลงทุนติดตามผลการประชุมอย่างใกล้ชิด ทั้งในส่วนการส่งสัญญาณลด QE และคาดการณ์ขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งทั้งหมดจะเป็นปัจจัยสำคัญของการกำหนดทิศทางการลงทุนในอนาคต" นายคมศรกล่าว
สำหรับสาเหตุที่ทำให้ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์การลงทุนทิสโก้ มองว่าการประชุมครั้งนี้ Fed จะเริ่มส่งสัญญาณถึงนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น มาจากปัจจัยสนับสนุน 3 ปัจจัยคือ 1. ความกังวลจากการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลต้าจะผ่อนคลายลง หลังหลายประเทศอนุมัติการฉีดวัคซีนโดสที่ 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน
นายคมศรกล่าวอีกว่า นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นของ Fed จะกดดันตลาดหุ้น โดยเฉพาะตลาดเกิดใหม่ที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังค่อนข้างช้า เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนวัคซีน รวมถึงภาคการผลิตและการส่งออกที่เริ่มชะลอตัวลง หลังการเปิดเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปจากเดิมที่มีการเร่งซื้อสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เป็นจำนวนมากในช่วง Lockdown ไปสู่การใช้จ่ายในภาคบริการมากขึ้น นอกจากนั้นราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เริ่มกลับมาลดลงยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยกดดันตลาดเกิดใหม่อีกด้วย
ในขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ นั้น มองว่ามีโอกาสการปรับขึ้น (Upside) เริ่มจำกัด เนื่องจากมูลค่าหุ้น (Valuation) ที่แพงกว่าตลาดอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด และยังมีความเสี่ยงจากประเด็นการขึ้นภาษีนิติบุคคลที่กำลังเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในสภาและจะเริ่มมีความชัดเจนขึ้นในไตรมาส 4
ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่สนใจลงทุนในช่วงนี้ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์การลงทุนทิสโก้แนะนำให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นยุโรป เพราะ Valuation ยังดูน่าสนใจกว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในขณะที่เศรษฐกิจเริ่มทยอยฟื้นตัวขึ้นจากการคลาย Lockdown ในหลายประเทศ ส่วนด้านนโยบายเศรษฐกิจยังคงผ่อนคลายกว่าในสหรัฐฯ โดยธนาคารกลางยุโรปยังคงย้ำว่าจะยังอัดฉีดสภาพคล่องต่อไปจนถึงปีหน้า ประกอบกับงบกระตุ้นเศรษฐกิจจาก Euro Recovery Fund ที่จะกระจายเข้าสู่ระบบในปีหน้าจะช่วยหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit