มจธ. พัฒนาศักยภาพคนพิการ สร้างอาชีพอิสระและรายได้ ภายใต้แบรนด์ "เฮ็ดดิ" และ "ทำ"นำร่องคนพิการ บ้านนางอย จ.สกลนคร

27 Dec 2021

"เห็ดนำโชค" หนึ่งในผลิตภัณฑ์หัตถกรรมที่มีความหมายถึงความเจริญเติบโตภายใต้แบรนด์ "เฮ็ดดิ"จากฝีมือการถักทอของกลุ่มคนพิการชุมชนบ้านนางอย ต.เต่างอย อ.เต่างอย จ.สกลนคร ที่ผ่านการอบรมในหลักสูตรการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมท้องถิ่น ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพคนพิการของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ซึ่งนอกจากเห็ดแล้วยังมีไม้เท้า สายรุ้ง กระถางต้นไม้ ปลอกสวมด้ามไม้กวาด กระเป๋าและเสื้อมัดย้อมสีธรรมชาติ ล้วนมาจากฝีมือของคนพิการที่ได้รับการบ่มเพาะทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติภายใต้หลักสูตรมาเป็นระยะเวลากว่า 6 เดือนตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ถึงธันวาคม 2564 โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการมาตรา 35 โดยคนพิการจะไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ นอกจากนี้ยังจะได้รับเบี้ยเลี้ยง อาหารกลางวัน และค่าเดินทางตลอดระยะเวลาในการฝึกอบรม

มจธ. พัฒนาศักยภาพคนพิการ สร้างอาชีพอิสระและรายได้ ภายใต้แบรนด์ "เฮ็ดดิ" และ "ทำ"นำร่องคนพิการ บ้านนางอย จ.สกลนคร

อาจารย์สุเมธ ท่านเจริญ ประธานโครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนพิการ มจธ. กล่าวว่า หลักสูตรการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมท้องถิ่น เป็นหนึ่งในสามหลักสูตรที่จัดขึ้นอยู่ภายใต้โครงการฝึกอบรมฝึกงานคนพิการฯ รุ่นที่ 8 เพื่อเพิ่มศักยภาพคนพิการ สำหรับคนพิการที่ต้องการทำงานอาชีพอิสระ และเป็นหลักสูตรนำร่องที่จัดอบรมในพื้นที่ต่างจังหวัดเป็นปีแรก จากเดิมที่จัดอยู่ภายในมหาวิทยาลัย และเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นอุปสรรคที่ทำให้ไม่สามารถลงพื้นที่ได้ จึงเป็นความท้าทายในการทำงาน แต่การดำเนินโครงการก็สามารถผ่านไปได้ด้วยดี

"หลักสูตรนี้มีความน่าสนใจตรงที่เป็นการทำงานร่วมกับชุมชนผ่านเครือข่ายในพื้นที่ ทั้งจากโรงพยาบาลเต่างอย และอสม.เต่างอย ช่วยพิจารณาคัดเลือกคนพิการในชุมชนเข้าร่วมอบรม และเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถลงพื้นที่ได้ แต่ได้รับความร่วมมือจากนักออกแบบผู้ที่มีความรู้และมีความสามารถด้านการออกแบบและหัตถกรรมในพื้นที่เข้าไปช่วยสอนคนพิการถึงในชุมชนตามหลักสูตรคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มจธ. เป็นผู้ออกแบบ ทำให้การทำงานผ่านไปได้ด้วยดี"

ผศ.วรนุช ชื่นฤดีมล อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มจธ. หัวหน้าโครงการฯ หลักสูตรการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมท้องถิ่น กล่าวว่า กลุ่มคนพิการที่เรียนในหลักสูตรนี้ จะได้เรียนเกี่ยวกับพื้นฐานความรู้ที่จำเป็น เช่น การออกแบบผลิตภัณฑ์เบื้องต้น การออกแบบชิ้นงาน การใช้สี การถ่ายภาพผลิตภัณฑ์ การสื่อสารกับลูกค้า การทำตลาด เช่น การคำนวณต้นทุน การตั้งราคา เป็นต้น ผู้เข้าร่วมโครงการครั้งนี้เป็นคนพิการที่เป็นผู้สูงอายุจึงใช้วิธีการถ่ายทอดความรู้ด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย ไม่เป็นวิชาการมากนัก และใช้สัญลักษณ์เข้ามาเพื่อช่วยให้จำได้ง่ายขึ้นด้วย

"ด้านงานถัก เราเลือกใช้ด้ายเส้นใหญ่ เลือกลายที่ง่ายที่สุด และถักลายเดียวกันหมด เพื่อให้ผู้สูงอายุเข้าใจพื้นฐานว่างานถักสามารถถักออกมาเป็นรูปทรงอะไรก็ได้ตามจินตนาการของเรา จากเห็ด เป็นไม้เท้า และสายรุ้ง โดยใช้สีย้อมธรรมชาติจากดอกฝักคูน ดอกดาวเรือง คราม และฝาง และฝึกฝนให้เขาเข้าใจการปรับขนาดงานถัก การย้อมสี จะทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ซึ่งในระยะแรกคนพิการก็บอกว่าทำไม่ได้แต่เมื่อได้ลงมือทำซ้ำๆ ในที่สุดก็ทำได้และทำออกมาได้สวยกว่าที่เราคิด บางคนเกิดไอเดียสร้างสรรค์อยากพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นรูปเต่า บางคนเริ่มคิดวิธีการแก้ปัญหาของตนเอง บางคนก็มีจินตนาการเรียนรู้ได้เร็ว"

ดร.บุษเกตน์ อินทรปาสาน อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มจธ. กล่าวเสริมว่า การทำงานครั้งนี้เป็นการลงพื้นที่ของอาจารย์และกลุ่มนักศึกษาจากคณะสถาปัตย์ฯ มจธ. โดยอาจารย์จะเป็นโค้ช นักศึกษาจะทำหน้าที่ออกแบบจากโจทย์การทำงานในพื้นที่จริง หรือ Social Lab มีเครือข่ายในพื้นที่เข้าร่วมสอน และมีคนพิการเป็นผู้ผลิต โดยในปีนี้มีคนพิการที่เข้าร่วมอบรมในหลักสูตรฯ ทั้งหมด 18 คน ประกอบด้วย คนพิการด้านร่างกาย เช่น หูไม่ได้ยิน สายตาเลือนราง และคนพิการทางด้านสมอง

"จากคนที่ไม่มีพื้นฐานงานถัก เริ่มถักจากงานง่ายๆ กับความคิดสร้างสรรค์ ถักงานที่ยากขึ้นกระทั่งได้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น กระเป๋าถัก พวงกุญแจรูปเห็ด ไม้เท้า และสายรุ้ง นอกจากนี้ยังมีปลอกสวมด้ามไม้กวาด ซึ่งเป็นการต่อยอดจากผลิตภัณฑ์ไม้กวาดเดิมที่มีอยู่แล้วในชุมชน ในวันนี้จึงได้นำผลิตภัณฑ์มาร่วมออกบูทและทดลองขายที่สวนแมนคราฟท์ในงานสกลจังซั่น ระหว่างวันที่ 10-12 ธันวาคม ที่ผ่านมา เนื่องจากเจ้าของสวนเป็นนักออกแบบที่มองเราเป็นเสี่ยว(เพื่อน)ในพื้นที่ และเล็งเห็นคุณค่างานศิลปหัตถกรรมของคนพิการ และเป็นการเปิดตัวครั้งแรกของผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์"เฮ็ดดิ" อีกด้วย ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้มาร่วมงานเป็นจำนวนมาก เพียงวันเดียวมียอดสั่งซื้อเข้ามาหลายร้อยชิ้น"

นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์จากผลงานการออกแบบของกลุ่มคนพิการในหลักสูตรการผลิตสื่อ/สิ่งพิมพ์ดิจิทัลภายใต้แบรนด์ "ทำ" ซึ่งได้นำไปจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าภายในบูทเช่นกัน และเป็นครั้งแรกที่มีการให้ผู้ชมงานได้ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกับคนพิการเจ้าของไอเดีย ผ่านระบบ zoom เป็นการเปิดประสบการณ์ และคุณค่าในการ sharing ที่สำคัญระหว่างคนพิการกับสาธารณะและลูกค้า นับเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ของงานที่ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงาน

"วันนี้เราขายเห็ดได้เยอะ เสื้อก็ขายได้ ปลอกไม้กวาดก็เริ่มขายได้ ส่วนพรุ่งนี้ก็ต้องดูว่าขายได้เพิ่มอีกไหม" เสียงที่แสดงความภาคภูมิใจในการขายผลิตภัณฑ์จากฝีมือคนพิการครั้งแรกของนางอัจฉรา คนุญาหงส์ อายุ 48 ปี คนพิการสายตาเลือนราง เธอกล่าวว่า "เดิมทำอาชีพนวดคลายเส้น แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิดทำให้ไม่สามารถออกไปประกอบอาชีพได้ จึงได้มาเข้าร่วมอบรม เดิมคิดว่าจากความพิการของตนเองจะเป็นอุปสรรคในการเรียนรู้และคิดว่าคงจะทำไม่ได้เพราะเป็นเรื่องของงานฝีมือ แต่ทางอาจารย์บอกว่าให้ลองทำไปเรื่อยๆ และอาจารย์ก็คอยมาดูมาสอน นอกจากนี้ยังได้เพื่อนๆ คนพิการช่วยเหลือกัน สิ่งที่ได้รับจากเข้าอบรมในหลักสูตรนี้ คือ รู้สึกดีที่ได้ออกมาสู่สังคมข้างนอก การได้เพื่อน และการที่เราได้รู้ว่ายังมีคนพิการอื่นๆ ไม่ใช่มีเพียงแค่เราคนเดียว"

ด้านนางสมใจ สีทิน อายุ 53 ปี คนพิการทางร่างกาย กล่าวว่า ปัจจุบันมีอาชีพปลูกมะเขือเทศส่งขายโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 3 พอได้เข้ามาร่วมอบรมในหลักสูตรนี้ รู้สึกดีมาก เพราะได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง ได้ความรู้ ได้เพื่อน ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน และยังสามารถสร้างรายได้เสริม ซึ่งตอนแรกยอมรับว่าค่อนข้างยาก แต่พอฝึกฝนบ่อย เริ่มจากถักปลอกไม้กวาด ต่อมาก็ถักเห็ด ตอนนี้สามารถทำได้หมด รวมถึงการทำเสื้อย้อมสีจากธรรมชาติใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น เวลาทำเราก็จะรวมกลุ่มกันทำ ซึ่งลวดลายที่ออกมาก็จะไม่ซ้ำกัน เช่น ลายก้นหอย นอกจากนี้ยังมีสอนวิธีการคิดต้นทุน ตั้งราคาขาย หักค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้วจะได้กำไรเท่าไหร่ ซึ่งตอนแรกคิดว่าขายไม่ได้แต่พอทดลองมาขายแล้วก็ขายได้ ทำให้มีกำลังใจที่จะทำต่อไปรู้สึกภูมิใจมาก

อาจารย์สุเมธ กล่าวทิ้งท้ายว่า "สิ่งที่ มจธ. ทำคือเราพยายามที่จะเข้าใจคุณค่าที่มีอยู่ในตัวของคนพิการ คุณค่านั้นหมายถึง ภูมิปัญญา หรือทักษะเดิม และนำเอาคุณค่าเหล่านี้ มาสร้างแรงบันดาลใจ และต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่แล้วในชุมชนให้เป็นผลิตภัณฑ์ร่วมสมัยเกิดมูลค่าเพิ่มขึ้น และเราจะมองสังคมเป็นหลักมากกว่าเรื่องของรายได้ และเศรษฐกิจ ดังนั้น เราจึงพยายามดึงคุณค่านั้นมาทำให้ปรากฎแล้วคนพิการจะรู้สึกถึงคุณค่าที่อยู่ในตัวของเขา เห็นคุณค่าในตัวเอง ครอบครัวเห็นคุณค่า หมู่บ้านชุมชนหรือสังคมเห็นคุณค่า โดยหลังจากนี้มหาวิทยาลัยเตรียมต่อยอดขยายผลโครงการลักษณะนี้ออกไปทำในพื้นที่อื่นๆ เพิ่มขึ้น"

ทั้งนี้ โครงการพัฒนาศักยภาพคนพิการ เพื่อสร้างรายได้ และอาชีพอิสระ ในหลักสูตรการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมท้องถิ่น ได้มีการจัดพิธีปิดการอบรมขึ้นเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยมีอาจารย์สุชาติ เพริดพริ้ง ที่ปรึกษาอธิการบดี มจธ.กล่าวแสดงความยินดีและมอบเกียรติบัตรให้แก่คนพิการรุ่นที่ 1 จำนวน 18 คน ณ ศูนย์การเรียนรู้วิสาหกิจชุมชนบ้านนางอย-โพนปลาโหล อ.เต่างอย จ.สกลนคร

มจธ. พัฒนาศักยภาพคนพิการ สร้างอาชีพอิสระและรายได้ ภายใต้แบรนด์ "เฮ็ดดิ" และ "ทำ"นำร่องคนพิการ บ้านนางอย จ.สกลนคร