มูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด ร่วมกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และดีแทค (dtac) จัด โครงการคัดเลือกเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ประจำปี พ.ศ.2564 ครั้งที่ 13 ภายใต้แนวคิด "เกษตรสร้างสรรค์ สุขยั่งยืน" เพื่อเฟ้นหาเกษตรกรที่มีศักยภาพ พร้อมสนับสนุนและยกย่องเชิดชูเกษตรกรไทยที่มีแนวความคิด และการปฏิบัติด้านเกษตรอินทรีย์ โดยใช้องค์ความรู้ต่างๆ มาพัฒนาและต่อยอดเพิ่มมูลค่าให้ผลผลิต ทั้งยังสร้างความมั่นคงยั่งยืนให้แก่คุณภาพชีวิตของตนเอง สังคม และชุมชนโดยรอบ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐในเรื่องเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Bio-Circular-Green Economy : BCG)
นายบุญชัย เบญจรงคกุล ประธานกรรมการมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด กล่าวในฐานะผู้ริเริ่มโครงการว่า "ในปีนี้ โครงการคัดเลือกเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิดของเราได้เดินทางก้าวเข้าสู่ปีที่ 13 แล้ว ภายใต้หัวข้อ "เกษตรสร้างสรรค์ สุขยั่งยืน" โดยมุ่งเน้นให้เกษตรกรไทยได้รู้จักการทำการเกษตรแบบวิถีอินทรีย์ เพื่อมุ่งเน้นถึงการใช้ความคิดสร้างสรรค์เป็นแกนหลัก พร้อมผสมผสานนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ มาประยุกต์และปรับใช้ไปกับกระบวนการผลิต ตลอดจนนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สอดรับไปกับนโยบายของภาครัฐที่ว่าในเรื่องของเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Bio-Circular-Green Economy : BCG) พร้อมนำไปสู่การส่งออกผ่านช่องทางทางการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกภาคมิติ""ตลอด 12 ปีที่ผ่านมา โครงการเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด เริ่มต้นด้วยการค้นหาปราชญ์ทางเกษตรว่าด้วยทฤษฎีใหม่ของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ต่อด้วยโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยแดช อาทิ ต้นแบบกลุ่มเกษตรกรวิสาหกิจชุมชน และสหกรณ์การเกษตร เกษตรกรเจ้าของแผนธุรกิจสินค้าเกษตรออนไลน์ ไปถึงการส่งออกไปยังต่างประเทศโดยเกษตรกรเอง"
ด้าน นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กล่าวถึงแนวทางการดำเนินการต่างๆ ที่มีต่อภาคเกษตร ที่ทางกรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการขับเคลื่อนและการดำเนินงานตามวิสัยทัศน์ที่ว่า "เกษตรกรมีความเข้มแข็ง มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีรายได้เพิ่มขึ้น เพื่อให้เป็นไปตามนโยบาย และแผนงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับทางภาครัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อทำให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ดังจะเห็นได้จากการจัดกิจกรรมประกวด เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ที่มูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด ได้ดำเนินการจัดกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่อง การส่งเสริมการเรียนรู้โดยการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารแก่เกษตรกร ที่บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ได้ดำเนินการจัดอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรมาโดยตลอด จนเกิดเป็นโครงการคัดเลือกเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิดในปีนี้ โดยผมหวังว่าการร่วมมือกันของมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด รวมถึงดีแทค และกรมส่งเสริมการเกษตร นับจากนี้ไปจะส่งผลให้การพัฒนาภาคการเกษตรของไทย เกิดความเข้มแข็ง มั่นคง ยั่งยืน และก้าวไกลยิ่งๆ ขึ้นไป พร้อมทั้งช่วยทำให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีและมีความสุขอย่างแท้จริง"
ทางด้าน นายประเทศ ตันกุรานันท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเทคโนโลยี บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ได้กล่าวถึง เกษตรกรสร้างสรรค์ สุขยั่งยืน ไว้ว่า "เป็นแนวคิดหลักของการคัดเลือกเกษตรกรในปีนี้ มีความสำคัญและยึดโยงกับสภาพสังคมและเศรษฐกิจที่ท้าทายเป็นอย่างยิ่ง อันเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ดีแทคในฐานะผู้ให้บริการการสื่อสารอันถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญเศรษฐกิจดิจิทัล เราได้วางนโยบาย Digital Inclusion เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางดิจิทัล ผ่านการขยายโครงข่ายบนคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ ภายใต้แนวคิด "ดีทั่วดีถึง เพื่อชีวิตที่เท่าเทียม" ซึ่งประกอบไปด้วย 3 ภารกิจ ได้แก่ 1.สัญญาณอินเทอร์เน็ตเพื่อทุกคน (Good for All Connectivity) 2.การเข้าถึงบริการอย่างเท่าเทียม (Affordable and Accessible Services) และ 3.การเพิ่มทักษะดิจิทัล (Digital Upskilling) ทั้งนี้ ดีแทคจะยังเดินหน้าส่งเสริมให้ประเทศไทยดีทั่วดีถึง เพื่อชีวิตเท่าเทียม"
สำหรับเกษตรกรที่ได้รับรางวัลในปี 2564 ประกอบด้วยรางวัลชนะเลิศ "นายนราธิป ภูมิถาวร" เกษตรกรจากฟาร์มปูนาชญาดา จังหวัดสุโขทัย เกษตรกรผู้สร้างธุรกิจจากความชอบ เกิดเป็นธุรกิจปูนาอินทรีย์สร้างชีวิต"เกษตรกรนักพัฒนาที่เริ่มต้นเลี้ยงปูนาด้วยความชอบต่อยอดเป็นธุรกิจเลี้ยงปูนาอินทรีย์ สร้างอาชีพโดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเลี้ยงปูนาระบบปิด (GAP) ได้ผลผลิตที่สะอาดปลอดภัย และใช้ระบบโซลาร์เซลล์ในการควบคุมการปล่อยน้ำให้เหมือนฤดูฝน เพื่อให้ได้ผลผลิตตลอดปี เพิ่มมูลค่าปูนาอินทรีย์สู่การแปรรูปผลิตภัณฑ์ ทั้งปูนาดอง น้ำพริกปูนา ปลาร้าปูนา น้ำปลาปูนา กะปิปูนา มันปูสด จนประสบความสำเร็จในประเทศและขยายช่องทางการจัดจำหน่ายไปยังต่างประเทศ สร้างรายได้ให้เกษตรกรในเครือข่าย กระจายรายได้สู่ชุมชน นำไปสู่ความยั่งยืนให้กับอาชีพเลี้ยงปูนาจากรุ่นสู่รุ่น"
รองชนะเลิศอันดับ 1 "จิรภัทร คาดีวี" เกษตรกรจากแสนบุญฟาร์ม จังหวัดกาฬสินธุ์ วิศวกรหนุ่มผู้ผันตัวมาเป็นเกษตรกร สร้างผลผลิตทางการเกษตร ส่งออกผักสลัด น้ำพริกกุ้งสมุนไพร และกุ้งก้ามกราม"เกษตรกรนักวิทยาศาสตร์ที่ตั้งใจกลับบ้านเกิดมาทำเกษตรอินทรีย์ ด้วยความมุ่งมั่นให้คนในครอบครัวและชุมชนได้ทานอาหารปลอดสารพิษ จึงนำเอาวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยในการทำเกษตร ทั้งการปรุงดิน ทำน้ำหมัก รวมถึงนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในโรงเรือนเพาะปลูก ควบคุมระบบน้ำผ่านรีโมต พร้อมอำนวยความสะดวกสบายในโรงเรือน จนได้ผลผลิตที่ได้มาตรฐานและมีคุณภาพ ได้แก่ ผักสลัด น้ำพริกกุ้งสมุนไพร และกุ้งก้ามกราม อีกทั้งยังพัฒนาฟาร์มให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้การทำเกษตรสมัยใหม่ เพื่อให้ผู้สนใจได้เข้าศึกษาดูงาน พร้อมพาชุมชนไปสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง"
และรองชนะเลิศอันดับ 2 "ธนวัฒน์ มโนวชิรสรรค์" เกษตรกรจากสวนบ้านแม่ จังหวัดพังงา เกษตรกรผู้สานต่อความฝันของแม่ นำภูมิปัญญาเก่าผสมผสานกับเทคโนโลยีใหม่ เกิดเป็นธุรกิจส่งออกมังคุดออร์แกนิก"เกษตรกรนักออกแบบที่กลับบ้านเกิดมาดูแลความฝันของแม่ พร้อมยกระดับคุณค่าของอาชีพเกษตรกร ด้วยการผสานภูมิปัญญาเก่าและเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าไว้ด้วยกัน ก่อเกิดเป็นมังคุดออร์แกนิก สะตอฝัก และต่อยอดไปอีกขั้นด้วยการแปรรูปไปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น น้ำมังคุดสกัดเย็น มังคุดกวน มะม่วงเบาแช่อิ่ม พร้อมพัฒนานำเอาความรู้จากการออกแบบที่ได้ศึกษามา มาต่อยอดสร้างมูลค่าผ่านการสร้างสรรค์บรรจุภัณฑ์อันเป็นเอกลักษณ์ ก่อเกิดเป็นลายจักรสานที่งดงาม สะท้อนความเป็นไทยได้อย่างลงตัว"
เกษตรกรดีเด่น1. นภัสวรรณ เมณะสินธุ์ เกษตรกรจากสวนเบญจมาศนภัสวรรณ จังหวัดอุบลราชธานี2. อิสมาแอล ลาเต๊ะ เกษตรกรจากสวนนูริสฟาร์ม จังหวัดยะลา3. ภิญญา ศรีสาหร่าย เกษตรกรจากฟาร์มฝันแม่ เกษตรอินทรีย์ จังหวัดราชบุรี4. ภัทรฤทัย พรมนิล เกษตรกรจากนพรัตน์ฟาร์ม จังหวัดนครพนม5. พิริยากร ลีประเสริฐพันธ์ เกษตรกรจาก GardenThree จังหวัดหนองคาย6. รัฐรินทร์ สว่างสาลีรัฐ เกษตรกรจากไร่ดีต่อใจ จังหวัดสระแก้ว7. มโนธรรม ชูแสง เกษตรกรจากบ้านไร่ ชายน้ำ ฟาร์มนก จังหวัดสุราษฎร์ธานี
เกี่ยวกับ เวทีคัดเลือกเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด"เวทีคัดเลือกเกษตกรสำนึกรักบ้านเกิด" เป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการสำนึกรักบ้านเกิด เพื่อพัฒนาผู้นำชุมชน ด้วยปณิธานหวังปลุกจิตสำนึกการพัฒนาบ้านเกิดเมืองนอนแก่เยาวชนของผู้ก่อตั้ง คุณบุญชัย เบญจรงคกุล ทั้งนี้ การคัดเลือกฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อเฟ้นหา สนับสนุน และยกย่องเชิดชูเกษตรกรที่มีศักยภาพในการเป็นต้นแบบสำหรับเกษตรกรยุคใหม่ ที่มีวิธีคิดอย่างเป็นระบบ สามารถนำบทเรียนต้นแบบไปประยุกต์และปฏิบัติให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ปรับตัวกับกระแสการเปลี่ยนแปลง พึ่งพาตนเองได้ พร้อมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ เพื่อเป็นการตอกย้ำอุดมการณ์สำนึกรักบ้านเกิดและแสดงถึงความมุ่งมั่นในการตอบแทนคุณแผ่นดินของมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิดและองค์กรภาคีในการส่งเสริม สนับสนุน ยกระดับเครือข่ายเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิดให้มีความพร้อมในการเป็นผู้ประกอบการเกษตร ที่สำคัญ เพื่อเผยแพร่ผลงานและความสำเร็จของเกษตรกรต้นแบบสำนึกรักบ้านเกิดสู่สาธารณชน ให้เกิดการยอมรับและเป็นแรงบันดาลใจในการดำเนินชีวิตและประกอบการเกษตร
เกณฑ์การคัดเลือกคณะกรรมการฯ จะพิจารณาจากองค์ประกอบ 4 มิติ ได้แก่1.คุณสมบัติส่วนบุคคล (Farmer) เป็นเกษตรกรอินทรีย์ หรือ วิถีอินทรีย์ ที่มีอายุ 18 - 50 ปี และมีสัญชาติไทย มีทักษะความรู้ด้านการเกษตร และสามารถถ่ายทอดประสบการณ์ได้2.คุณสมบัติด้านการเกษตรอินทรีย์ (Agri Organic) ทำเกษตรอินทรีย์ครบในด้านสุขภาพ ด้านนิเวศวิทยา ด้านความเป็นธรรม และด้านการดูแลเอาใจใส่ 3.คุณสมบัติด้านความสร้างสรรค์ (Creative) สามารถนำเอาภูมิปัญญาดั้งเดิม องค์ความรู้สมัยใหม่ เทคโนโลยี และหลักการตลาด มาต่อยอดและปรับใช้เพื่อพัฒนาและสร้างแบรนด์สินค้าและผลิตภัณฑ์4.คุณสมบัติด้านความยั่งยืน (Sustainability) มีการรวมกลุ่มและการพัฒนาศักยภาพของชุมชน พร้อมสร้างอาชีพ สร้างรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืนให้กับตนเองและคนในชุมชน พร้อมต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ผลการตัดสินการคัดเลือก "เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด พ.ศ.2564"ผู้ที่ได้รับรางวัลจะต้องสามารถเป็นต้นแบบสำหรับเกษตรกรยุคใหม่ที่มีวิธีคิดอย่างเป็นระบบ สามารถนำบทเรียนไปประยุกต์และปฏิบัติให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ปรับตัวเข้ากับกระแสการเปลี่ยนแปลง สามารถพึ่งพาตนเอง และพร้อมสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชนอย่างยั่งยืน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit