ม.มหิดล - อภัยภูเบศร ร่วมพัฒนาและปรับปรุงพืชสมุนไพร"บัวบก พันธุ์ศาลายา 1" เตรียมผลักดันสู่อุตสาหกรรมเวชสำอาง ส่งเสริมเศรษฐกิจไทย

16 Dec 2021

การพัฒนาพันธุ์พืชสมุนไพรเพื่อการส่งออก ถือเป็นหนึ่งในแผนการพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศตามโมเดลBCG (Bio-Circular-Green Economy Model) พ.ศ.2564 - 2570 ซึ่งต้องอาศัยการบูรณาการทั้งในส่วนของนักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ เกษตรกร ฯลฯ เพื่อการพัฒนาสู่เวชภัณฑ์คุณภาพ ที่จะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจชาติให้ก้าวสู่การเป็นประเทศนวัตกรรมได้ตามเป้าหมาย

ม.มหิดล - อภัยภูเบศร ร่วมพัฒนาและปรับปรุงพืชสมุนไพร"บัวบก พันธุ์ศาลายา 1" เตรียมผลักดันสู่อุตสาหกรรมเวชสำอาง ส่งเสริมเศรษฐกิจไทย

"บัวบก" เป็นหนึ่งในพืชสมุนไพรที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ประเภทยาจากสมุนไพร ในรูปแบบของยาครีมซึ่งมีฤทธิ์สมานแผล ซึ่งบัวบกเป็นพืชล้มลุกที่พบได้โดยทั่วไปในพื้นที่ชุ่มน้ำในเอเชีย โดยในประเทศไทยนิยมนำมาบริโภค เป็นทั้งผักและใช้เป็นยาสมุนไพร ด้วยความตระหนักถึงคุณค่าของพืชสมุนไพรชนิดดังกล่าว มหาวิทยาลัยมหิดล โดย คณะเภสัชศาสตร์ จึงได้ร่วมกับ มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร พัฒนาและปรับปรุงพืชสมุนไพรขึ้นเป็น "บัวบก พันธุ์ศาลายา 1" เพื่อพัฒนาโอกาสสู่การเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ของประเทศไทย

รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรสมภพ ประธานธุรารักษ์อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในฐานะผู้วิจัยหลักของโครงการวิจัยพัฒนาและปรับปรุงพืชสมุนไพรขึ้นเป็น"บัวบก พันธุ์

ศาลายา 1" ว่า โครงการวิจัยฯ ประสบความสำเร็จจากการพัฒนาและปรับปรุงสายพันธุ์บัวบก จากการทดลองทั้งในห้องปฏิบัติการ และลงพื้นที่ปลูกในแปลงทดลองในจังหวัดมหาสารคาม ด้วยการสนับสนุนทุนวิจัยจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ทุนวิจัยมหาบัณฑิต สกว. สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภายใต้โครงการที่เชื่อมโยงภาคการผลิตกับงานวิจัยทุนสกว. - อุตสาหกรรม และ มูลนิธิเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จนได้บัวบกสายพันธุ์ใหม่ที่ชื่อว่า"ศาลายา 1" ที่สามารถเพิ่มผลผลิตได้มากขึ้น จากการมีลักษณะใบที่ใหญ่ขึ้น และมีสารสำคัญในปริมาณที่มากขึ้นกว่าต้นแม่พันธุ์บัวบกตั้งต้นด้วย

ซึ่ง "Triterpenoids" หรือสารสำคัญที่อยู่ในบัวบกซึ่งมากด้วยคุณประโยชน์ทางยา จะพบมากที่สุดใน "บัวบก พันธุ์ศาลายา 1" ที่เก็บเกี่ยวในขณะอายุ 4 เดือน ในปริมาณร้อยละ 15.38 ในน้ำหนักแห้ง ซึ่งมีปริมาณสูงกว่าต้นแม่พันธุ์ ในสภาวะแปลงปลูกเดียวกัน โดยทีมวิจัยได้ใช้เทคนิคการเพิ่มชุดโครโมโซม และโคลนนิ่ง ด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจนได้พันธุ์บัวบกคุณภาพสูงที่ต้องการ และจะพัฒนาขึ้นเป็นเวชสำอางสมุนไพรสู่ภาคอุตสาหกรรมต่อไป

โครงการวิจัยพัฒนาและปรับปรุงพืชสมุนไพร "บัวบก พันธุ์ศาลายา 1" นอกจากเป็นผลผลิตจากงานวิจัยให้นักศึกษาปริญญาโทหลักสูตร Plant Science ซึ่งเป็นหลักสูตรร่วมของคณะเภสัชศาสตร์ และ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แล้ว ยังจะช่วยเพิ่มโอกาสพืชสมุนไพรดังกล่าวสู่พืชเศรษฐกิจตัวใหม่ของประเทศไทย ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) แห่งสหประชาชาติ ข้อที่ 9 ที่ว่าด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน (Industry, Innovation and Infrastructure) อีกด้วย

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2564 คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดงานเสวนาวิชาการ "บัวบก พันธุ์ศาลายา 1 โอกาสสู่พืชเศรษฐกิจตัวใหม่ของประเทศไทย" ร่วมเสวนาโดย รองศาสตราจารย์ เภสัชกรสุรกิจ นาฑีสุวรรณ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรสมภพ ประธานธุรารักษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลรองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรพิสิฐ เขมาวุฆฒ์ ดร. เภสัชกรหญิงสุภาภรณ์ ปิติพร เลขาธิการมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และ ดร.ผลบุญ นันทมานพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท คริมสัน คอนซัลติ้ง จำกัด

หัวข้อที่น่าสนใจ ได้แก่ "แนวทางการวิจัยผลิตภัณฑ์สมุนไพรบัวบกในยุค COVID-19" "การประยุกต์ใช้งานวิจัยบัวบกในโลก (โรค) หลัง COVID-19" "การพัฒนาบัวบก พันธุ์ศาลายา 1 เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ" และ "โอกาสและความท้าทาย

ทางการตลาดของบัวบก และแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากบัวบก พันธุ์ศาลายา 1"

ผู้สนใจสามารถติดตามได้ทาง Facebook : Faculty of Pharmacy, Mahidol University และ

ทาง YouTube : MUPharmacy Mahidol University