DITP แนะตลาดสมุนไพรไทยมาแรงหลังโควิด โอกาสส่งออกสู่ตลาดต่างประเทศ โชว์ผลงานปั้นผู้ประกอบการสมุนไพรไทยต้นแบบ เร่งเจาะตลาดใหม่ของขวัญ ของฝาก ของที่ระลึก
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เล็งเห็นโอกาสขยายตลาดส่งออกสินค้าสมุนไพรไทย โชว์ความสำเร็จ "โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพรสู่ตลาดต่างประเทศ" สร้างผู้ประกอบการสมุนไพรไทยต้นแบบในกลุ่ม HEALTH & WELNESS เพิ่มมูลค่าการส่งออกตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มองสินค้าสมุนไพรมาแรง แนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ตอบโจทย์เทรนด์คนรักสุขภาพวิถีใหม่ คาดการณ์มูลค่าตลาดสูงถึง 5.63 ล้านล้านบาท ในปี 2573
นายเอกฉัตร ศีตวรรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ผู้บริโภคมีวิถีชีวิตและพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป หันมาสนใจและนิยมการดูแลรักษาสุขภาพด้วยวิธีธรรมชาติ และหลีกเลี่ยงการใช้ สารเคมี ทำให้สมุนไพรกลายเป็นหนึ่งในวัตถุดิบจากธรรมชาติที่ภาคธุรกิจในกลุ่ม HEALTH & WELNESS ทั่วโลกกำลังต้องการ ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าธุรกิจ HEALTH & WELNESS ที่นำสมุนไพรไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต อาทิ เครื่องสำอาง อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์สปา จะมีมูลค่าตลาดสูงถึง 166 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 5.63 ล้านล้านบาท ในปี 2573 และมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องในทุกปี
"กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เล็งเห็นถึงแนวโน้มการเติบโตของสินค้าสมุนไพร และต้องการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ HEALTH & WELNESS ของไทยที่มีสมุนไพรเป็นส่วนประกอบ จึงได้จัดโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพรสู่ตลาดต่างประเทศขึ้นเป็นปีแรก เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทยในกลุ่ม HEALTH & WELNESS ผ่านการมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม หรือ BCG Model ด้วยการการอบรมให้ความรู้ การให้คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด การสร้างคุณค่าและบรรจุภัณฑ์ เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถให้แก่ ผู้ประกอบการ ตลอดจนยกระดับและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์" นายเอกฉัตร กล่าว
โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพรสู่ตลาดต่างประเทศ จัดขึ้นเป็นปีแรก ภายใต้แนวคิด "THE NEW ERA OF THAI HERB, Next Image and New Opportunities for Your Brand" มีผู้ประกอบการสมุนไพรไทยผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมกิจกรรมการให้คำแนะนำในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย จำนวน 31 ราย โดยมุ่งเน้นตลาดกลุ่มของขวัญ ของฝาก และของที่ระลึกในช่วงเทศกาล โดยมี 10 แบรนด์ที่เป็นไฮไลท์สำคัญ ได้แก่ STERLING ยาสีฟันที่มีสารสกัดจากสมุนไพรไทยอย่างขมิ้นนำมาผสมผสานกับมังคุดและน้ำมันมะพร้าว, G&T ORGANIC แฮร์โทนิคที่มีส่วนผสมหลักจากว่านหางจระเข้ มะหาด ดอกอัญชัน, PINMISA แชมพูที่มีสารสกัดจากสมุนไพรไทยรวม 20 ชนิด, NAROES แชมพูที่มีสารสกัดจากมะคำดีควาย บอระเพ็ด มะรุม ใบย่านาง และสะเดา, SAKUNA ผลิตภัณฑ์สำหรับ ผิวหน้าที่มีสารสกัดจากรังไหมสายพันธุ์หลืองไพโรจน์, MADAME ESTHER สบู่สำหรับผิวกายที่มาจากสารสกัดใบพลู, PATOM ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวกายจากกุหลาบมอญอินทรีย์, KHUNPHAT HERBAL ผลิตภัณฑ์อโรมากลิ่นตะไคร้, AROM ผลิตภัณฑ์อโรมาที่มีส่วนผสมและกลิ่นจากสมุนไพร เช่น ขมิ้นชัน กลิ่นมะลิ และ TEVADA JAI DEE BRAND น้ำมันนวดสมุนไพรที่มาจากสมุนไพรไทยนานาชนิด
ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยกลุ่มของขวัญ ของฝาก ของที่ระลึก ที่ได้รับการพัฒนาบรรจุภัณฑ์จากการเข้าร่วมโครงการ ทั้ง 31 แบรนด์ จะถูกนำมาจัดแสดง ณ FACTOPIA ถ.รัตนาธิเบศร์ ภายใต้กิจกรรม "Shift to the New Market" กำหนดจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 17-19 กันยายนนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ซื้อ (Buyers) นักธุรกิจ สื่อมวลชน และผู้สนใจ ได้เข้าชมผลิตภัณฑ์ ตลอดจนมีการทำตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ ในรูปแบบไลฟ์สตรีมมิง (Live Streaming) เพื่อเปิดโอกาสทั้งตลาดในประเทศ และตลาดต่างประเทศ
สามารถดูผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบที่เข้าร่วมโครงการฯ ทั้ง 31 แบรนด์ได้ทาง E-CATALOGUE THAI HERB
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit