ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ (TCELS) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เผยโฉมทีมชนะเลิศคว้ารางวัลสุดยอดหุ่นยนต์ทางการแพทย์ ในโครงการ i-MEDBOT Innovation Contest 2021 ที่จัดขึ้นภายใต้แนวคิด The Next Normal of Healthcare Robotics ซึ่งในปีนี้มีผู้ร่วมส่งผลงานมากกว่า 20 ทีมจากทั่วประเทศ โดยได้จัดงานรอบตัดสินในรูปแบบ Virtual Event ขึ้น เพื่อให้ผู้ผ่านเข้ารอบได้นำเสนอผลงานต่อคณะกรรมการผู้ทรงวุฒิได้คัดเลือกผลงานที่จะคว้ารางวัลใน 2 ประเภท คือ ประเภทหุ่นยนต์และซอฟต์แวร์เพื่อบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข และ ประเภทหุ่นยนต์และซอฟต์แวร์เพื่อรับมือการระบาดของโรคโควิด-19
ดร.ชัยรัตน์ อุทัยพิบูลย์ รองผู้อำนวยการด้านวิชาการและนวัตกรรม ทีเซลส์ กล่าวว่า ทีเซลส์ มีบทบาทสำคัญในการผลักดันอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ในประเทศ ซึ่งมีมูลค่ารวมมากกว่า 1.3 ล้านล้านบาท ให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยครอบคลุมทั้งอุตสาหกรรมการผลิตยา ชีววัตถุ สารสกัดจากสมุนไพรธรรมชาติ เครื่องสำอาง อาหารเสริม เครื่องมือแพทย์และหุ่นยนต์ทางการแพทย์ สำหรับอุตสาหกรรมเครื่องมือและหุ่นยนต์ทางการแพทย์ นั้น มีอัตราการขยายตัวถึง 10% ต่อปี โดยปัจจุบันระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติและ AI Medical ได้ถูกพัฒนาและนำมาใช้งานอย่างเป็นรูปธรรม และมีแนวโน้มเข้ามามีบทบาททั้งต่อ การรักษา การบริการทางการแพทย์ รวมถึงการดูแลผู้สูงอายุ สำหรับโครงการประกวดหุ่นยนต์ทางการแพทย์ i-MEDBOT Innovation Contest ซึ่ง ทีเซลส์ ได้จัดมาอย่างต่อเนื่องนั้น มีเป้าหมายสำคัญเพื่อสนับสนุนผลงานของนวัตกรไทยให้สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยและก้าวสู่การผลิตเชิงพาณิชย์เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ของประเทศ
การประกวดในครั้งนี้ได้แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทหุ่นยนต์และซอฟต์แวร์เพื่อบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข และ ประเภทหุ่นยนต์และซอฟต์แวร์เพื่อรับมือการระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อต่อยอดนวัตกรรมทางการแพทย์ของไทยให้ก้าวสู่ยุค Next Normal อย่างมีศักยภาพ ซึ่งมีผู้สนใจส่งผลงานเข้าประกวดมากกว่า 20 ทีมจากทั่วประเทศ ทั้งวงการแพทย์ สถาบันการศึกษา และหน่วยงานภาคเอกชน โดยได้รับเกียรติจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ รศ.นพ.เชิดชัย นพมณีจำรัสเลิศ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช , คุณอดิศร อาภาสุทธิรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โนวาเมดิค จำกัด และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์และสุขภาพ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, คุณจักร โกศัลยวัตร CEO บริษัท วายอิง จำกัด และนายกสมาคมเฮลท์เทคไทย, ดร.ปวีณา อุทัยนวล CEO บริษัท เอ็มดีอาร์ โซลูชั่นส์ จำกัด และ ดร.มหิศร ว่องผาติ CEO และ Co-founder บริษัท ไฮฟ์กราวนด์ จำกัด ร่วมตัดสินผลงานในรอบชิงชนะเลิศ ทั้งนี้ ทีเซลส์ จะยังคงสนับสนุนทั้งด้านวิชาการ นวัตกรรม เทคโนโลยี และความร่วมมือด้านต่างๆ เพื่อส่งเสริมเพิ่มขีดความสามารถ และช่วยเสริมศักยภาพของนวัตกรไทยอย่างต่อเนื่อง
สำหรับผลการประกวด i-MEDBOT Innovation Contest 2021 ในครั้งนี้ ในประเภทหุ่นยนต์และซอฟต์แวร์เพื่อบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข ผู้คว้ารางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม NEF ระบบเฝ้าระวังและแจ้งเตือนเพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับ และ ผู้ชนะในประเภทหุ่นยนต์และซอฟต์แวร์เพื่อรับมือการระบาดของโรคโควิด-19 ได้แก่ ทีม The Matrix กับผลงาน Matrix UVC disinfection robot ซึ่งผู้ชนะเลิศทั้ง 2 ประเภท จะได้รับโล่พร้อมเงินรางวัล ประเภทละ 150,000 บาท
