กรมวิชาการเกษตร โชว์ นวัตกรรมชุดตรวจไส้เดือนฝอยในรากพืชอย่างง่าย เกษตรกรตรวจเองได้ แม่นยำสูง รู้ผลไว เกษตรกรตรวจเองได้ ป้องไส้เดือนฝอยศัตรูพืชกักกันติดไปกับรากพรรณไม้น้ำส่งออก ผลงานสุดปังสอยรางวัลเลิศรัฐ "นวัตกรรมการบริการ ระดับดีเด่น" จาก กพร.
นางสาวอิงอร ปัญญากิจ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าพรรณไม้น้ำมากกว่า 100 ชนิด โดยมีผู้ปลูกพรรณไม้น้ำเพื่อการค้าทั้งจำหน่ายในประเทศและส่งออกจำนวน 80 บริษัท ส่งออกไปต่างประเทศ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา จีน ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปหรือ EU และประเทศอื่นๆ อีกกว่า 70 ประเทศทั่วโลก คิดเป็นมูลค่าหลายล้านบาทต่อปี พรรณไม้น้ำจึงจัดเป็นพืชที่ทำรายได้อีกชนิดหนึ่งของไทยที่มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากได้รับความนิยมนำไปประดับตู้และบ่อเลี้ยงปลาสวยงาม โดยส่งออกเป็นต้นที่มีรากติดไปด้วยเพื่อสามารถนำไปปลูกต่อได้
อย่างไรก็ตาม จากการที่ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งนำเข้าพรรณไม้น้ำจากประเทศไทยได้ตรวจพบไส้เดือนฝอยศัตรูพืชกักกันติดไปกับรากพรรณไม้น้ำทำให้พรรณไม้น้ำของไทยถูกระงับการนำเข้า ณ ด่านตรวจพืชของอียู และถูกเผาทำลายทันที ส่งผลให้อียูเพิ่มมาตรการเข้มงวดในการสุ่มตรวจมากขึ้น นักวิจัยกรมวิชาการเกษตรจึงได้คิดค้นเครื่องมือการตรวจคัดกรองศัตรูพืชเพื่อให้ได้เครื่องมือที่สามารถตรวจได้อย่างรวดเร็ว ขั้นตอนการตรวจไม่ยุ่งยาก มีความแม่นยำสูง และสามารถพัฒนาเป็นชุดตรวจแยกที่สามารถพกพาไปใช้ในภาคสนามได้ จนประสบผลสำเร็จกลายเป็นสิ่งประดิษฐ์คิดค้นใหม่ของงานด้านไส้เดือนฝอยวิทยาในระดับสากลที่ไม่เคยมีหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศดำเนินการมาก่อน ทำให้ผลงาน"นวัตกรรมการบริการตรวจไส้เดือนฝอยในพืชนำเข้าส่งออกด้วยคลื่นความถี่เหนือเสียง" ได้รับรางวัลสาขาบริการภาครัฐ ประเภทนวัตกรรมการบริการ ระดับดีเด่น ประจำปี 2564 จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.)
นางนุชนารถ ตั้งจิตสมคิด ผู้เชี่ยวชาญด้านจุลชีววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ได้คิดค้นนวัตกรรมการบริการตรวจคัดกรองพืชรูปแบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงเพื่อนำมาใช้ทดแทนวิธีตรวจแบบเดิมคือวิธีการพ่นหมอกซึ่งใช้ระยะเวลาการตรวจค่อนข้างนาน และเครื่องมือมีขนาดใหญ่ โดยนำเทคนิคคลื่นความถี่เหนือเสียง มาประยุกต์ใช้เพื่อขับไล่ไส้เดือนฝอยภายในรากพืชที่มีน้ำเป็นตัวกลางให้เคลื่อนตัวออกมาอยู่ในน้ำที่ระดับความถี่ของคลื่นเสียง 40 กิโลเฮิรตซ์ โดยจุดเด่นของชุดตรวจนี้คือมีเพียงขั้นตอนเดียวในการแยกไส้เดือนฝอยออกจากรากพืช ซึ่งใช้เวลาเพียง 20 นาที ในขณะที่วิธีตรวจแบบเดิมใช้เวลานานถึง 48 ชม. และวิธีการตรวจแบบใหม่นี้มีความแม่นยำสูงถึง 93 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับวิธีเดิม ตลอดจนต้นพืชไม่ได้รับความเสียหายจึงสามารถนำไปปลูกต่อได้
นอกจากนี้ ได้นำเทคนิคดังกล่าวมาพัฒนาและประดิษฐ์เป็นเครื่องมือ "ชุดตรวจไส้เดือนฝอยภาคสนาม" ซึ่งมีขนาดเล็ก ใช้งานง่าย โดยประกอบเป็นเครื่องมือแยกไส้เดือนฝอยออกจากรากพืช มีกล้องจุลทรรศน์ใช้ตรวจค้นหาไส้เดือนฝอยได้ทันทีในเครื่องเดียว ราคาถูก และสามารถผลิตได้ในประเทศ มีอายุการใช้งานนาน 20 ปี ปัจจุบันมีการนำไปใช้ ณ ด่านตรวจพืชนำเข้าส่งออกทั่วประเทศรวม 16 ด่านฯ และ 3 หน่วยงานด้านกักกันพืช สำหรับใช้ตรวจคัดกรองศัตรูพืชที่มีรากติดไปเพื่อออกใบรับรองปลอดศัตรูพืช โดยเจ้าหน้าที่สามารถพกพาไปใช้ในแหล่งผลิตได้สะดวก ช่วยประหยัดเวลา และค่าใช้จ่ายในการส่งตัวอย่างพืชไปตรวจ ณ ห้องปฏิบัติการกลาง สามารถตรวจได้ถึง 80 ตัวอย่างต่อวัน รวมทั้งเกษตรกรที่ประกอบธุรกิจส่งออกพรรณไม้น้ำและไม้ประดับที่มีรากติดไปสามารถนำไปใช้ตรวจการแพร่ระบาดในแปลงปลูกได้ด้วยตนเอง แก้ปัญหาการจัดการต้นพ่อแม่พรรณไม้น้ำในแหล่งผลิตให้ปราศจากไส้เดือนฝอยก่อนย้ายปลูกในบ่อใหม่ ซึ่งเป็นวิธีการป้องกันกำจัดไส้เดือนฝอยในแหล่งผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
"เป็นนวัตกรรมที่มีความแม่นยำสูงกว่าวิธีเดิม และขั้นตอนการตรวจไม่ยุ่งยากซับซ้อน ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่าย เพื่อให้เจ้าหน้าที่กักกันพืชและเกษตรกรผู้ประกอบธุรกิจพืชส่งออก สามารถปฏิบัติได้ง่ายด้วยตนเอง ใช้เวลาตรวจเพียง 20 นาทีและทราบผลภายในเวลาไม่เกิน 5 นาทีต่อตัวอย่าง สามารถนำไปแก้ปัญหาการติดไปของไส้เดือนฝอยศัตรูพืชกักกันจากวิกฤตการณ์การส่งออกไปประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปได้ทันสถานการณ์การส่งออกของประเทศ รวมทั้งเกษตรกรยังสามารถนำไปใช้ตรวจการปนเปื้อนของไส้เดือนฝอยศัตรูพืชในแหล่งผลิตพืชของตนเองเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด และหาทางป้องกันกำจัดไส้เดือนฝอยตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตรได้ด้วย" ผู้เชี่ยวชาญด้านจุลชีววิทยา กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit