นางป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. กล่าวกรณีศูนย์บริหารสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. กำชับให้ติดตามหญิงตั้งครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ หญิงหลังคลอด รวมถึงหญิงที่อยู่ระหว่างให้นมบุตร ให้มารับวัคซีนโควิด-19 ว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักอนามัย ได้บริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 ภายใต้คณะอนุกรรมการการบริหารจัดการการให้บริการวัคซีนโควิด-19 กรุงเทพมหานคร โดยกลุ่มหญิงตั้งครรภ์เป็นกลุ่มเป้าหมายที่ต้องเร่งดำเนินการควบคู่กับกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ซึ่งสำนักอนามัยได้ประสานความร่วมมือกับโรงพยาบาล (รพ.) ทุกแห่งให้สำรวจจำนวนหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 12 สัปดาห์ และจัดสรรวัคซีนให้กับ รพ.เพื่อฉีดวัคซีนให้กับหญิงตั้งครรภ์ รวมถึงให้บริการเชิงรุกในชุมชนโดยทีม Bangkok CCRT และประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้หญิงตั้งครรภ์รับการฉีดวัคซีน เพื่อป้องกันและลดการสูญเสีย โดยขณะนี้ได้ฉีดวัคซีนกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ในพื้นที่กรุงเทพฯ แล้วทั้งสิ้นประมาณ 10,000 ราย
นายสุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. กล่าวว่า สำนักการแพทย์เปิดให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ รวมทั้งหญิงหลังคลอดและอยู่ระหว่างให้นมบุตร โดยไม่ต้องลงทะเบียน เพียงนำใบฝากครรภ์ หรือใบรับรองการตั้งครรภ์จากแพทย์ พร้อมบัตรประชาชน มาติดต่อขอเข้ารับบริการฉีดวัคซีนโควิด-19ได้ที่ รพ.ในสังกัดทั้ง 11 แห่ง โดยสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ (Bangkok Fast & Clear Center : BFC) ของ รพ. หรือคลินิกฝากครรภ์ประจำ รพ.ทั้ง 11 แห่ง ขณะเดียวกันได้เปิด Walk-in ที่ศูนย์ฉีดวัคซีนไทยร่วมใจ ทั้ง 12 จุด โดยผู้ที่จะมารับการฉีดวัคซีนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนวัคซีน 1516 หรือจากเพจเฟซบุ๊ก "ไทยร่วมใจ กรุงเทพฯ ปลอดภัย" นอกจากนี้ ได้ติดตามดูแลและให้คำแนะนำหญิงตั้งครรภ์ หญิงหลังคลอด และอยู่ระหว่างให้นมบุตรที่ฝากครรภ์กับ รพ.ในสังกัด โดยเน้นส่งเสริมให้ป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัดด้วยการเว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ ตรวจวัดอุณหภูมิ เมื่อสงสัยว่าติดเชื้อสามารถตรวจเชื้อด้วย Antigen Test Kit ได้ ตลอดจนสนับสนุนหญิงตั้งครรภ์ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม หรือหญิงตั้งครรภ์ 28 สัปดาห์ขึ้นไปและมีภาวะครรภ์เสี่ยงสูงอยู่ในพื้นที่สีแดงเข้ม ให้ทำงานที่บ้านหากสามารถทำได้ รวมถึงควรเข้ารับการฉีดวัคซีน เนื่องจากมีความเสี่ยงโรคจะรุนแรงกว่าคนทั่วไปถึง 3 เท่า โดยควรฉีดวัคซีนหลังอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ ซึ่งจะมีผลข้างเคียงลักษณะคล้ายกับคนทั่วไปและยังสามารถฉีดวัคซีนกับสตรีให้นมบุตรได้อีกด้วย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit