หากพูดถึง "นวัตกรรม" หลายคนอาจนึกถึงสิ่งประดิษฐ์ที่ต้องใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีล้ำสมัย แต่อีกแง่มุมหนึ่งจะพบว่าในปัจจุบันนวัตกรรมมากมายที่เกิดขึ้นรอบตัวเรา ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีหรือวิทยาศาสตร์เท่านั้น อาจเป็นแนวคิด หรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้การออกแบบ ใช้สุนทรียศาสตร์ทั้งรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ความคิดสร้างสรรค์ ตลอดจนวิธีการทางการตลาด ฯลฯ เข้ามาเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เกิดเป็นนวัตกรรมหลากหลายรูปแบบที่มีประโยชน์ทั้งในด้านเศรษฐกิจและการสร้างคุณค่าต่อสังคมโดยรวม
ครั้งนี้จึงเป็นโอกาสดีที่จะพาทุกคนไปสัมผัสมุมมอง ความคิด และประสบการณ์ รวมถึงความสำเร็จของนักสร้างสรรค์ ผู้สร้างแรงบันดาลใจ และการเปลี่ยนแปลงเชิงศาสตร์และศิลป์จากโครงการ "ร้อยคนไทยหัวใจนวัตกรรม 2" (100 Faces of Thailand's Innovation Inspirers 2) โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ที่จะมาช่วยกระตุ้นแรงบันดาลใจ และผลักดันให้ทุกคนกล้าที่จะคิดนอกกรอบ ตลอดจนมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ ที่มีคุณค่า
เมื่อพูดถึงนักสร้างสรรค์ สาขาอาชีพที่ทุกคนมักจะนึกถึงในอันดับต้นๆ คงหนีไม่พ้น "ศิลปิน (Artist)" เนื่องจากศิลปินไม่ได้สร้างผลงานศิลปะเพื่อความงามเพียงอย่างเดียว แต่ยังแฝงด้วยอารมณ์ความรู้สึก และสะท้อนความคิดที่มีต่อสังคม งานศิลปะจึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มีอิทธิพลกับผู้คนในหลายมิติและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในสังคมได้เหมือนกับ พัชรพล แตงรื่น หรือชื่อที่ทุกคนคุ้นเคยอย่าง Alex Face ศิลปิน Street Art ผู้สร้างผลงานสะท้อนตัวตนบนกำแพงที่มีชื่อเสียงจากคาแรกเตอร์เด็กสามตาหน้าบึ้งชื่อ "มาร์ดี" โดยผลงานของศิลปินหนุ่มคนนี้ล้วนเป็นการสะท้อนสิ่งที่เขาคิด ความกังวล อารมณ์ ณ ห้วงเวลานั้น และค่อย ๆ พัฒนาเพิ่มเติมเรื่องราวต่าง ๆ เข้าไปในคาแรคเตอร์
โดย ศิลปินหนุ่ม Alex Face บอกว่าหากมองถึงคุณค่าด้านศิลปะสตรีตอาร์ตนั้นมีความหลากหลาย ซึ่งไม่สามารถคาดเดาผลลัพธ์ได้ว่า ทำลงไปแล้วคนจะชอบหรือไม่ แต่ในมุมมองของคนที่ตั้งใจทำงานอาร์ตนั้นต้องมีองค์ประกอบความงามทักษะ และเรื่องที่ต้องการเล่าหรือสื่อสารออกไป ดังนั้นคุณค่าของสตรีตอาร์ตจึงเป็นเหมือนเสียงสะท้อนจากคนตัวเล็ก ๆ ไปสู่สังคมอย่างตรงไปตรงมา ส่วนเสียงที่สะท้อนออกไปจะส่งผลกระทบได้มากน้อยก็ขึ้นอยู่กับการอยู่ถูกที่ถูกเวลาเป็นสิ่งสำคัญ เพราะคุณค่าของสตรีตอาร์ตขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน และความเหมาะสมของสถานที่ที่สร้างผลงาน
ทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสังคมได้ด้วยสิ่งที่ตัวเองรักเหมือนกับหนึ่งใน "ผู้ขับเคลื่อนสังคม (Social Mover)" อย่าง ดุจดาว วัฒนปกรณ์ นักจิตบำบัดด้วยศิลปะการเคลื่อนไหว คนแรก ๆ ของประเทศไทย ผู้นำศาสตร์การเคลื่อนไหวมาใช้บำบัดจิตเพื่อช่วยให้คนฉุดคิด เรียนรู้ และเข้าใจตัวเองมากขึ้น เพราะการเต้นหรือการเคลื่อนไหวไม่ได้เป็นศิลปะสวยงามเพื่อความสนุกสนานหรือเพื่อการปลดปล่อยเพียงอย่างเดียว แต่เป็นอีกหนึ่งกระบวนการช่วยคิดและเข้าใจในตัวเองมากขึ้น ซึ่งมีอานุภาพมากพอที่จะเยียวยาจิตใจผู้คนได้ด้วย
ซึ่ง คุณดุจดาว บอกว่าทุกการเคลื่อนไหวของร่างกายล้วนสัมพันธ์กับจิตใจ เนื่องจากร่างกายเป็นแหล่งรวมข้อมูลทุกอย่างเกี่ยวกับตัวเราทั้งสิ่งที่เราจำได้และจำไม่ได้ เราจำทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับตัวเราผ่านผัสสะทั้งทางกายและทางใจตั้งแต่วันแรกที่เราเกิดจนถึงปัจจุบัน และไม่เคยหยุดแม้กระทั่งเวลาที่เราหลับ ดังนั้นการที่เรารู้จักเชื่อมโยงข้อมูลต่าง ๆ ที่ผ่านมาในชีวิตทั้งทางกายและใจ จะทำให้เราเข้าใจความเป็นไปของตัวเองอย่างมีเหตุมีผลมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่การตั้งรับและแก้ปัญหาที่เข้ามาในชีวิต ตลอดจนสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตไปในทางที่ดีขึ้นได้ แม้การรู้จักและเข้าใจตัวเองจะเป็นสิ่งสำคัญ แต่มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีสังคม ทุกคนบนโลกต่างต้องพึ่งพาอาศัยกันไม่มากก็น้อย ทำให้การเข้าใจและเห็นอกเห็นใจผู้อื่นในสังคมด้วยก็เป็นสิ่งสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน เพียงแค่คนเรามีพื้นที่ที่พร้อมจะเข้าใจกันมากขึ้น รู้จักคิดในมุมของคนอื่นบ้าง ก็จะทำให้บรรยากาศสังคมสามารถเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นได้เช่นกัน
เมื่อพูดถึงนักสร้างสรรค์ อีกหนึ่งกลุ่มสายงานที่มีความสำคัญอย่างมากต่อสังคมก็คือ "นักออกแบบ (Designer)" เพราะเป็นผู้เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า ช่วยแก้ไขปัญหาด้วยความคิดสร้างสรรค์ และออกแบบประสบการณ์ชีวิตให้ตอบโจทย์กับบริบทต่าง ๆ นั่นเอง โดยเฉพาะในช่วงหลายปีที่ผ่านมาหากพูดถึงเรื่องการเพิ่ม พื้นที่สีเขียวให้เป็นปอดสำหรับเมือง มีน้อยคนนักที่จะให้คำตอบได้กระจ่างชัด แต่ "กชกร วรอาคม" สถาปนิกผู้เชื่อมั่นว่าอาคารและต้นไม้มีความสำคัญต่อมนุษย์ไม่แพ้กัน อาจเป็นเพียงไม่กี่คนที่ให้คำตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้อย่างชัดเจนที่สุดในฐานะเจ้าของผลงานการออกแบบอุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสวนเกษตรลอยฟ้าสยามสแควร์ พื้นที่สีเขียวกลางเมืองที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงในฐานะงานภูมิสถาปัตย์ไอเดียล้ำสมัย
โดย คุณกชกร บอกว่างานของภูมิสถาปนิกแท้จริงแล้วเน้นหนักไปที่การออกแบบ "ภูมิทัศน์" (Landscape) คือจัดวางพื้นที่ทั้งในและนอกอาคารเพื่อพัฒนาคุณภาพของพื้นที่นั้น ๆ ทั้งในแง่ประโยชน์การใช้งานและปรับปรุงสภาพแวดล้อม ดังนั้นขอบเขตงานภูมิสถาปัตย์จึงไม่ได้อยู่เพียงภายใต้กรอบของสุนทรียภาพ เพราะต้องรวมการปรับปรุงพฤติกรรมและคุณภาพชีวิตของทุกชีวิตในพื้นที่นั้น ๆ เป็นเป้าหมายสำคัญเข้าไปด้วย อีกทั้งแท้จริงแล้วนักออกแบบถือเป็นหนึ่งในปัจจัยของปัญหาธรรมชาติ เนื่องจากเป็นคนกำหนดว่าจะใช้ทรัพยากรแบบไหนสร้างอะไรขึ้นมาบ้าง ดังนั้นนักออกแบบควรมีวิธีการใหม่ในการแก้ปัญหาโดยเบียดเบียนธรรมชาติให้น้อยที่สุด
เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลแบบเต็มรูปแบบเทคโนโลยีก็เข้ามามีบทบาทกับชีวิตคนในทุกมิติ โดยเฉพาะภาคธุรกิจยิ่งต้องปรับตัวให้ทันตามยุคสมัย ดังนั้นเราจะได้เห็นภาคธุรกิจยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับ "เทคโนโลยี" เป็นอย่างมาก เช่น กล้า ตั้งสุวรรณ ผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์มเพื่อการรับรู้พฤติกรรมของผู้บริโภค ที่ชื่อว่า "ZOCIAL EYE" หนึ่งใน "ผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยี (Tech Entrepreneur)" ที่นำความรู้ความสามารถด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยีที่ได้เรียนมาสร้างนวัตกรรมเพื่อการวิเคราะห์และเรียนรู้ข้อมูลต่าง ๆ บนโลกโซเชียล หรือที่เรียกกันว่า "Social Listening" เนื่องจากเล็งเห็นว่าปัจจุบันการใช้ข้อมูลข่าวสารถือเป็นสิ่งจำเป็นและเป็นประโยชน์ในแทบทุกธุรกิจ แถมยังเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดยอดขายและการเติบโตทางธุรกิจอีกด้วย
ดังนั้นในฐานะที่เป็นผู้บุกเบิกนวัตกรรมด้านข้อมูลข่าวสารในประเทศไทย คุณกล้า ได้บอกว่าข้อมูลจะเป็นสิ่งที่มีความสำคัญยิ่ง ๆ ขึ้นไปในอนาคต ดังนั้นใครที่อยากก้าวเข้ามาในธุรกิจนี้จะต้องมีทักษะ 4 ด้าน ได้แก่ ด้านคณิตศาสตร์และการสถิติ ด้านโปรแกรมมิ่งเพื่อการสั่งการให้คอมพิวเตอร์หรือปัญญาประดิษฐ์ทำงานตามที่ต้องการ ด้านการสื่อสารที่ต้องทำให้ข้อมูลที่สรุปและวิเคราะห์ออกมาแล้วทุกคนอ่านแล้วเข้าใจได้ และสุดท้ายคือความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่มักเกิดขึ้นจากความสนใจส่วนตัว ซึ่งทักษะต่าง ๆ เหล่านี้ ไม่ได้เกิดจากการศึกษาในมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่สามารถฝึกฝนและหาข้อมูลด้วยตนเองบนโลกออนไลน์ได้เช่นกัน
ต้นทุนสำคัญของธุรกิจคือความคิดสร้างสรรค์เพราะปัจจุบันโลกของการทำธุรกิจ ไม่ใช่แค่ต้องมีผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ แต่ต้องใส่ความคิดสร้างสรรค์ด้วยธุรกิจนั้นถึงจะเข้าไปนั่งในใจผู้บริโภคได้ ดังนั้นผู้ประกอบการยุคใหม่จึงต้องพร้อมเป็นนักสร้างสรรค์ในเวลาเดียวกัน โดยจะพาไปชมแนวคิดของหนึ่ง "ผู้ประกอบการสร้างสรรค์" (Creative Entrepreneur) อย่าง นพ.ณัฐเขต แย้มอิ่ม หรือ หมอเต้ ผู้ก่อตั้ง PULSE Clinic คลินิกสุขภาวะทางเพศ ที่ถือกำเนิดด้วยความมุ่งมั่นในแนวทางการให้บริการแบบเป็นกันเอง และไม่ตัดสินหรือตีตราวิถีชีวิตอันหลากหลายของผู้รับบริการ ที่สำคัญยังเป็นคลินิกแห่งแรกในประเทศไทยที่จ่ายยาป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี หรือยา PrEP (Pre-Exposure Prophylaxis) ให้กับบุคคลทั่วไป ซึ่งปัจจุบันมีผู้รับบริการทั้งคนไทยและคนต่างชาติจากทั่วโลก
โดย หมอเต้ ได้ให้แนวคิดความสำเร็จของตนเองไว้ว่าคนเราต้องวาดความฝันไว้ให้ใหญ่ และเปลี่ยนความฝันให้เป็นเป้าหมาย แล้วค่อย ๆ บรรลุมันไปทีละขั้น สุดท้ายแล้วความฝันก็จะกลายเป็นจริง รวมถึงการฝึกตัวเองให้มีจิตใจที่อยากช่วยเหลือคนอื่น เริ่มจากการรักตัวเอง รักครอบครัว รักคนรอบตัว แล้วก็ให้ความรักของเรากระจายไปรอบ ๆ นอกจากนี้การเคารพความหลากหลายของคนในสังคมเป็นสิ่งที่ทุกคนควรตระหนัก เราต้องเคารพการตัดสินใจและการใช้ชีวิตของคนอื่น ยอมรับความแตกต่างของผู้คนเป็นสิ่งสำคัญ เพราะไม่ว่าคุณจะเป็นเพศอะไรหรือมีไลฟ์สไตล์แบบไหนสุดท้ายทุกคนล้วนต้องการการใส่ใจและดูแลด้วยกันทั้งนั้น
ความรู้หรือความชำนาญในหลากหลายศาสตร์ สามารถสร้างสังคมนวัตกรรมได้เช่นเดียวกับ "ดร.การดี เลียวไพโรจน์" หัวหน้าคณะนักวิจัย "อนาคต" ของประเทศไทย จาก FutureTales LAB by MQDC ผู้หญิงเก่งที่มีหลายบทบาท หลายตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ผู้นำเทรนด์ด้านนวัตกรรมทางการเงินดิจิทัล ตลอดจนผู้สร้างกลยุทธ์แห่งอนาคตด้วยข้อมูลที่นำไปสู่การสร้างนวัตกรรมที่จะส่งผลต่อสังคมและความเป็นอยู่ของผู้คนในอนาคต
ดร.การดี บอกว่าสิ่งที่นับว่ามีคุณค่าอย่างมากในฐานะนักวิจัย คือการได้แบ่งปันองค์ความรู้ที่เรามี และข้อมูลจากเรายังถูกนำไปใช้ เพื่อการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดียิ่งขึ้น พร้อมบอกอีกว่าเรื่องของนวัตกรรมเป็นเรื่องของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นเก่าหรือรุ่นใหม่ก็สามารถสร้างสิ่งใหม่ ๆ ได้ทั้งนั้น เพราะสิ่งสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดคือการเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด และอย่าหยุดที่จะเปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้กับชีวิต ตลอดจนการผลักดันสิ่งที่ตนเห็น และทำให้คนอื่นเห็นว่าสิ่งนี้สำคัญและต้องตระหนัก จงอย่าลังเลที่จะลงมือทำและอย่ากลัวความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้น เพราะถ้าไม่ลองก็คงไม่รู้ถึงผลลัพธ์ที่จะตามมา
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแนวคิดจาก 6 ตัวแทนนักสร้างสรรค์ผู้สร้างแรงบันดาลใจเชิงศาสตร์และศิลป์จากโครงการ "ร้อยคนไทยหัวใจนวัตกรรม 2" (100 Faces of Thailand's Innovation Inspirers 2) ซึ่งยังมีนักสร้างสรรค์อีกหลากหลายคนครอบคลุมทั้ง 6 กลุ่มสาขา ประกอบด้วย สาขาศิลปิน (Artist) สาขานักออกแบบ (Designer) สาขาผู้ขับเคลื่อนสังคม (Social Mover) สาขาผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยี (Tech Entrepreneur) สาขาผู้ประกอบการสร้างสรรค์ (Creative Entrepreneur) และสาขาผู้ให้ความรู้ (Knowledge Provider) ที่รอให้ทุกคนได้เข้าไปค้นพบและซึมซับแรงบันดาลใจดี ๆ ผ่านนิทรรศการออนไลน์ และหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสามารถติดตามได้ทั้งบนเว็บไซต์ www.nia100faces.com และแอปพลิเคชัน NIA 100 Faces
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit