รองอธิบดี กสร. ชี้แจงกรณีเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชนนำแรงงานต่างด้าวมาร้องเรียนที่กระทรวงแรงงาน โดยแรงงานต่างด้าว 7 คน ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวไปสอบสวน ยืนยันว่ากระทรวงแรงงานไม่เลือกปฏิบัติจัดมาตรการดูแลเยียวยานายจ้าง ผู้ประกอบการ ผู้ใช้แรงงาน อย่างเท่าเทียม
เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 นายวรรณรัตน์ ศรีสุขใส รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยว่า จากการที่ น.ส.ธนพร วิจันทร์ แกนนำเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน นำแรงงานต่างด้าวกัมพูชาจำนวนกว่า 30 คน มาร้องเรียนที่กระทรวงแรงงานเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมาและเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินคดีนั้น ขอชี้แจงว่า ในแต่ละวันมีประชาชนมาติดต่อราชการที่กระทรวงแรงงานเป็นจำนวนมาก การที่ น.ส.ธนพร วิจันทร์ นำกลุ่มแรงงานต่างด้าวเข้ามาภายในกระทรวงแรงงาน เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งมีหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยภายในบริเวณกระทรวงแรงงาน ได้พบเห็นการรวมตัวของกลุ่มแรงงานต่างด้าว จึงได้ตรวจสอบตามหน้าที่พบว่า แรงงานต่างด้าว จำนวน 7 คน ไม่มีเอกสารประจำตัวใด ๆ จึงได้นำตัวไปสอบสวนที่ สน.ดินแดง ส่วนที่เหลือมีเอกสารครบถ้วน ตำรวจจึงได้ปล่อยตัวไป ต่อมาภายหลังมีการตรวจโควิด-19 พบว่า มีแรงงานต่างด้าว จำนวน 2 คน มีผลตรวจโควิด-19 เป็นบวกอีกด้วย
นายวรรณรัตน์ กล่าวต่อว่า จากการตรวจสอบพบว่าแรงงานต่างด้าวทั้ง 7 คน ไม่มีคุณสมบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2564 อาทิ ไม่มีนายจ้าง ไม่มีเอกสารประจำตัวใด ๆ อีกทั้ง มติ ครม. ดังกล่าว ยังไม่มีประกาศของกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงแรงงานมารองรับ จึงยังไม่มีผลบังคับใช้ นอกจากนั้นจากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่พบว่า เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชนไม่ได้จดทะเบียนกับหน่วยงานของรัฐให้ถูกต้องตามกฎหมาย เหมือนองค์กรอื่น ๆ แต่อย่างใด อีกทั้งพบว่า ที่ผ่านมาองค์กรนี้ยังได้รับการสนับสนุนการดำเนินการจากกลุ่มการเมืองบางกลุ่ม รวมทั้งมีพฤติการณ์ในการดำเนินการชักชวน รวมกลุ่ม เพื่อก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในสังคม ทั้งนี้ การนำกลุ่มผู้ใช้แรงงานโดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติไปเคลื่อนไหวเพื่อหวังผลทางการเมือง กลุ่มผู้ใช้แรงงานอื่น ๆ อาทิ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ก็ไม่เห็นด้วยกับการนำแรงงานข้ามชาติไปประท้วงในลักษณะที่สุ่มเสี่ยงต่อสิทธิเสรีภาพของแรงงานข้ามชาติ การที่องค์กรเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชนอ้างว่า กระทรวงแรงงานไม่ปฏิบัติตามอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) นั้น ในความเป็นจริงหลักการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้ใช้แรงงาน ผู้ใช้แรงงานเองจะต้องไม่กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายที่มุ่งดูแลความสงบเรียบร้อยของประเทศนั้น ๆ เช่นเดียวกันด้วย
ที่ผ่านมา รัฐบาล มีความห่วงใยนายจ้าง ผู้ประกอบการ ผู้ใช้แรงงาน โดยกระทรวงแรงงาน ได้จัดมาตรการดูแลเยียวยานายจ้าง ผู้ประกอบการ ผู้ใช้แรงงาน มาโดยตลอด สำหรับผู้ใช้แรงงานต่างด้าวนั้นคณะรัฐมนตรีได้มีมติถึง 3 ครั้ง ในการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว ให้สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีการดูแลคุณภาพชีวิต เยียวยาค่าจ้าง สนับสนุนอาหาร การตรวจ การฉีดวัคซีน และการรักษาโควิด-19 ทั้งนี้ เพื่อช่วยเหลือนายจ้าง ผู้ประกอบการ ผู้ใช้แรงงานให้ก้าวข้ามวิกฤตโควิด-19 และร่วมกันขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่อไป" นายวรรณรัตน์ กล่าวในท้ายสุด
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit