โลมาอิรวดี (Orcaella brevirostris) เป็นโลมาเฉพาะถิ่นที่พบในน่านน้ำชายฝั่งของภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์ทำให้ประชากรโลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลาของไทยอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ได้จัดให้เป็นสายพันธุ์ที่เปราะบาง ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จีนและไทยได้กระชับความร่วมมือระหว่างกันในการสังเกตการณ์และการวิจัยสัตว์ทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งรวมถึงโลมาอิรวดีด้วย
ประเทศไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการอนุรักษ์ประชากรโลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา และได้สั่งสมประสบการณ์มานานกว่าสิบปี อย่างไรก็ตาม วิธีสังเกตการณ์แบบเดิม ๆ ที่นักวิจัยเคยใช้ เช่น การถ่ายภาพจากเรือ ยังมีข้อจำกัดและไม่มีประสิทธิภาพ ในปี พ.ศ. 2554 จีนและไทยได้บรรลุข้อตกลงร่วมกันในการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการสังเกตการณ์และส่งเสริมการวิจัยทางวิทยาศาสตร์
สิ่งที่ดึงดูดให้นักวิทยาศาสตร์จากจีนและไทยมาทำวิจัยร่วมกันนั้น ไม่ใช่แค่เพราะโลมาอิรวดีใกล้สูญพันธุ์เท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะโลมาอิรวดีมีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศทางทะเลด้วย โดยโลมาอิรวดีอยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหารทางทะเล ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาระบบนิเวศทางทะเลที่ดี นอกจากนี้ โลมาอิรวดียังมีความหมายต่อชาวบ้านในพื้นที่ด้วยเช่นกัน โดยโลมาอิรวดีช่วยต้อนปลาเข้าอวนแลกกับอาหารจากชาวประมง อีกทั้งยังมีผลต่อจิตใจของชาวบ้าน โดยบางวัดในประเทศไทยถึงกับจัดบูชาโครงกระดูกและชิ้นส่วนของโลมาอิรวดีเลยทีเดียว
"ด้วยเหตุนี้ การคุ้มครองโลมาอิรวดีจึงมีความสำคัญทั้งทางนิเวศวิทยา รวมถึงทางสังคมและวัฒนธรรม" ดร.จาง เสวี่ยเล่ย หัวหน้าทีมวิจัยสัตว์ทะเลใกล้สูญพันธุ์ จากสถาบันสมุทรศาสตร์ (First Institute of Oceanography) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติของจีน กล่าว
นักวิจัยจากจีนและไทยได้พัฒนาระบบสังเกตการณ์แบบบูรณาการ ด้วยการประยุกต์ใช้พาหนะไร้คนขับทั้งทางอากาศและทางทะเล ร่วมกับเทคโนโลยีไบโออะคูสติก และเทคนิคทางอณูชีววิทยา ทำให้สามารถรวบรวมและส่งข้อมูลรวมถึงภาพของโลมาได้แบบเรียลไทม์
เทคโนโลยีขั้นสูงเหล่านี้ถูกนำมาใช้ในการสังเกตและการวิจัยสัตว์ทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ในประเทศไทยมาระยะหนึ่งแล้ว และในเดือนพฤษภาคม 2558 ทีมวิจัยมีความก้าวหน้าครั้งสำคัญ โดยโดรน DJI ติดกล้องสามารถจับภาพพะยูน หรือตำนาน "นางเงือก" แห่งท้องทะเลได้สำเร็จ ในบริเวณน่านน้ำทางตอนเหนือของเกาะลิบง ซึ่งถือเป็นการยืนยันการดำรงอยู่ของสายพันธุ์ดังกล่าวในพื้นที่นี้เป็นครั้งแรก และสนับสนุนให้มีการออกมาตรการอนุรักษ์
สี่งที่ดร.จาง ประทับใจมากที่สุดก็คือ ประสบการณ์จากการสังเกตโลมาอิรวดีด้วยการสังเกตการณ์รูปแบบใหม่นี้ในทะเลสาบสงขลา ซึ่งถือเป็นการพิสูจน์ถึงประสิทธิภาพของเทคโนโลยีดังกล่าว ที่ผ่านมาผลจากกิจกรรมของมนุษย์ได้ทำให้โลมาในพื้นที่มีความไวต่อมนุษย์ จนทำให้ยากต่อการสังเกตการณ์ทางวิทยาศาสตร์และการเก็บข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับขนาดของประชากรโลมาและรูปแบบการทำกิจกรรมของโลมา
เพื่อแก้ปัญหานี้ ในเดือนพฤษภาคม 2558 ดร.จาง และเพื่อนร่วมงานชาวไทย ได้สังเกตการณ์แบบสามมิติจากทางอากาศ บนผิวน้ำ และใต้น้ำในทะเลสาบสงขลา โดยติดตั้งเซ็นเซอร์ไบโออะคูสติกใต้น้ำจำนวนมาก รวมถึงส่งเรือสำปั้นขนาดเล็กและเครื่องบินเล็กที่ขับโดยมนุษย์ออกร่วมสำรวจ
"เราพบว่าเวลาที่โลมาปรากฏตัวตรงกับเวลาที่เรากลับเข้าฝั่งเพื่อรับประทานอาหารกลางวันพอดี เรารู้สึกประหลาดใจและตระหนักว่าสัตว์ที่อ่อนไหวเหล่านี้ฉลาดแค่ไหนในการตอบสนองต่อเสียงแปลก ๆ ของเครื่องเรือ" ดร.จาง กล่าว จากนั้นทีมวิจัยได้ปรับเปลี่ยนตารางเวลา ดับเครื่องยนต์ รอบนเรือภายใต้แสงแดดที่แผดจ้า และในตอนเที่ยง โลมาอิรวดีประมาณ 20 ตัวก็ออกมากินอาหารเพราะคิดว่าไม่มีคนแปลกหน้ามารบกวน ทีมงานจึงสามารถรวบรวมข้อมูลที่ต้องการมานาน
"จากการเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับจำนวนประชากร พื้นที่อยู่อาศัย และพฤติกรรมที่สำคัญอื่น ๆ ของโลมาอิรวดีเหล่านี้ ทำให้เราสามารถพัฒนากลยุทธ์การอนุรักษ์ที่ดีขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อความหลากหลายทางชีวภาพและความมั่นคงของระบบนิเวศทางทะเล" ดร.จาง กล่าว
นอกจากนี้ ความท้าทายจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ส่งผลต่อการทำงานร่วมกันในสถานที่ของทีมงานจากนานาชาติ ทำให้ ดร.จางและทีมงานลองพยายามใช้วิธีสังเกตการณ์แบบใหม่ เช่น การใช้แท็กดาวเทียม ที่สามารถติดตามการเคลื่อนไหวของเต่าและวาฬ โดยหวังว่าจะได้รับข้อมูลที่มีค่ามากขึ้นเกี่ยวกับถิ่นที่อยู่อาศัยและรูปแบบการอพยพ
"เราหวังว่าแพลตฟอร์มการสังเกตการณ์แบบไร้มนุษย์นี้จะช่วยปลดปล่อยนักวิจัยจากงานหนักที่ไม่ต้องใช้สติปัญญามากนัก เพื่อให้พวกเขาสามารถทุ่มเทนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ให้กับงานที่มีคุณค่ามากกว่า และมีส่วนร่วมสนับสนุนมากขึ้นในการคุ้มครองโลมาอิรวดีและสัตว์ทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์อื่น ๆ" ดร.จาง เสวี่ยเล่ย กล่าว
รูปภาพ: https://mma.prnewswire.com/media/1701876/Scientists_China_Thailand_observing_dugongs_dolphins_Libong_Island_Photo_Dr.jpg
คำบรรยายภาพ: คณะนักวิทยาศาสตร์จากจีนและไทยสังเกตการณ์พะยูนและโลมาบริเวณเกาะลิบง ภาพโดยดร.จาง เสวี่ยเล่ย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit