"มิตรปันสุข" ถุงยังชีพแสนพิเศษที่เป็นมากกว่าแค่ใช้ยังชีพชั่วคราว แต่ยังสร้างรายได้หมุนเวียนและอาชีพให้แก่ชุมชนท้องถิ่น

17 Dec 2021

ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 2 ปี ส่งผลให้หลายชีวิตต้องเผชิญหน้ากับความทุกข์ยาก บ้างเจ็บป่วย บ้างต้องขาดรายได้เป็นระยะเวลานาน และอาจจะต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่งเพื่อให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว แต่ถึงแม้ว่าสถานการณ์จะยากลำบากหรือหนักหนาเพียงใด วิกฤติครั้งนี้ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ให้เราเห็นถึงน้ำใจของคนไทยที่ไม่เคยขาดสาย ผ่านการส่งมอบความช่วยเหลือต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความช่วยเหลือในด้านสาธารณสุข หรือด้านเศรษฐกิจ จากทุกภาคส่วนที่ร่วมมือด้วยความมุ่งหวังเดียวกัน นั่นคือให้ช่วยคนไทยก้าวผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปให้ได้

"มิตรปันสุข" ถุงยังชีพแสนพิเศษที่เป็นมากกว่าแค่ใช้ยังชีพชั่วคราว  แต่ยังสร้างรายได้หมุนเวียนและอาชีพให้แก่ชุมชนท้องถิ่น

การช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนที่พบเห็นได้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้นมีอยู่หลากหลายรูปแบบ "ถุงยังชีพ" นับเป็นอีกหนึ่งวิธีการช่วยเหลือแบบเร่งด่วนที่องค์กรและหน่วยงานต่าง ๆ สามารถแบ่งปันเครื่องอุปโภคบริโภคพื้นฐานเพื่อเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติ COVID-19 โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่ต้องกักตัว ขาดการจ้างงาน หรือต้องขาดรายได้จากผลกระทบทางเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับกลุ่มมิตรผล ที่ได้จัดทำถุงยังชีพโครงการ "มิตรปันสุข" ภายใต้แนวคิด "แบ่งปันให้คนไทยได้ท้องอิ่ม ยิ้มได้ ใจสู้ต่อ" ด้วยความมุ่งมั่นที่จะแบ่งปันถุงยังชีพที่ไม่เพียงแต่ช่วยบรรเทาปัญหาเรื่องปากท้องเพียงชั่วคราวเท่านั้น แต่ยังสามารถเยียวยาเศรษฐกิจในชุมชนให้ดีขึ้นได้ในเวลาเดียวกัน

นางสาวกรรณิกา ว่องกุศลกิจ ผู้อำนวยการด้านพัฒนาชุมชนเพื่อความยั่งยืน กลุ่มมิตรผล เปิดเผยถึงจุดเริ่มต้นของโครงการนี้ว่า "มิตรปันสุข ภายใต้การดำเนินงานของกองทุนมิตรผล-บ้านปู รวมใจช่วยไทยสู้ภัย COVID-19 เป็นความตั้งใจของกลุ่มมิตรผลที่ต้องการช่วยเหลือกลุ่มคนเปราะบางและผู้ที่ประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจจากสถานการณ์ COVID-19 ให้มีเครื่องอุปโภคบริโภคเพื่อยังชีพเฉพาะหน้าได้อย่างรวดเร็ว แต่ในขณะเดียวกันเรายังต้องการสร้างความยั่งยืนพร้อมต่อชีวิตให้ชุมชนด้วยการกระจายรายได้ให้แก่กลุ่มคนเหล่านี้ในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังซบเซา จากแนวคิดดังกล่าว จึงเกิดเป็นความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายในการจัดทำและส่งมอบถุงยังชีพ มิตรปันสุข ที่นอกจากจะเต็มไปด้วยเครื่องอุปโภคบริโภคและยาสามัญพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตแล้ว ยังสามารถสร้างอาชีพและรายได้ให้กับชุมชนที่เราดูแลอยู่ได้อีกทางหนึ่ง โดยกลุ่มมิตรผลได้คัดสรรสินค้าคุณภาพดีที่ผลิตภายในชุมชนเองมาบรรจุลงในถุง และให้ชุมชนช่วยกันตัดเย็บถุงที่ทำจากกระสอบน้ำตาลมิตรผลรีไซเคิล ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียนในท้องถิ่น ที่คนได้รับก็อิ่มท้องและคนทำก็สามารถยิ้มได้ ช่วยสร้างรายได้และยังสุขใจที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือคนในชุมชนด้วยกันเอง"

ความพิเศษของถุงยังชีพ มิตรปันสุข มีที่มาที่เต็มไปด้วยเรื่องราวแห่งความสุข ความหวัง และรอยยิ้มของการแบ่งปัน ผ่าน 5 ผลิตภัณฑ์ตัวอย่างจากชุมชน ที่กลุ่มมิตรผลได้รวบรวมและส่งต่อไปยังผู้ที่ต้องการความช่วยเหลืออีกมากมาย

  1. ถุงยังชีพสุดเก๋จากกระสอบน้ำตาล ความพิเศษของถุงมิตรปันสุขอันดับแรก อยู่ตรงที่การนำกระสอบน้ำตาลมิตรผลรีไซเคิลคุณภาพดี มาผ่านฝีมือการตัดเย็บอย่างชำนาญและตั้งใจของกลุ่มแม่บ้านในชุมชนรอบ ๆ โรงงานน้ำตาลมิตรผลกว่า 10 กลุ่ม ใน 7 จังหวัด ที่มีทักษะด้านการเย็บผ้าเป็นทุนเดิมจากการเย็บผ้าส่งให้โรงงานน้ำตาล กลายเป็นกระเป๋ารูปทรงสวย ทนทาน และใช้งานได้ง่าย ส่งเสริมชุมชนให้มีรายได้เพิ่มจากการตัดเย็บกระเป๋าของโครงการมิตรปันสุข เกิดเป็นรายได้รวมกว่า 1,300,000 บาท
    "ปกติกลุ่มแม่บ้านจะเย็บผ้าดิบส่งให้โรงงานน้ำตาลค่ะ พอมีโครงการช่วยเหลือสังคมนี้ ทางโรงงานก็ให้ชุมชนช่วยเย็บกระเป๋าเพิ่ม จริงๆ มิตรผลเขาจะให้โรงงานกระเป๋าทำก็ได้ แต่เขาอยากให้ชุมชนมีรายได้ เลยเอามาให้ชุมชนทำค่ะ เราก็ดีใจนะ มีรายได้เพิ่มด้วย ก็ตั้งใจเย็บเต็มที่ ผู้ที่รับไปหลายคนชมว่าสวย อยากหาซื้อเลยค่ะ"
    นางวรรเพ็ญ ทุมทอง ตัวแทนกลุ่มเย็บผ้าจากจังหวัดสุพรรณบุรี บอกเล่าเรื่องราว
  2. น้ำพริกคุณยายแห่งบ้านบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี น้ำพริกเผาสูตรดั้งเดิม โดยกลุ่มคุณยายในชุมชนบ้านบางระจัน ที่แต่ก่อนกลุ่มคุณยายจะรวมตัวกันทำจำหน่ายเมื่อมียอดสั่งซื้อสำหรับงานบุญหรือโอกาสพิเศษต่าง ๆ ถือเป็นน้ำพริกเฉพาะกิจที่หาทานที่ไหนไม่ได้ แต่เมื่อมีวิกฤติ COVID-19 ทำให้ไม่สามารถจัดงานบุญ งานสังสรรค์ ส่งผลให้ยอดสั่งซื้อลดลงตามไปด้วย
    "ตอนนี้มีรายได้หมุนเวียนเพิ่มขึ้นประมาณ 100,000 บาท ได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ มีงานทำมีรายได้ไว้ใช้ด้วย ที่สำคัญได้ร่วมทำบุญ รู้สึกดีใจมาก ๆ ค่ะ" นางชอ้อน พุ่มประภา หนึ่งเสียงบอกเล่าจากตัวแทนกลุ่มน้ำพริกคุณยาย หลังจากได้รับยอดสั่งซื้อน้ำพริกเผากว่า 2,300 ชุด จากโครงการมิตรปันสุขของโรงงานน้ำตาลสิงห์บุรี ที่ทำให้กลุ่มคุณยายได้กลับมารวมตัวกันแบบ New Normal เพื่อทำน้ำพริกเผาด้วยรอยยิ้มอีกครั้ง
  3. กล้วยเขย่าจากจังหวัดสุพรรณบุรี สินค้าท้องถิ่นผลิตแบบโฮมเมดจากพื้นที่ตำบลหนองมะค่าโมง อำเภอด่านช้างของนายปราโมทย์ กาฬภักดี เกษตรกรชาวไร่อ้อยและทำสวนเกษตรผสมผสานที่ปลูกผักและผลไม้ไว้หลายชนิด โดยเฉพาะกล้วยที่สมัยก่อนตั้งใจปลูกไว้รับประทานเองหรือแจกจ่ายให้แก่เพื่อนบ้าน แต่เมื่อผลผลิตมีเยอะขึ้น จึงหันมาแปรรูปเป็นกล้วยฉาบจำหน่าย
    "แต่เดิมทำกล้วยฉาบส่งโรงเรียน และร้านโอทอป (OTOP) ประมาณเดือนละ 150 กิโลกรัม วัตถุดิบส่วนหนึ่งมาจากกล้วยของเราเอง แต่ถ้ามีคนสั่งมาก ต้องการมาก เราก็จะซื้อจากเพื่อนบ้านและซื้อกับชาวสวนเพิ่ม ตอนช่วงโควิด ปัญหาคือเราไม่มีที่วางจำหน่ายเพราะตลาดปิด อาศัยส่งตามร้านค้าเล็ก ๆ ในหมู่บ้านที่พอจะเปิดขายได้ พอได้ออเดอร์จากทางกลุ่มมิตรผลเพื่อทำแจกในถุงมิตรปันสุข เราจึงได้ทำส่งเยอะขึ้น มีคนรู้จักมากขึ้น กลายเป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจให้อยากทำกล้วยฉาบเป็นอาชีพที่สามารถสร้างรายได้ต่อไป" นายปราโมทย์ กล่าวเสริม
  4. ข้าวอินทรีย์หอมอร่อยจากบ้านหนองเด่น ตำบลสุขเดือนห้า จังหวัดชัยนาท คุณภาพดี ปลอดสารพิษ จากการดูแลและควบคุมการผลิตเองทุกขั้นตอนโดยนางรุ่งทิพย์ ศรีเดช เกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ปลูกข้าวอินทรีย์ควบคู่ไปกับการทำไร่อ้อย โดยจำหน่ายทั้งข้าวหอมมะลิ ข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอร์รี่ และข้าวกข.43 ที่ปกติจะจำหน่ายส่งให้โรงเรียน หรือส่งขายในกรุงเทพฯ แต่ในช่วงที่โควิดระบาดหนัก โรงเรียนปิดทำการ หลาย ๆ แห่งงดรับซื้อข้าว ทำให้สมาชิกชุมชนขาดรายได้ การมียอดสั่งซื้อข้าวจากโครงการมิตรปันสุขของกลุ่มมิตรผลเข้ามาจึงช่วยให้ชุมชนมีรายได้และเกิดความภาคภูมิใจที่ข้าวอินทรีย์จากบ้านหนองเด่นได้มีส่วนช่วยเหลือแบ่งปันในสังคมด้วยกัน
  5. แจ่วบองหนองแข้ บ้านจุมจัง จังหวัดกาฬสินธุ์ แจ่วบองสูตรต้นตำรับที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ตั้งแต่รุ่นปู่ย่า ตายาย แห่งบ้านจุมจัง ที่ริเริ่มทำรับประทานกันเองในครอบครัว จนพัฒนามาเป็นการรวมตัวกันเฉพาะกิจของกลุ่มสมาชิกชาวบ้านหนองแข้กว่า 10 คน เพื่อช่วยกันผลิตแจ่วบอง จำนวน 3,000 ชุด สำหรับบรรจุลงในถุงมิตรปันสุข เพื่อส่งต่อรสชาติต้นตำรับและความช่วยเหลือให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบ สร้างเงินหมุนเวียนในชุมชนกว่า 120,000 บาท

ทั้งหมดนี้เป็นเพียง 5 ตัวอย่างเรื่องราวของผลิตภัณฑ์ชุมชนที่กลุ่มมิตรผลได้รวบรวมอยู่ในถุงยังชีพ มิตรปันสุข ซึ่งเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ของเรื่องราวแห่งรอยยิ้ม ความสุข ความหวัง และแรงบันดาลใจ จากการได้เป็นส่วนหนึ่งในการแบ่งปันให้กับสังคม ในฐานะสมาชิกชุมชนที่ได้มีโอกาสเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับในคราวเดียวกันและภายในถุงยังชีพ มิตรปันสุขใบนี้ ยังคงมีเรื่องราวของการแบ่งปันความสุขให้สังคมจากคนในชุมชนสู่ชุมชนอีกมากมาย อาทิ การรวมตัวกันของเยาวชนบ้านโนนสวรรค์ อำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ ที่ใช้เวลาว่างหลังจากเล่นตะกร้อ หันมาช่วยกันทำไข่เค็ม กลุ่มปลาแปรรูป บ้านโพธิ์ตาก จังหวัดขอนแก่น หรือกลุ่มชาชงสมุนไพร บ้านลาดใต้ จังหวัดเลย ที่ร่วมแรงร่วมใจกันผลิตชากระชาย สมุนไพรยอดนิยมในยุค COVID-19 เพื่อเติมเต็มทุกความหวังลงในถุงยังชีพ มิตรปันสุขนี้ และร่วมกันส่งต่อกำลังใจให้ผู้รับสามารถลุกขึ้นสู้วิกฤติครั้งนี้ต่อไปด้วยกันได้อีกครั้ง

ทั้งนี้ โครงการมิตรปันสุข โดยกลุ่มมิตรผล และกองทุนมิตรผล-บ้านปู รวมใจช่วยไทย สู้ภัย COVID-19 มีเป้าหมายที่จะช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤติ COVID-19 ด้วยการมอบถุงยังชีพเครื่องอุปโภคบริโภคจำนวนกว่า 42,000 ชุด ให้คนไทยได้ท้องอิ่ม ยิ้มได้ ใจสู้ต่อในยามนี้ รวมถึงส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่จำเป็นชุดใหญ่ ให้แก่กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึง ทั้งกลุ่มคนเปราะบาง เยาวชน คนไร้บ้าน แรงงานที่ขาดรายได้ ผู้ป่วย COVID-19 และผู้ที่ต้องกักตัว ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยบรรจุเครื่องอุปโภค บริโภค ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่จัดซื้อในชุมชน สนับสนุนให้เกิดเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียนในท้องถิ่นกว่า 6.5 ล้านบาท กระจายรายได้สู่ 30 กลุ่มอาชีพ ใน 7 จังหวัด ช่วยเสริมรายได้ สร้างกำลังใจ และเป็นแรงบันดาลใจ
ในการต่อยอดสู่อาชีพเสริมต่อไป

HTML::image(