ปี 2564 ได้ล่วงผ่านมากว่าครึ่งปีแล้ว เพื่อนสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund: PVD) หลายท่านอาจเริ่มหันกลับมาทบทวนการออมเงินและการลงทุนของตัวเองว่าเป็นไปตามแผนที่วางไว้และเข้าใกล้เป้าหมายการเก็บออมเพื่อการเกษียณอายุมากน้อยแค่ไหน อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ยืดเยื้ออาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อการออมและการลงทุนเพื่อการเกษียณอายุผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไม่มากก็น้อย โดยหากพิจารณาจากข้อมูลสถิติในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 พบว่ามีจำนวนสมาชิกกองทุนลดลงจากเดิม 42,391 ราย หรือคิดเป็น 1.45% จากปีก่อนหน้า เทียบกับที่เคยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยที่ 3% เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้จำนวนสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเมื่อเทียบกับแรงงานภาคเอกชนในระบบลดลงเหลือเพียง 18.5% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิด COVID-19 ซึ่งอยู่ที่ 20%
สถานะของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ณ 30 มิ.ย. 2564 | ณ 31 ธ.ค. 2563 | เปลี่ยนแปลง 6 เดือน | ||
มูลค่าเงินกองทุน (ล้านบาท) | 1,301,026 | 1,248,314 | 52,712 | 4.22% |
จำนวนกองทุน (กอง) | 366 | 368 | - 2 | -0.54% |
จำนวนนายจ้าง (ราย) | 20,612 | 19,932 | 680 | 3.41% |
จำนวนสมาชิก (คน) | 2,883,443 | 2,925,834 | - 42,391 | -1.45% |
สมาชิกนำเงินออกจากกองทุนเพิ่มขึ้น
จำนวนสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ลดลงนี้เป็นผลมาจากการที่สมาชิกบางรายต้องออกจากงาน และ
บางรายลาออกจากกองทุนแต่ยังคงทำงานอยู่ โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 สมาชิกที่ออกจากงานได้รับเงินจากกองทุนเป็นจำนวน 27,998 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 44.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน สมาชิกบางรายอาจมีความเสี่ยงจากการขาดรายได้ระหว่างที่ยังไม่สามารถหางานใหม่ได้ และอาจเลือกที่จะนำเงินก้อนที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาใช้ในยามจำเป็น ซึ่งอาจส่งผลให้เงินออมเพื่อใช้ในยามเกษียณมีน้อยลงหรือหมดลงได้
สำหรับสมาชิกที่ต้องออกจากกองทุน หากยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินก้อนนี้และยังต้องการรักษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีไว้ แนะนำให้คงเงินไว้ในกองเดิม (กรณีที่นายจ้างยังคงสวัสดิการ ไม่ได้เลิกกอง) เพื่อรอโอนย้ายไปกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพของนายจ้างใหม่ หรืออาจย้ายเงินไปยังกองทุนที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับการโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพโดยเฉพาะ หรือที่เรียกกันว่า RMF for PVD เพื่อให้การลงทุนเติบโตต่อเนื่อง โดย RMF for PVD นี้มีเงื่อนไขทางภาษีเหมือนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มีนโยบายการลงทุนให้เลือกหลากหลาย ซึ่งท่านสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้จากบริษัทจัดการลงทุนทุกราย
หากไม่พร้อมก็หยุดพักลูกจ้างและนายจ้างที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 และต้องการลดภาระค่าใช้จ่าย อาจเลือกหยุดหรือเลื่อนการส่งเงินสะสมสำหรับลูกจ้างหรือเงินสมทบสำหรับนายจ้างเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นการชั่วคราวแทนการเลิกเป็นสมาชิกหรือยกเลิกสวัสดิการไปเลย โดยกระทรวงการคลังได้ขยายระยะเวลาให้ลูกจ้างและนายจ้างสามารถหยุดหรือเลื่อนการส่งเงินเป็นการชั่วคราวได้จนถึงงวดนำส่งเงินของเดือนธันวาคม 2564 ซึ่งเป็นมาตรการต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่แล้วเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและลดภาระค่าใช้จ่ายของลูกจ้างและนายจ้างที่ยังคงได้รับผลกระทบจาก COVID-19 มาตรการดังกล่าวช่วยลดผลกระทบและช่วยให้แผนการออมการลงทุนผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของลูกจ้างเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เพราะหากนายจ้างใช้สิทธิหยุดหรือเลื่อนส่งเงินสมทบ แต่สมาชิกยังคงอยากส่งเงินสะสมเข้ากองทุนก็สามารถทำได้ เพื่อให้เกิดการออม
อย่างต่อเนื่อง
สำหรับนายจ้างและลูกจ้างที่ต้องการหยุดหรือเลื่อนส่งเงิน จะต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเสียก่อน แต่หากไม่สามารถจัดประชุมได้ สามารถใช้มติของคณะกรรมการกองทุนซึ่งต้องเป็นมติเอกฉันท์ จากนั้นนายจ้างหรือคณะกรรมการกองทุนแจ้งขอหยุดหรือเลื่อนส่งเงินเข้ากองทุนต่อ ก.ล.ต. ซึ่งเป็นนายทะเบียน พร้อมเอกสารที่กำหนด ได้แก่ (1) หนังสือรับรองจากนายจ้างว่ามีปัญหาในการดำเนินกิจการเนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 และมีปัญหาฐานะการเงินจริง พร้อมระบุว่าจะหยุดหรือเลื่อนส่งเงินถึงเมื่อใด ซึ่งต้องไม่เกินระยะเวลาที่ประกาศกระทรวงการคลังกำหนดไว้ และ (2) รายงานการประชุมใหญ่สมาชิกหรือรายงานการประชุมคณะกรรมการกองทุนซึ่งต้องมีรายละเอียด
ในลักษณะเดียวกับหนังสือรับรองของนายจ้างด้วย
ร่วมฟันฝ่าสถานการณ์ COVID-19 ไปด้วยกัน
ท่ามกลางสถานการณ์ COVID-19 และเศรษฐกิจที่ยังคงมีแนวโน้มไม่ฟื้นตัว แต่ยังมีนายจ้างที่เพิ่งจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และที่ยังคงมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นสวัสดิการให้แก่ลูกจ้างโดยไม่เลิกกอง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า นายจ้างยังคงเห็นความสำคัญของการมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพื่อเป็นหลักประกันรองรับการเกษียณสำหรับลูกจ้าง ก.ล.ต. จึงขอเป็นกำลังใจให้นายจ้างทุกรายผ่านพ้นสถานการณ์ครั้งนี้ไปด้วยกันด้วยตระหนักถึงความสำคัญของการออมเพื่อการเกษียณในระยะยาว ก.ล.ต. จึงยังคงเดินหน้าส่งเสริมให้เกิดการออมและการลงทุนผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ (factsheet) ของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพประเภทหลายนายจ้าง (pooled fund) โดยให้บริษัทจัดการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวต่อสาธารณะชน และจัดส่งให้ ก.ล.ต. ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 16 กันยายน 2564 ทั้งนี้ ก.ล.ต. จะนำข้อมูลดังกล่าวมาจัดทำเป็นเครื่องมือเปรียบเทียบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและเปิดเผยบนเว็บไซต์ www.ThaiPVD.com เพื่อให้สมาชิก คณะกรรมการกองทุนและผู้สนใจสามารถเปรียบเทียบข้อมูลเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกลงทุนได้อย่างเหมาะสมและตรงกับความต้องการอย่างแท้จริง ซึ่งท้ายที่สุดแล้วจะช่วยให้ลูกจ้างเข้าใกล้เป้าหมายการมีเงินออมรองรับการเกษียณอย่างเพียงพอ
พร้อมกันนี้ ก.ล.ต. ได้พัฒนาช่องทางการให้ความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพผ่านเว็บไซต์ www.ThaiPVD.com ซึ่งประกอบด้วยข้อมูลและเครื่องมือสำคัญที่เป็นประโยชน์ เช่น อินโฟกราฟิก คลิปวิดีโอ เครื่องมือคำนวณเงินที่ต้องใช้ในยามเกษียณ คู่มือการทำงานของคณะกรรมการกองทุน (toolkit) ตลอดจนเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์อีกมากมาย
สุดท้ายขอฝากถึงเพื่อนสมาชิกที่จะเกษียณปีนี้ ให้ลงทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดดอกออกผลต่อไปโดยอาจคงเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไว้เช่นเดิมหากยังไม่จำเป็นต้องใช้เงินก้อนนี้ หรืออาจทยอยรับเงินออกเป็นงวด ๆ ตามความต้องการและความจำเป็นในการใช้จ่ายเงินจริง ๆ เพื่อให้เงินที่อยู่ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเติบโต หากเพื่อนสมาชิกนำเงินออกไปทั้งก้อนโดยไม่นำไปลงทุนให้งอกเงยต่อ เงินก้อนดังกล่าวจะด้อยค่าลงตามกาลเวลา เนื่องจากภาวะ 'เงินเฟ้อ' จากการที่ราคาสินค้าและบริการปรับเพิ่มขึ้นทุกวัน ซึ่งอาจส่งผลให้สมาชิกมีเงินไม่เพียงพอไว้ใช้จ่ายหลังเกษียณ ทั้งนี้ สมาชิกสามารถแสดงความประสงค์การคงเงินหรือรับเงินเป็นงวดได้ที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลของบริษัท โดยควรดำเนินการล่วงหน้าแต่เนิ่น ๆ ก่อนถึงวันเกษียณอายุ เพื่อให้การบริหารจัดการเงินในกองทุนเป็นไปอย่างราบรื่นและเตรียมใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างสบายใจ
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit