กสร. ร่วมกับ NGOs ยกระดับการคุ้มครองแรงงาน ขจัดปัญหาค้ามนุษย์ ปลดล็อค Tier 2 Watch list

22 Dec 2021

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) จัดอบรมโครงการสานสัมพันธภาพการทำงานร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) เพื่อยกระดับการคุ้มครองแรงงาน รุ่นที่ 2 ทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย แก้ปัญหาค้ามนุษย์ด้านแรงงานและการบังคับใช้แรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ

กสร. ร่วมกับ NGOs ยกระดับการคุ้มครองแรงงาน ขจัดปัญหาค้ามนุษย์ ปลดล็อค Tier 2 Watch list

นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี 2564 โดยจัดให้ประเทศไทยอยู่ในระดับเทียร์ 2 ซึ่งต้องจับตามอง (Tier 2 Watch List) กระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่ดูแลในเรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์โดยตรง และนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ต่างมีความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงาน กสร. จึงได้จัดโครงการสานสัมพันธภาพการทำงานร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) เพื่อยกระดับการคุ้มครองแรงงาน รุ่นที่ 2 ตอกย้ำว่ารัฐบาลไทยยังคงเดินหน้าแก้ไขปัญหาและพัฒนากระบวนการทำงานเพื่อขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ในทุกมิติอย่างต่อเนื่อง โดยปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 กระทรวงแรงงานได้กำหนดให้ยกระดับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน เพื่อปลดล็อค Tier 2 Watch List เป็นนโยบายสำคัญที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องและจริงจัง แม้จะอยู่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) เพื่อปกป้องคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามหลักสิทธิมนุษยชนและหลักมนุษยธรรมที่ได้ให้ความสำคัญมาโดยตลอด เพื่อขจัดการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงานในทุกรูปแบบให้หมดไปในที่สุด

อธิบดี กสร. กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้เข้ารับการอบรมประกอบด้วย เจ้าหน้าที่รัฐ (กระทรวงแรงงาน) จำนวน 30 คน และบุคลากรขององค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) จำนวน 20 คน รวมจำนวนทั้งสิ้น 50 คน ซึ่งได้รับการสนับสนุนวิทยากรจากองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) จำนวน 2 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานกฎหมายเอส อาร์ (SR Law) และมูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (MAP) เชียงใหม่ วิทยากรภาครัฐจากกรมการจัดหางาน กองนิติการ และกองคุ้มครองแรงงาน โดยมีผู้แทนจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) เข้าร่วมสังเกตการณ์การอบรมในครั้งนี้ด้วย การอบรมจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22 - 23 ธันวาคม 2564 ณ ห้องเบญจสิริ 1 ชั้น 5 โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ สุขุมวิท 20 กรุงเทพมหานคร โดยมุ่งหวังพัฒนาเจ้าหน้าที่ให้มีความรู้ความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน เสริมสร้างความสัมพันธ์อันดี รวมทั้งมีรูปแบบการปฏิบัติงานและแนวทางการประสานความร่วมมือในการทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย สามารถบูรณาการการทำงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานและการบังคับใช้แรงงานหรือบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด