การวิจัยเชิงนวัตกรรมโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยซีอานเจียวทง-ลิเวอร์พูล (Xi'an Jiaotong-Liverpool) มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) และมหาวิทยาลัยซิตี้ฮ่องกง (City University of Hong Kong) ให้ความกระจ่างว่า ปัจจัยเสี่ยงต่อการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับความร้อนอาจแตกต่างกันไปตามระดับของเมือง ท้องที่ และชุมชน
Dr. Jinglu Song จาก XJTLU กล่าวว่า กลยุทธ์การลดความร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการวางผังเมืองนั้น มักใช้แนวทางจากบนลงล่าง ซึ่งไม่สามารถจัดการกับเงื่อนไขที่เฉพาะเจาะจงของเมือง ท้องที่ และชุมชนแต่ละแห่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จากการวิเคราะห์ปัจจัยที่นำไปสู่การเสียชีวิตจากความร้อน โดยพิจารณาตามขนาดในเชิงพื้นที่ (Spatial Scale) ที่แตกต่างกัน พบว่า การวิเคราะห์ขนาดในเชิงพื้นที่แบบเฉพาะจุดนั้นมีประสิทธิภาพมากกว่า (ขนาดในเชิงพื้นที่ คือ ขนาดของพื้นที่ที่มีบางสิ่งเกิดขึ้น) โดยการวิจัยได้พิจารณาปัจจัยต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงอายุ การศึกษา สถานะทางเศรษฐกิจและสังคม สถานที่ทำงาน สถานที่เกิด และสภาพแวดล้อมภายนอก
ไม่จำกัดอยู่ที่แนวทางจากบนลงล่าง
ความร้อนจัดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศในพื้นที่ส่วนใหญ่ของโลก ความร้อนจึงถือเป็นภาระสำคัญต่อการพัฒนาเมืองที่มีสุขภาพดีและยั่งยืน Dr. Song กล่าวว่า การวิจัยนี้ให้กรอบการทำงานสำหรับบุคลากรวิชาชีพ เช่น นักภูมิศาสตร์ นักวางผังเมือง ผู้กำหนดนโยบาย นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม และนักระบาดวิทยา เพื่อให้เข้าใจถึงปัจจัยเสี่ยงของการเสียชีวิตจากความร้อนที่ขึ้นอยู่กับขนาดในเชิงพื้นที่
"เมืองส่วนใหญ่ในจีนแผ่นดินใหญ่มีปัญหาคล้ายกับฮ่องกง เมืองเหล่านี้กำหนดสิ่งแทรกแซง (intervention) จากบนลงล่าง" Dr. Song กล่าว "เมืองเหล่านี้ไม่ค่อยใช้การวิเคราะห์ตามลำดับชั้น และแทบจะไม่มีแผนปฏิบัติการเฉพาะที่ (Site-specific) มาตรการหรือสิ่งแทรกแซงบางอย่างไม่ควรเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลระดับมณฑลหรือเทศบาลเท่านั้น เมืองจำเป็นต้องพิจารณาแนวทางเชิงประยุกต์ที่มุ่งเน้นชุมชนด้วย"
การวัดปัจจัยเสี่ยง
ความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับความร้อนนั้นมาจากปัจจัยที่อาจเห็นได้ชัดเจนเฉพาะในบางพื้นที่เท่านั้น
Dr. Song อธิบายว่า นักวิจัยพบว่าอายุและสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมมีอิทธิพลอย่างมีนัยสำคัญต่อความเสี่ยงการเสียชีวิตของประชากรในระดับเมือง
ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่น สภาพความร้อน และรายได้ของประชากร แสดงผลเฉพาะที่ได้มากกว่า ซึ่ง Dr. Song กล่าวสรุปว่า ผลการวิจัยเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า ในการศึกษาความเสี่ยงการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับความร้อนนั้น จำเป็นที่จะต้องประเมินแต่ละพื้นที่แยกกัน เพื่อให้ได้คำตอบที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของแต่ละพื้นที่มากที่สุด
การวิจัยเรื่อง 'Spatial-scale dependent risk factors of heat-related mortality: A multiscale geographically weighted regression analysis' ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Sustainable Cities and Society ของ Elsevier
รูปภาพ: https://mma.prnewswire.com/media/1608757/HeatMortalityStudy_Figure1.jpg
คำบรรยายภาพ: แผนที่ความเสี่ยงการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับความร้อนในฮ่องกง
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit