สถานการณ์การเช่าพื้นที่ค้าปลีกในเอเชียแปซิฟิกเป็นที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นในปีหน้า ท่ามกลางความต้องการขยายพื้นที่ของร้านค้าปลีกที่เห็นได้ชัด ขณะที่ร้านค้าปลีกไทยมีการเคลื่อนไหวในเชิงบวกเรื่องการเปิดหน้าร้านและกลยุทธ์การขยายสาขาในปี 2565
นางสาวจริยา ถ้ำตรงกิจกุล หัวหน้าแผนกพื้นที่ค้าปลีก ซีบีอาร์อี ประเทศไทย ให้ความเห็นว่า "ผู้พัฒนาโครงการและแบรนด์ชั้นนำมากมายในประเทศไทยกำลังให้ความสำคัญกับการสร้างประสบการณ์และปฏิสัมพันธ์กับลูกค้ามากกว่าที่ผ่านมา ธุรกิจค้าปลีกที่มาพร้อมกับการสร้างประสบการณ์ (Experiential retail) คือสิ่งที่สำคัญสำหรับทั้งผู้พัฒนาโครงการพื้นที่ค้าปลีกและผู้เช่าในการพัฒนาโครงการที่มีหน้าร้านจริงหรือแบบไฮบริด รูปแบบห้างสรรพสินค้าและร้านค้าในอนาคตจะถูกปรับเปลี่ยนเพื่อรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป นอกจากนี้ ซีบีอาร์อียังเห็นการเคลื่อนไหวในเชิงบวกของผู้ค้าปลีกในด้านกลยุทธ์การขยายสาขาในปี 2565 อย่างไรก็ตาม การขยายสาขาจะยังคงอยู่บนพื้นฐานของมาตรการที่มีการพิจารณาอย่างรอบคอบ เช่น ทำเลที่ตั้ง ตัวชี้วัดทางการเงิน และกลยุทธ์การขยายแบรนด์จากผลของนโยบายการเปิดประเทศในเดือนพฤศจิกายน"
ซีบีอาร์อีได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้ค้าปลีกมากกว่า 150 รายในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้ และพบว่าส่วนใหญ่ (65%) ต้องการขยายสาขาแบบมีหน้าร้าน โดยความต้องการที่เห็นได้ชัดที่สุดมาจากประเทศจีนและอินเดียที่ผู้ค้าปลีกมากกว่า 90% กำลังมองหาพื้นที่สำหรับขยายสาขา
ทำเลชั้นนำในห้างสรรพสินค้าใจกลางเมืองและถนนช้อปปิ้งสายหลักจะยังคงเป็นที่ต้องการอย่างมาก เนื่องจากผู้ค้าปลีกพยายามหาพื้นที่ที่มีคุณภาพ ท่ามกลางสภาวะค่าเช่าคงที่และการขาดแคลนพื้นที่ว่างในทำเลเหล่านี้
นอกจากนี้ การขยายพื้นที่ของผู้ค้าปลีกจะอยู่ภายในประเทศเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นระลอกใหม่ ๆ ยังคงส่งผลให้มีการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศเพื่อธุรกิจและการเดินทางเพื่อสำรวจพื้นที่จริง ซึ่งเป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับการขยายสาขาในต่างประเทศ ข้อกำหนดต่าง ๆ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดทำให้ผู้ค้าปลีกคาดว่าการฟื้นตัวด้านยอดขายจะขยับออกไปอีก 6-12 เดือน ณ ปัจจุบัน มีผู้ตอบแบบสำรวจของซีบีอาร์อีเพียง 10% เท่านั้นที่รายงานว่ายอดขายได้กลับมาอยู่ในระดับก่อนเกิดโรคระบาด
อย่างไรก็ตาม ผู้ค้าปลีกยังคงมองการฟื้นตัวในปี 2565 ในแง่บวก เนื่องจากคาดว่าการเดินทางจะทยอยเกิดขึ้นอีกครั้ง จากแบบสำรวจยังพบว่าผู้ค้าปลีกเกือบ 75% คาดว่ายอดขายจะปรับตัวดีขึ้นจากปี 2564 ในระดับปานกลางหรืออย่างมาก และเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับวัฎจักรการเติบโตรอบต่อไป ผู้ค้าปลีกหลายรายกำลังใช้โอกาสนี้เพื่อที่จะได้รับเงื่อนไขการเช่าที่ดี
"เนื่องจากตลาดการเช่าพื้นที่ค้าปลีกยังคงเป็นตลาดของผู้เช่า ร้านค้าปลีกที่ปรับตัวได้เร็วสามารถเจรจาต่อรองและจับจองทำเลหรืออัตราค่าเช่าที่ดีขึ้นได้ ในขณะเดียวกัน ร้านค้าปลีกก็สามารถเพิ่มความยืดหยุ่นและการคุ้มครองที่มากขึ้นเข้าไปในสัญญาเช่าใหม่ด้วย" นางสาวจริยากล่าวเพิ่มเติม
ความคิดเห็นของผู้ค้าปลีกเรื่องการคาดการณ์ในระยะยาวสำหรับหน้าร้านนั้นแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม โดยกลุ่มแรกมองว่าความต้องการหน้าร้านจะลดลง และอีกกลุ่มหนึ่งในสัดส่วนที่เท่ากันมองว่าความต้องการหน้าร้านจะยังมีอยู่ต่อไป ในอนาคตการมีหน้าร้านจะมีบทบาทมากขึ้นต่อเครือข่ายในการขนส่งสินค้าถึงมือลูกค้าควบคู่ไปกับการนำอีคอมเมิร์ซมาใช้ โดยประมาณ 70% ของผู้ตอบแบบสอบถามมองว่า การให้บริการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์และมารับที่หน้าร้าน (Click and Collect) จะกลายเป็นเรื่องปกติ และการสั่งซื้อออนไลน์จะได้รับการจัดการและจัดส่งสินค้าจากหน้าร้านมากขึ้น
ดาวน์โหลดรายงาน คลิก: Asia Pacific Retail Flash Survey 2021
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit