EXIM BANK เดินหน้าบทบาทธนาคารเพื่อการพัฒนา สนับสนุนสินเชื่อเพื่อการลงทุนและการค้าเพิ่มขึ้น รวมเป็นสินเชื่อคงค้าง 147,678 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 สร้างปริมาณธุรกิจ 137,605 ล้านบาท โดย 50,058 ล้านบาทหรือกว่า 36% เป็นธุรกิจ SMEs สินเชื่อคงค้างแก่โครงการลงทุนของไทยในต่างประเทศ โดยเฉพาะ CLMV เพิ่มขึ้นกว่า 20% ส่งผลให้ธนาคารมีกำไรก่อนสำรอง 1,789 ล้านบาทและกำไรสุทธิ 822 ล้านบาท ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 อีกทั้งมีบทบาทสำคัญและสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง โดยฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) คงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ EXIM BANK ที่ระดับสูงสุด "AAA(tha)/Stable" และระยะสั้นที่ระดับ "F1+(tha)" เป็นปีที่ 16 ติดต่อกัน
ดร. รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) แถลงผลการดำเนินงานในช่วงเดือนมกราคม-กันยายน 2564 ว่า แม้เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกจะยังได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 EXIM BANK ยังสามารถขยายบทบาทการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยทั้งด้านการเงินและไม่ใช่การเงินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 EXIM BANK มีสินเชื่อคงค้าง 147,678 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12,450 ล้านบาท หรือ 9.21% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2563 ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อเพื่อการลงทุน 110,806 ล้านบาท สะท้อนการขับเคลื่อน EXIM BANK สู่การเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนา (Development Bank) และอีก 36,872 ล้านบาทเป็นสินเชื่อเพื่อการค้า โดยการให้สินเชื่อทั้งหมดของ EXIM BANK ทำให้เกิดปริมาณธุรกิจ (Business Turnover) 137,605 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นปริมาณธุรกิจของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เท่ากับ 50,058 ล้านบาท หรือคิดเป็น 36.38%
ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 EXIM BANK มีวงเงินสะสมสนับสนุนสินเชื่อโครงการระหว่างประเทศรวมทั้งสิ้น 102,296 ล้านบาท โดยเป็นสินเชื่อคงค้างจำนวน 65,650 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.43% หรือ 9,266 ล้านบาท เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2563 จากจำนวนนี้เป็นสินเชื่อคงค้างแก่ผู้ประกอบการไทยที่ขยายการส่งออกและการลงทุนไปยังกลุ่มประเทศ CLMV และตลาดใหม่ (New Frontiers) จำนวน 47,947 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.61% หรือ 8,193 ล้านบาท เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2563 สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของ EXIM BANK ในการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้รุกตลาดต่างประเทศ รวมทั้ง CLMV โดยเฉพาะเวียดนามซึ่งยังมีเสถียรภาพและอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19
ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันที่ผู้นำเข้าในต่างประเทศมีโอกาสชำระเงินล่าช้าหรือปฏิเสธการชำระเงินค่าสินค้า ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 EXIM BANK มีปริมาณธุรกิจด้านการรับประกันการส่งออกและการลงทุนเท่ากับ 134,876 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.74% หรือ 9,684 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะเดียวกัน EXIM BANK ได้สนับสนุนผู้ประกอบการทั้งในด้านการเงินและไม่ใช่การเงิน ด้วยการออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง โดยปรับลดอัตราดอกเบี้ย ขยายระยะเวลาการชำระเงิน และการพักชำระหนี้ รวมทั้งสนับสนุนด้านข้อมูลและความรู้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs สามารถปรับตัวและดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ผ่านการให้คำปรึกษาและจัดอบรม/สัมมนาออนไลน์ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 EXIM BANK ได้ช่วยเหลือทั้งด้านการเงินและไม่ใช่การเงินแก่ผู้ประกอบการประมาณ 10,800 ราย เป็นวงเงินรวมกว่า 68,500 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม โควิด-19 ยังมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ EXIM BANK มีอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวม (NPL Ratio) ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 อยู่ที่ 3.71% โดยมีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จำนวน 5,472 ล้านบาท แต่มีค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss) จำนวน 12,925 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง คิดเป็นอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Coverage Ratio) 236.19% โดย 9 เดือนแรกของปี 2564 EXIM BANK มีกำไรก่อนสำรองเท่ากับ 1,789 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 822 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 2,162 ล้านบาท จากผลขาดทุนสุทธิ 1,340 ล้านบาทของปี 2563 ทั้งนี้ คาดการณ์ผลการดำเนินงานสิ้นปี 2564 EXIM BANK จะมีกำไรไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท
บทบาทสำคัญของธนาคารและสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง มั่นคง และมีเสถียรภาพเห็นได้จากการที่ EXIM BANK ได้รับการจัดอันดับเครดิตโดยบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด คงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ EXIM BANK ที่ระดับสูงสุด "AAA(tha)" และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ระดับ "F1+(tha)" และมีแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ (Stable) เป็นปีที่ 16 ติดต่อกัน สำหรับอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวยังคงอยู่ที่ระดับ "BBB+" และมีแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ (Stable) ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตของรัฐบาลไทย
ปัจจุบัน EXIM BANK ยังคงมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs ซึ่งถือเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้กลับมาฟื้นตัวและเติบโตได้อย่างเข้มแข็ง โดยพัฒนาผลิตภัณฑ์และเครื่องมือทางการเงินและไม่ใช่ทางการเงินใหม่ ๆ อาทิ EXIM Biz Transformation Loan สนับสนุนการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพหรือขยายกำลังการผลิต นำไปสู่การยกระดับมาตรฐานสินค้าส่งออก อัตราดอกเบี้ยต่ำสุด 2% ต่อปี วงเงินกู้สูงสุด 100 ล้านบาทต่อราย ผ่อนชำระนานสูงสุด 7 ปี และสินเชื่อเอ็กซิมเพื่อ EEC และเครือข่ายนิคมอุตสาหกรรม สนับสนุนการลงทุนในพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) นิคมอุตสาหกรรม เขตเศรษฐกิจพิเศษ สวนอุตสาหกรรม เขตอุตสาหกรรมทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน และกลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับสิทธิบัตรจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ดอกเบี้ยต่ำสุด 3.25% ต่อปีสำหรับวงเงินกู้ระยะยาว และ 3.75% ต่อปีสำหรับวงเงินหมุนเวียน และสำหรับผู้ประกอบการทั่วไป ดอกเบี้ยต่ำสุด 3.00% ต่อปีสำหรับวงเงินกู้ระยะยาว และ 3.50% ต่อปีสำหรับวงเงินหมุนเวียน ระยะเวลาผ่อนชำระสำหรับวงเงินกู้ระยะยาวสูงสุด 10 ปี
"EXIM BANK ทำงานอย่างแข็งขันเพื่อพลิกวิกฤตเป็นทางรอดของผู้ประกอบการและทุกภาคส่วนในสังคม โดยใช้นโยบาย Dual-track Policy เชื่อมโยงการสนับสนุนการลงทุนเพื่อการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมเข้ากับการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศของผู้ประกอบการไทย เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนของผู้ประกอบการไทยทุกขนาดธุรกิจและทุกภาคอุตสาหกรรมใน Supply Chain การส่งออกสินค้าและบริการของไทยไปตลาดโลก ขณะเดียวกันเราไม่หยุดพัฒนาธุรกิจและบริการของธนาคาร ตลอดจนขยายความร่วมมือกับภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ภาคธุรกิจและประเทศไทยก้าวผ่านวิกฤตและเดินหน้าสู่อนาคตที่สดใสในโลก Next Normal ระยะข้างหน้า" ดร.รักษ์กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit