ส่อง "ฉลากยา" ใช้ฟ้าทะลายโจรต้านโควิด-19 อย่างปลอดภัย

07 Sep 2021

เภสัช จุฬาฯ แนะผู้บริโภคใส่ใจ "ฉลากยา" เพื่อเลือกและใช้ยาฟ้าทะลายโจรอย่างได้ผลและปลอดภัย พร้อมแนะภาครัฐแก้ไขฉลาก ควบคุมราคายาสมุนไพรที่ช่วยตอบโจทย์วิกฤตโรคระบาดในปัจจุบัน

ส่อง "ฉลากยา" ใช้ฟ้าทะลายโจรต้านโควิด-19 อย่างปลอดภัย

"ฟ้าทะลายโจร" สมุนไพรไทยที่เป็นที่รู้จักมากขึ้นในช่วงวิกฤตโรคโควิด-19 โดยเฉพาะเมื่อกระทรวงสาธารณสุขประกาศบรรจุตัวยาฟ้าทะลายโจรเป็นหนึ่งในยาที่ใช้กับผู้ป่วยโรคโควิด-19 ได้ ก็เกิดกระแสความต้องการสมุนไพรชนิดนี้อย่างมากจนทำให้สินค้าขาดตลาด เรื่องราวข่าวสารเกี่ยวกับฟ้าทะลายโจรก็ออกมาท่วมท้นพื้นที่โซเซียลมีเดีย ทั้งสรรพคุณว่าฟ้าทะลายโจรรักษาโรคโควิดได้ บ้างก็ว่าเพียงบรรเทาอาการ อีกทั้งมีคำเตือนว่าอาจเป็นอันตรายต่อตับ ฯลฯ หลายข้อมูลที่ขัดกัน สร้างความสับสนให้ผู้บริโภค ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการใช้ยาที่ผิดและเกิดโทษได้

คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้เปิดเวทีเสวนา "ฟังให้ชัดกับการใช้ฟ้าทะลายโจร ในสภาวะวิกฤต คุณภาพ ราคา และความปลอดภัย" เพื่อไขข้อข้องใจเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับฟ้าทะลายโจร ให้ประชาชนสามารถดูแลตัวเองได้ถูกต้อง และหากจะรับประทานสมุนไพรก็จะได้เข้าใจและใช้ได้อย่างถูกวิธี โดยมีอาจารย์จากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมเสวนา อาทิ รศ. ภก.ดร.วรสิทธิ์ วงศ์สุทธิเลิศ ผศ.ภญ.ดร.สุนทรี ชัยสัมฤทธิ์โชค และ ผศ.ภก.ดร.บดินทร์ ติวสุวรรณ ร่วมด้วย รศ.ภญ.ดร.มยุรี ตั้งเกียรติกำจาย จากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และตัวแทนผู้บริโภค คุณสารี อ่องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค

ฟ้าทะลายโจร ใช้อย่างไรให้ได้ผลและปลอดภัย

ฟ้าทะลายโจรเป็นพืชสมุนไพรที่อยู่ในตำรับยาไทยโบราณ ใช้ในการรักษาและบรรเทาอาการไข้หวัดทั่วไป โดยในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้มีการอ้างถึงการศึกษา

สารแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) สารออกฤทธิ์สำคัญที่พบในฟ้าทะลายโจร ว่ามีประสิทธิภาพในการยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสและยับยั้งการอักเสบได้ อย่างไรก็ตาม โรคโควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ จึงยังไม่มีงานวิจัยมากพอที่ยืนยันแน่ชัดได้ว่าฟ้าทะลายโจรสามารถป้องกันและรักษาโรคโควิด-19 ได้

ในประเทศไทย หนึ่งในงานวิจัยที่อาจพออ้างอิงถึงประสิทธิผลของฟ้าทะลายโจรได้ คือ การศึกษาการใช้ฟ้าทะลายโจรกับผู้ป่วยโควิด-19 ในเรือนจำกลางกรุงเทพมหานคร โดยนายแพทย์ อเนก มุ่งอ้อมกลาง

รศ.ภญ.ดร.มยุรี ตั้งเกียรติกำจาย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เผยถึงการศึกษาดังกล่าวว่า "ผู้ป่วยโควิด-19 ในเรือนจำ จำนวน 30 คน ได้รับยาผงฟ้าทะลายโจร ซึ่ง 1 แคปซูลมีปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์ 12 มิลลิกรัม ครั้งละ 4 เม็ด วันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 5 วันติดต่อกัน แล้วตรวจหาโควิดแบบ RT-PCR ทุกๆ 2 วัน หลังจากได้ยาฟ้าทะลายโจรไปแล้ว 8 วัน ปรากฎว่า ไม่พบเชื้อโควิดในคนไข้แล้ว"

ผลการศึกษาดังกล่าวระบุให้ใช้ผงฟ้าทะลายโจรที่มีปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์ 144 มิลลิกรัมต่อวัน โดยแบ่งให้วันละ 3 ครั้ง ส่วนข้อมูลจากกรมการแพทย์ ระบุให้ใช้ฟ้าทะลายโจร 180 มิลลิกรัมต่อวัน โดยแบ่งให้วันละ 3 ครั้ง เช่นกัน

"แม้ประเด็นปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์ที่เหมาะสมยังคงเป็นข้อถกเถียง และยังคงต้องมีการศึกษาเพื่อติดตามประสิทธิผลและผลข้างเคียง แต่การใช้ฟ้าทะลายโจรเพื่อบรรเทาอาการที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยโควิด-19 ก็สามารถทำได้" รศ.ภญ.ดร.มยุรี กล่าว

"เบื้องต้นแนะนำให้รับประทานฟ้าทะลายโจรติดต่อกัน 5 วัน หากอาการไม่ดีขึ้นและไม่มีความเสี่ยงเรื่องโรคตับ ก็อาจจะรับประทานต่อได้อีก แต่ก็ไม่ควรเกิน 14 วันต่อเนื่อง ทั้งนี้ควรอยู่ในการดูแลของแพทย์ ที่สำคัญ ห้ามใช้ฟ้าทะลายโจรคู่กับยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) เด็ดขาด" รศ.ภญ.ดร.มยุรี เตือน พร้อมย้ำว่า ไม่ควรบริโภคยาฟ้าทะลายโจรเพื่อผลในการป้องกันโรค หรือขณะที่ยังไม่มีอาการป่วย

"มีการศึกษาพบว่าการใช้ยาฟ้าทะลายโจรในขนาดต่างๆ เป็นระยะเวลานาน ค่าเอนไซม์บางชนิดในตับจะสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดพิษในตับได้"

ดูอย่างไร ยาฟ้าทะลายโจร "ของจริงและได้มาตรฐาน"

ฟ้าทะลายโจรได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นยาสามัญประจำบ้าน จึงสามารถวางจำหน่ายได้ทั่วไปเช่นเดียวกับยาสามัญประจำบ้านชนิดอื่นๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงยาฟ้าทะลายโจรได้อย่างกว้างขวาง แต่เมื่อความต้องการยาสมุนไพรชนิดนี้เพิ่มขึ้น ก็เกิดปัญหายาขาดตลาด ผลิดไม่ทัน เปิดช่องว่างให้ผู้ค้าบางรายฉวยโอกาส ปลอมแปลงฉลาก สวม อย. ผลิตยาที่ต่ำกว่ามาตรฐาน หรือการขายยาฟ้าทะลายโจรเกินราคา

"ฉลากของยาฟ้าทะลายโจรบางยี่ห้อไม่มีการระบุข้อมูลปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์ บางฉลากหรือข้อมูลในแผ่นพับหรือตาม social media มีข้อมูลที่สร้างความเข้าใจผิด อาจเป็นการจงใจหลอกหลวง หรือด้วยความไม่รู้ของผู้ค้า ยิ่งไปกว่านั้น บางยี่ห้อเลี่ยงโดยใช้การขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริม หรือเป็นประเภทอื่นที่ไม่ใช่ยา และมักจะไม่มีสมุนไพรฟ้าทะลายโจรประกอบอยู่" ผศ.ภญ.ดร.สุนทรี ชัยสัมฤทธิ์โชค จากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ เผยปัญหาด้านฉลากยาฟ้าทะลายโจรที่พบในท้องตลาด

"การซื้อยาฟ้าทะลายโจร ผู้บริโภคต้องตรวจสอบฉลากผลิตภัณฑ์เพื่อดูปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์ที่ถูกต้องเหมาะสมกับการบริโภค ที่สำคัญ ให้สังเกตเลขทะเบียน อย. เนื่องจากยาว่าฟ้าทะลายโจรจัดเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร ฉลากต้องมีเลขทะเบียนขึ้นต้นด้วย "G" ผศ.ภญ.ดร.สุนทรี แนะ พร้อมเสริมข้อมูลช่องทางที่ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรที่ไม่ถูกต้องได้จากเว็บไซต์ของสำนักคณะกรรมการอาหารและยา https://www.fda.moph.go.th/

นอกจากผู้บริโภคที่ควรใส่ใจอ่านฉลากแล้ว หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงสาธารณสุข ก็ควรให้ความสำคัญกับ "ฉลาก" เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในการใช้ผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรที่มีคุณภาพและปลอดภัย

"การใช้ยาฟ้าทะลายโจรในปัจจุบันไม่ใช่เพียงแค่เพื่อรักษาอาการไข้หวัดอีกต่อไปแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดต่างๆ ที่ต้องระบุในฉลากยาเพื่อให้ตรงกับความต้องการ เพื่อให้ผู้บริโภคได้ใช้ฟ้าทะลายโจรได้อย่างปลอดภัย เพื่อให้เราสามารถผ่านสถานการณ์วิกฤตไปด้วยกันได้" ผศ.ภญ.ดร.สุนทรี กล่าวทิ้งท้าย

รับฟังย้อนหลัง เสวนา "ฟังให้ชัดกับการใช้ฟ้าทะลายโจร ในสภาวะวิกฤต คุณภาพ ราคา และความปลอดภัย" ได้ทาง https://www.facebook.com/Pharmacy.CU/videos/568836930954422

HTML::image(