ออนโรบอตเปิดตัว WebLytics ซอฟต์แวร์โซลูชั่น เพื่อสนับสนุนการทำงานร่วมกันของหุ่นยนต์และมนุษย์อย่างเต็มประสิทธิภาพ

15 Nov 2021

WebLytics มอบความสามารถในการตรวจสอบระยะไกล การวินิจฉัยอุปกรณ์และการวิเคราะห์ข้อมูลที่ครอบคลุมให้กับกลุ่มผลิตภัณฑ์ฮาร์ดแวร์ระบบอัตโนมัติเพื่อการทำงานร่วมกับมนุษย์ของออนโรบอต

ออนโรบอตเปิดตัว WebLytics ซอฟต์แวร์โซลูชั่น เพื่อสนับสนุนการทำงานร่วมกันของหุ่นยนต์และมนุษย์อย่างเต็มประสิทธิภาพ

ออนโรบอต (OnRobot) แบรนด์ผู้นำเสนอเทคโนโลยีหุ่นยนต์เพื่อการทำงานร่วมกับมนุษย์แบบครบวงจร เปิดตัวซอฟต์แวร์ WebLytics โซลูชั่นเพื่อการตรวจสอบระยะไกล การวินิจฉัยอุปกรณ์ และการวิเคราะห์ข้อมูลในสายการผลิต ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อเสริมขีดความสามารถด้านการผลิตและลดช่วงเวลาการหยุดชะงักในระบบการผลิตให้น้อยที่สุด

WebLytics มอบความสามารถในการตรวจสอบประสิทธิภาพเครื่องมือเพื่อการทำงานร่วมกับมนุษย์หลายส่วนได้พร้อมกันแบบเรียลไทม์ ผ่านการรวบรวมข้อมูลของอุปกรณ์ทั้งจากตัวหุ่นยนต์และเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อเปลี่ยนสายการผลิตให้เป็นระบบการทำงานอัจฉริยะที่เข้าใจง่าย แสดงผลและตรวจสอบได้อย่างชัดเจน และทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ

"การเปิดตัว WebLytics ถือเป็นหลักชัยสำคัญทั้งสำหรับออนโรบอต ลูกค้าของเรา และเครือข่ายผู้บูรณาการระบบการทำงานทั่วโลก" มร.เอนริโก คร็อก ไอเวอร์เซน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร ออนโรบอต กล่าว "WebLytics เป็นซอฟต์แวร์โซลูชั่นรุ่นแรกที่สามารถมอบข้อมูลการทำงานของหุ่นยนต์กับมนุษย์ได้แบบเรียลไทม์ ซึ่งสามารถใช้งานครอบคลุมทุกอุปกรณ์หุ่นยนต์ของแบรนด์ใหญ่ ๆ ได้ทุกแบรนด์ โดย WebLytics ผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์รุ่นแรกนี้ถือเป็นก้าวแรกบนเส้นทางการพัฒนาซอฟตแวร์ของออนโรบอต และเติมเต็มวิสัยทัศน์ของเราในการนำเสนอแอปพลิเคชันการทำงานของหุ่นยนต์กับมนุษย์ได้แบบครบวงจร (One Stop Shop) ทั้งในส่วนฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์"

สำหรับผู้ใช้งานจริงหรือผู้ที่บูรณาการเข้ากับสายการผลิต WebLytics ไม่เพียงช่วยขจัดภาระการเก็บข้อมูลโดยมนุษย์ หากยังนำเสนอข้อมูลเชิงลึกที่นำไปใช้งานได้จริงทั้งในเรื่องประสิทธิภาพการทำงานของหุ่นยนต์ร่วมกับมนุษย์ ทำให้สามารถวินิจฉัยอุปกรณ์ได้ในขณะทำงาน สามารถแจ้งเตือนและกำหนดมาตรการซ่อมบำรุงเชิงป้องกันเพื่อลดช่วงเวลาการหยุดชะงักการทำงานของอุปกรณ์หุ่นยนต์ในสายการผลิตให้น้อยที่สุด

ด้วยความสามารถในการผสานการทำงานเข้ากับการวัดประสิทธิผลโดยรวมของเครื่องจักรในอุตสาหกรรม (Overall Equipment Effectiveness: OEE) ตามมาตรฐานต่าง ๆ ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ทำให้ WebLytics สามารถระบุถึงแนวโน้มต่าง ๆ ได้แบบเรียลไทม์ทั้งในส่วนเซลล์หุ่นยนต์ ตลอดจนรูปแบบการทำงาน ช่วงเวลางานหนาแน่น และการรบกวนขีดความสามารถในการทำงาน

WebLytics สามารถรายงานผลการใช้งานอุปกรณ์แขนหุ่นยนต์และอุปกรณ์อื่น ๆ ของออนโรบอตได้ รวมทั้งมือจับ กล้องตรวจจับ และเซ็นเซอร์ ตลอดจนระบุถึงจำนวนครั้งการหยุดทำงานเพื่อความปลอดภัยและจำนวนวงรอบการจับชิ้นส่วนที่ได้ดำเนินงานไปในระหว่างการปฏิบัติงาน อีกทั้ง WebLytics ยังใช้งานง่าย ราคาไม่สูง มุ่งเน้นประสิทธิภาพการทำงานและการตรวจสอบของผลิตภัณฑ์ออนโรบอตทุกรุ่น นอกจากนี้ ยังสามารถทำงานร่วมกับหุ่นยนต์เพื่อการทำงานกับมนุษย์และอุปกรณ์แขนหุ่นยนต์น้ำหนักเบาเพื่องานอุตสาหกรรมของแบรนด์ชั้นนำ รวมถึงเครื่องมือต่าง ๆ ของออนโรบอตได้ และด้วยความสามารถในการขยายขอบเขตการทำงาน ทำให้ WebLytics คือทางเลือกที่ดีเยี่ยมทั้งในวันนี้และอนาคตเมื่อต้องการใช้งานหุ่นยนต์ปละเครื่องมือใหม่ ๆ สำหรับการเข้าใช้งาน WebLytics สามารถทำได้ผ่านยูเซอร์อินเตอร์เฟซบนหน้าเว็บไซต์ที่มีความมั่นคงปลอดภัยสูง ซึ่งจะแสดงการวัดประสิทธิผลโดยรวมของเครื่องจักร (OEE) และดัชนีชี้วัดผลงาน (KPI) บนแผงควบคุมที่สามารถปรับแต่งได้ตามต้องการ เพื่อให้ผู้ใช้มองเห็นประสิทธิภาพการทำงานทั้งหมดได้ในทันทีแบบเรียลไทม์ มีความโปร่งใส และยังตรวจสอบประวัติการทำงานได้ทั้งหมด

เซิร์ฟเวอร์ WebLytics ยังสามารถใช้เป็นเครือข่ายในพื้นที่ปฏิบัติงานหรือเพิ่มเป็นส่วนหนึ่งในเครือข่ายการแสดงผลซึ่งเชื่อมต่อกับเซลล์หุ่นยนต์

"WebLytics คือส่วนเสริมการทำงานที่สมบูรณ์แบบให้กับกลุ่มผลิตภัณฑ์ของเรา และถือเป็นการพัฒนาครั้งสำคัญของออนโรบอตในการสร้างสรรค์เครื่องมือและเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย ซึ่งในนี้คือความสามารถในการตรวจสอบระยะไกล การวินิจฉัยอุปกรณ์ และการวิเคราะห์ข้อมูล ในระดับราคาที่เข้าถึงได้และใช้งานได้จริงสำหรับบริษัททุกขนาด" มร.เอนริโก คร็อก ไอเวอร์เซน กล่าวเสริม

WebLytics กำหนดเปิดให้ใช้งานทั่วโลกผ่านการลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป

โอกาสครั้งสำคัญของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ในประเทศไทย

ข้อมูลของสหพันธ์หุ่นยนต์นานาชาติ (International Federation of Robotics: IFR) ระบุว่าทวีปเอเชียเป็นตลาดหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของโลก คิดเป็น 71% ของหุ่นยนต์ที่พัฒนาใหม่ทั้งหมดของปี ค.ศ. 2020 โดยประเทศไทยจัดอยู่ที่อันดับ 13 ของโลก อันดับ 7 ของเอเชีย และอันดับ 2 ของอาเซียนในด้านจำนวนการติดตั้งใช้งานหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรมในปี ค.ศ.2020

กระทรวงอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกำหนดเป้าหมายให้ไทยเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติภายในปี ค.ศ. 2026 โดยนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2018 ถึง 2021 การลงทุนในเทคโนโลยีเหล่านี้มีมูลค่าสูงถึง 116 พันล้านบาท ข้อมูลของกระทรวงระบุว่า ปัจจุบันยังมีโรงงานเพียง 25% ที่ใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ทำให้ไทยยังมีโอกาสสูงมากสำหรับผู้ให้บริการเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ที่ต้องการเข้ามาทำตลาดในประเทศ

เกี่ยวกับออนโรบอต (OnRobot)

ออนโรบอตนำเสนออุปกรณ์ปลายแขนหุ่นยนต์เพื่อการทำงานร่วมกับมนุษย์หลากหลายประเภท ซึ่งรวมถึงมือจับระบบไฟฟ้า มือจับสุญญากาศ มือจับแม่เหล็ก รวมถึงมือจับเจ้าของรางวัลรุ่น Gecko Gripper เซ็นเซอร์รับแรงกระทำและแรงบิด อุปกรณ์มองภาพระบบ 2.5D Vision System อุปกรณ์ไขควง และอุปกรณ์สลับเครื่องมือรูปแบบต่าง ๆ  การนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายของออนโรบอตทำให้การทำงานของระบบอัตโนมัติมีความรวดเร็วและเรียบง่ายกว่าเดิม อาทิ งานบรรจุภัณฑ์ การควบคุมคุณภาพ การขนถ่ายวัสดุ การลำเลียงด้วยเครื่องจักร การประกอบชิ้นส่วน และการเคลือบพื้นผิว ปัจจุบัน บริษัทมีสำนักงานใหญ่ที่เมืองโอเดนเซ เดนมาร์ก นอกจากนี้ ยังมีสำนักงานทั้งในลอสแองเจลิส ดัลลัส โซสท์(เยอรมนี) บาร์เซโลนา วอร์ซอ เซี่ยงไฮ้ โตเกียว โซล สิงคโปร์ และบูดาเปสต์ ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ www.onrobot.com