ดร.ปราการเกียรติ ยังคง จากทีม NEF เจ้าของผลงาน ระบบเฝ้าระวังและแจ้งเตือนเพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับ ผู้คว้ารางวัลชนะเลิศในประเภทหุ่นยนต์และซอฟต์แวร์เพื่อบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข กล่าวว่า NEF เป็นเครื่องมือในการแจ้งเตือนและระวังแผลกดทับสำหรับผู้ป่วยติดเตียง โดยการประยุกต์ใช้ IoT ด้วยการติดเซ็นเซอร์ไว้ใต้ฟูกที่นอนผู้ป่วย เพื่อตรวจจับการเคลื่อนไหว โดยภาพจะปรากฏบนหน้าจอมือถือ แสดงค่าว่า จุดสีแดงคือผู้ป่วยลงน้ำหนักจุดนั้นมากที่สุด และจุดสีน้ำเงินลงน้ำหนักบริเวณนั้นน้อยที่สุด และข้อมูลจากเซ็นเซอร์จะถูกส่งไปยังคลาวด์เพื่อประมวลผล แล้วส่งสัญญาณแจ้งเตือนมาที่โทรศัพท์มือถือ เพื่อเตือนให้ผู้ดูแลพลิกตัวผู้ป่วย ซึ่งนวัตกรรมนี้สามารถดูแลผู้ป่วยได้ 24 ชั่วโมง มีผลที่แม่นยำและเกิดประโยชน์ต่อผู้ป่วยสูงสุด และการซ่อมบำรุงก็ไม่มีปัญหาเพราะติดไว้ใต้ฟูกจึงใช้วิธีแค่เช็ดน้ำยาก็สะอาดเรียบร้อย ซึ่งผลงานนี้เราได้ทำกิจกรรมในเชิงพาณิชย์เป็นที่เรียบร้อย และในอนาคตเราต่อยอดวางแผนจะขยายผลสู่การใช้งานสำหรับการดูแลทารกและกลุ่มคนวัยทำงานเพื่อใช้ในสมาร์ทออฟฟิศต่อไป
ธนาวุฒิ ศรีนิรัตน์ จากทีม The Matrix ผู้รับรางวัลชนะเลิศจากผลงาน Matrix UVC disinfection robot กล่าวถึงผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทหุ่นยนต์และซอฟต์แวร์เพื่อรับมือการระบาดของโรคโควิด-19 ว่า "Matrix UVC disinfection robot เป็นหุ่นยนต์สำหรับฆ่าเชื้อในอากาศโดยใช้รังสี UVC ที่ใช้ความยาวคลื่น 254 นาโนเมตร ผลิตขึ้นภายใต้มาตรฐานของ CE MARK อันเป็นมาตรฐานหลักสากล หุ่นยนต์ทำงานด้วยการตั้งค่า GPS เพื่อเคลื่อนที่ไปยังจุดที่กำหนด และจะปล่อยรังสีออกมาเพื่อกำจัดเชื้อโควิด-19 ได้ใน 64 วินาที และลำแสงจะถูกปิดทันทีหากมีสิ่งมีชีวิตอยู่ในบริเวณที่หุ่นยนต์กำลังทำงาน ซึ่งผลงานนี้ได้ผลิตและจำหน่ายทั้งภายในประเทศและส่งออกไปที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งในอนาคต เราวางแผนในการหาตัวแทนจำหน่าย และใช้โมเดลในการเคลื่อนที่อัตโนมัติของหุ่นยนต์ต่อยอดการผลิตหุ่นยนต์ส่งอาหาร หรือหุ่นยนต์ส่งของต่อไป"
"ผมขอฝากถึงผู้ที่สนใจผลิตนวัตกรรมหุ่นยนต์ทางการแพทย์ว่า ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่า ความต้องการของลูกค้าคืออะไร เช่น แพทย์หรือพยาบาลต้องการสิ่งไหน แล้วนำโซลูชันนั้นไปออบแบบและต่อยอดเพื่อตอบโจทย์ความต้องการเหล่านั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีมาตรฐานที่จะสามารถผลิตออกสู่ตลาดได้" ธนาวุฒิ แนะนำส่งท้าย
ผลการแข่งขันการประกวดหุ่นยนต์ทางการแพทย์ i-MEDBOT Innovation Contest 2021
ประเภทหุ่นยนต์และซอฟต์แวร์เพื่อบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข
ผลงาน ระบบเฝ้าระวังและแจ้งเตือนเพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับ
ผลงาน หุ่นยนต์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Robotic Rehabilitation for Stroke Patients)
ผลงาน CARVER-AMR - Autonomous Mobile Robot System for Hospital Logistics Management
ผลงาน การพัฒนาโปรแกรมและอุปกรณ์ดิจิทัลสำหรับตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์แบบคอมพิวเตอร์วิทัศน์ร่วมกับการวิเคราะห์ข้อมูลทางพันธุกรรมโดยการเรียนรู้ของเครื่อง
ผลงาน Mentalize Analytic Headband with Tracking Application ( MAHTA )
ประเภทหุ่นยนต์และซอฟต์แวร์เพื่อรับมือการระบาดของโรคโควิด-19
ผลงาน Matrix UVC disinfection robot
ผลงาน หุ่นยนต์ส่งอาหารและยาด้วยการควบคุมระยะไกล
ผลงาน Digital Stethoscope Uses Artificial Intelligence (หูฟังทางการแพทย์อัจฉริยะโดยใช้ AI)
ผลงาน Digital Stethoscope Uses Artificial Intelligence (หูฟังทางการแพทย์อัจฉริยะโดยใช้ AI)
ผลงาน Dr.Drone…. Helmet for life ( หมวกวิเศษต่อชีวิต )