คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาฯ ร่วมมือทางวิชาการเปิดหลักสูตรควบข้ามระดับทันตแพทยศาสตรบัณฑิตและสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาฯ เป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อเสริมสร้างความรู้ความสามารถของบัณฑิตทันตแพทย์ด้านการบริหารงานสาธารณสุข รวมทั้งสร้างความร่วมมือในการผลิตงานวิจัยด้านทันตสาธารณสุขและสาขาที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขของประเทศรวมทั้งเสริมสร้างสุขภาพโดยรวมของประชาชนอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างความร่วมมือในการดำเนินกิจกรรมด้านวิชาการอื่นๆ ที่ส่งเสริมการพัฒนาด้านสาธารณสุขในระดับชุมชน ระดับชาติและนานาชาติเพื่อส่งเสริมศักยภาพของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศและภูมิภาคที่มุ่งมั่นผลิตบัณฑิตที่มีความเป็นเลิศทางวิชาการและวิจัย
ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ เปิดเผยว่า ความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้เป็นการเสริมสร้างศักยภาพของบัณฑิตทันตแพทย์จุฬาฯ ให้มีความรู้ความสามารถด้านสาธารณสุข ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาด้านทันตสาธารณสุขเพื่อประโยชน์ของประชาชนและสังคมอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นหลักสูตรควบข้ามระดับทันตแพทยศาสตรฺหลักสูตรแรกในประเทศไทย โดยมีการบูรณาการข้ามศาสตร์และควบข้ามระดับปริญญาตรีและโท สามารถสำเร็จการศึกษาทั้งสองปริญญาได้ในระยะเวลา 6 ปี นับเป็นก้าวสำคัญในการสร้างบัณฑิตทันตแพทย์แนวใหม่ที่จะมีบทบาทในการพัฒนาด้านสาธารณสุขของประเทศไทยในอนาคต นอกจากนั้ยังสร้างผลงานวิจัยที่ส่งเสริมการพัฒนาด้านสาธารณสุขทั้งในระดับชุมชน ระดับชาติ ไปจนถึงระดับนานาชาติ
ศ.ทพ.ดร.พรชัย จันศิษย์ยานนท์ คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า ผู้สำเร็จการศึกษาในหลักสูตรนี้จะใช้ระยะเวลาเพียง 6 ปี ได้ทั้งปริญญาตรีทันตแพทยศาสตร์ และปริญญาโทวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ในการเป็น ทันตแพทย์ที่พร้อมไปทำงานแก้ปัญหาด้านสาธารณสุขในพื้นชุมชน ตลอดจนทำงานวิจัย และรองรับความต้องการทันตแพทย์ในระบบสาธารณสุขที่ยังประสบปัญหาเรื่องการกระจายทันตแพทย์ไปสู่ภูมิภาคต่างๆ "ภาพรวมของประเทศไทย ทันตแพทย์ 1 คน ดูแลประชาชน 6,000 คน แต่ในบางภูมิภาค เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทันตแพทย์ 1 คน ต้องดูแลประชาชนถึง 10,000 คน นับว่าสูงมาก ความร่วมมือของหลักสูตรควบข้ามนี้จะช่วยสร้างทั้งทันแพทย์นและนักวิจัยในคนเดียวกัน รวมถึงเป็นการค้นหานิสิตทันตแพทย์ที่สนใจงานด้านสาธารณสุขจริงๆ เพื่อออกไปทำงานด้านทันตสาธารณสุขในชุมชนและท้องถิ่น สามารถนำความรู้ด้านสาธารณสุขที่มีมุมมองกว้างมากขึ้นมาทำการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาให้ประชาชนในท้องถิ่นได้ ซึ่งเป็นการยกระดับมาตรฐานบริการด้านทันตสุขภาพของประเทศ และเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมสร้างสุขภาพโดยรวมของประชาชนอย่างยั่งยืน หลักสูตรนี้จะเริ่มดำเนินการในภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2565 สามารถรับนิสิตได้ 5 - 10 คนต่อปี" ศ.ทพ.ดร.พรชัย กล่าว
ศ.ดร.สถิรกร พงศ์พานิช คณบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาฯ กล่าวว่า การผลิตบัณฑิตในหลักสูตรควบข้ามระดับทันตแพทยศาสตรบัณฑิตและสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต เป็นการผลิตทันตแพทย์ที่มีความสามารถในการดูแลชุมชนไปด้วยในเวลาเดียวกัน บัณฑิตในหลักสูตรจะมีมุมมองเกี่ยวกับชุมชนได้ครบทุกมิติ เป็นการเสริมการทำงานระดับสาธารณสุข และการทำงานวิจัยให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการพัฒนาบัณฑิตจุฬาฯ ให้เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีความพร้อมทั้งเรื่องการรักษาฟัน และการดูแลประชาชนหรือประชากรในชุมชนของประเทศได้อีกด้วย
ศ.ดร.สถิรกร กล่าวเพิ่มเติมว่า "สาธารณสุขศาสตร์เป็นสหสาขาที่เกี่ยวข้องกับทุกศาสตร์และทุกภาคส่วน ผู้ที่เข้ามาเรียนต้องเป็นผู้ที่ค่อนข้างเปิดกว้างต่อสังคม มีความรู้สึกที่อยากจะช่วยเหลือสังคม ช่วยเหลือผู้อื่น รวมถึงชุมชน หลักสูตรนี้จะช่วยหล่อหลอมให้นิสิตเห็นว่าการช่วยเหลือสังคมมีผลดีอย่างไร เพื่อที่จะได้เข้าใจชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีความรู้ในเรื่องการบริหารจัดการ การทำวิจัย เพื่อนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาให้กับชุมชนได้"
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit