กระทรวงอุตสาหกรรม โดย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม เปิดแคมเปญ "ถุงดีพร้อมปัน น้ำใจให้ชุมชน" เพื่อเป็นการทดสอบตลาดให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ได้เข้ามาพัฒนากับกรมฯ ให้ตรงกับความต้องการของตลาดและผู้บริโภค เพื่อให้เกิดการซื้อซ้ำผ่านช่องทางการตลาดออนไลน์ "DIProm Marketplace" และประชาสัมพันธ์ตรงต่อกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมาย โดยมีผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทดสอบตลาด และขยายช่องทางการตลาด จำนวน 103 ราย จากทั่วประเทศ ซึ่งนำผลิตภัณฑ์มาบรรจุในถุงดีพร้อม จำนวน 7,000 ถุง กระจายสู่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนทั่วประเทศ ทั้งนี้ แคมเปญดังกล่าวมีเป้าหมายในการรวบรวมความพึงพอใจของผู้บริโภคผ่าน QR CODE และยังเป็นการเพิ่มโอกาสทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการชุมชน และกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดการหมุนเวียนอย่างต่อเนื่องอีกด้วย
นายจุลพงษ์ ทวีศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ตามที่ยุทธศาสตร์ชาติได้กำหนดประเด็น การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม มีเป้าหมายหนึ่งเพื่อการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน และสามารถพึ่งตนเองได้ และยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันที่มีเป้าหมายการพัฒนาศักยภาพของประเทศ รวมถึงเศรษฐกิจฐานรากที่มุ่งเน้นการเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็ง มีศักยภาพในการแข่งขัน สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชน แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจของไทยในหลายหลากมิติ กระทรวงอุตสาหกรรม โดยการนำของ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มีความห่วงใยเศรษฐกิจในระดับฐานรากและผู้ประกอบการกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่กำลังได้รับผลกระทบทั้งในด้านกำลังการผลิต การจ้างงาน ต่อเนื่องถึงการจำหน่ายสินค้า จึงมีนโยบายเร่งด่วนให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม เร่งแก้ไขปัญหาให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมชุมชนที่เป็นเศรษฐกิจฐานรากของประเทศที่สำคัญ เพื่อให้สามารถปรับปรุงกระบวนการผลิตของตนเองให้เกิดคุณภาพ ควบคู่ไปกับการพัฒนาบนความต้องการของตลาดในยุคปัจจุบันซึ่งพฤติกรรมของผู้บริโภคได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค เพื่อเป็นการเพิ่มยอดขาย สร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการได้เพิ่มมากขึ้นต่อไปในอนาคต
ด้าน นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม ได้เร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการวิสาหกิจให้ได้มีโอกาสในการฟื้นฟูธุรกิจภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด - 19 ผ่านนโยบาย "พร้อมสู้ อยู่ได้ ไปรอด" ผ่าน 5 มาตรการ ซึ่ง 1 ในมาตรการที่เรามุ่งเน้น คือ การตลาดภายใต้โควิด 2.0 โดยดำเนินส่งเสริมการตลาด การขยายตลาดในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงการทดสอบตลาดให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ในช่วงการระบาดของโรคโควิด - 19 เป็นอุปสรรคด้านการทดสอบตลาดของผู้ประกอบการ SMEs และวิสาหกิจชุมชน จนทำให้การทดลองจำหน่ายสินค้าระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคไม่สามารถเชื่อมโยงระหว่างกันได้ ดีพร้อม จึงได้เร่งหาแนวทางในการช่วยเหลือผู้ประกอบการในทุก ๆ มิติ โดยเฉพาะการสนับสนุนกิจกรรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ควบคู่กับทดสอบตลาดให้กับผู้ประกอบการ เพื่อให้สามารถพัฒนาสินค้าได้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคผ่านการจัดแคมเปญ "ถุงดีพร้อม ปันน้ำใจให้ชุมชน" ซึ่งนำสินค้าจากผู้ประกอบการชุมชนที่ได้รับผลกระทบ เพื่อไปกระจายสู่กลุ่มผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อนทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายในการบรรเทาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน และเพื่อกระจายสินค้าข้ามถิ่น เช่น การส่งสินค้าเพื่อบริโภคจากภาคใต้ไปยังภาคเหนือ ซึ่งจะทำให้ในแต่ละภูมิภาคได้รู้จักของดีทั่วไทยมากขึ้น รวมถึงเพิ่มช่องทางการตลาดเพื่อให้เกิดการกลับมาซื้อซ้ำผ่านช่องทางออนไลน์ "DIProm Marketplace" เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการชุมชน และกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดการหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง โดยจัดทำ QR CODE เพื่อให้ผู้ที่ได้รับมอบผลิตภัณฑ์ตอบแบบสอบถามความพึงพอใจต่อผลิตภัณฑ์ผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งดีพร้อมจะประมวลผลเป็นข้อมูลและส่งกลับไปยังผู้ผลิตให้สามารถนำไปพัฒนาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์ เพื่อให้สามารถจำหน่ายและแข่งขันได้ทั้งในช่องทางออนไลน์ - ออฟไลน์ รวมถึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการของตลาดและผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น
"ดีพร้อม ได้พัฒนา ต่อยอดของดีของเด่นจากชุมชนนำมาร่วมแคมเปญ "ถุงดีพร้อม ปันน้ำใจให้ชุมชน" โดยมีผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทดสอบตลาด และขยายช่องทางการตลาด จำนวน 103 ราย จากทั่วประเทศ นำผลิตภัณฑ์มาบรรจุในถุงดีพร้อม จำนวน 7,000 ถุง ได้แก่ อาทิ ข้าวสังข์หยดจากจังหวัดพัทลุง กุนเชียงหมูจากจังหวัดนครปฐม ปลาสลิดผัดพริกขิงจากจังหวัดฉะเชิงเทรา ทองม้วนสอดไส้หมูหยองจากจังหวัดสุพรรณบุรี ฟ้าทะลายโจรจากจังหวัดสระแก้ว ชาสมุนไพรดอกคำฝอยจากจังหวัดแพร่ และน้ำมันสมุนไพรจากกรุงเทพมหานคร เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดเป็นผลิตภัณฑ์อาหารแห้งและสมุนไพรที่มีประโยชน์ จำเป็นต่อการดำรงชีพภายใต้การระบาดของโรคโควิด - 19 จำนวน 7,000 ถุง โดยจะกระจายไปยังศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดดีพร้อม ทั่วประเทศ เพื่อให้นำไปกระจายต่อให้ทั่วถึงแต่ละครัวเรือนภายในสิ้นเดือนกันยายน 2564 นี้" นายณัฐพล กล่าวทิ้งทาย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทรศัพท์
0 2367 8391 หรือ ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ www.dip.go.th / www.diprom.go.th หรือ https://www.facebook.com/dipromindustry