"No music, no life"
เสียงดนตรี" พลังงานที่ขับเคลื่อนโลกใบนี้ มานานกว่าหลายศตวรรษ ที่นอกจากจะเป็นเครื่องมือในการชุบชูใจแล้ว ยังเป็นอีกเครื่องมือสำคัญในการแสดงให้เห็นถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม รวมถึงศักยภาพการบริหารและพัฒนาของประเทศ
T-Pop ความหลากหลายทางดนตรี
หากกล่าวถึงอุตสาหกรรมเพลงและดนตรี นาทีนี้คงหนีไม่พ้นกระแส K-Pop ที่กำลังมาแรง ส่งให้เกาหลีใต้กลายเป็นประเทศที่มีตลาดดนตรีใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก มีมูลค่ารวมของตลาดเพลงทั้งหมดกว่า 6 พันล้านดอลล่าร์ มีอัตราเติบโตกว่า 8.9% ในปี 2563 ที่ผ่านมาอีกทั้งยังเป็นช่องทางหลักในการส่งออกทางวัฒนธรรมเกาหลีสู่ระดับสากล
เมื่อเกาหลีใต้มี K-Pop เมืองไทยก็มี T-Pop โดยกระแส T-Pop ของไทยเกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีนี้ เริ่มจากกระแสจากความโด่งดังของวงไอดอลญี่ปุ่นอย่าง BNK48 และกระแส Black Pink ที่ดังไปทั่วโลกในนามของวง Girl Group จากประเทศเกาหลี ซึ่งมีคนไทยเป็นหนึ่งในสมาชิก ส่งผลให้ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาเกิดวงในลักษณะไอดอลในแบบญี่ปุ่น และ Boy & Girl Group เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ดีคำจำกัดความของ T-Pop ไม่ได้จำกัดเฉพาะกลุ่มนี้เท่านั้น แต่หมายถึงดนตรีที่มีความสากลและเข้าถึงได้ง่าย
ซึ่งจุดแข็งของไทย คือ "ความหลากหลายทางดนตรี" จากวัฒนธรรมหลากหลายที่ผสมผสานกันทั้งในระดับพื้นถิ่น ระดับภูมิภาคและระดับสากล ในปีที่ผ่านวงการดนตรีอิสระของไทย มีศิลปินไทยหลายวงได้ออกไปทัวร์คอนเสิร์ตในระดับเอเชียและระดับโลกมากมาย อย่างเช่น Paradise Molam Bangkok International Band, Phum viphurit กลุ่มชุมชนดนตรีอิสระในต่างประเทศให้ความสนใจศิลปินไทย เกิดการแลกเปลี่ยนการแสดง และการเดินทางเข้าชมศิลปินอินดี้ของไทย จนเกิดกระแสย้อนกลับเข้ามาในประเทศ เกิดการยอมรับและเป็นที่รู้จักภายในประเทศจากกลุ่มเฉพาะสู่วงกว้าง โดยเฉพาะกลุ่ม "อินดี้ป๊อป" ที่มีการเติบโตขึ้นมาก อาทิ GYM AND SWIM, Polycat, Safeplanet, Yellow fang, TELEx TELEXs เป็นต้น และจุดสำคัญที่ทำให้คำว่า T-Pop เป็นที่พูดถึงในวงกว้าง คือการที่ภาคเอกชนโดย Work Point ผู้คว่ำหวอดด้านการทำรายการ Showbiz ด้านดนตรีมาเป็นเวลายาวนาน เล็งเห็นความสำคัญของกระแสที่เกิดขึ้นจึงได้สร้างรายการ T-Pop Stage และพัฒนาไปถึงการทำ T-Pop Application เพื่อหวังจะเป็นแรงกระตุ้นและเป็นตัวเร่งให้อุตสาหกรรมดนตรี T-Pop ที่พูดถึง และพร้อมสร้างแรงกระเพื่อมไปยังแนวดนตรีอื่นๆ
ฉันฟังเพลงไทย
ป๋าเต็ด ยุทธนา บุญอ้อม ผู้คร่ำหวอดในอุตสาหกรรมดนตรี และเจ้าพ่อ Music Festival กล่าวในกิจกรรมทอล์ก POP Live Special: Creative Weekend ในหัวข้อ "Next Step of T-Pop" ที่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ร่วมกับ THE STANDARD POP ว่า "อุตสาหกรรมเพลงไทยมีความแข็งแรงมาก คนไทยฟังเพลงไทยเป็นอันดับหนึ่ง คือ จุดแข็งของวงการเพลงไทย ตลาด Local Music ของไทยมีพลังมาก คนไทยยังฟังเพลงไทยเป็นอันดับหนึ่งมาตลอด เราทำกันเองดูกันเอง แม้ไม่ส่งออกอุตสาหกรรมเพลงไทยก็ยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้ วัดได้จากการจัดงานเทศกาลดนตรีอย่าง Big Mountain มีคนดูถึงวันละ 7 หมื่นคนแต่ศิลปินกว่า 99% ในงานเป็นวง Local ทั้งหมด และด้วยเทคโนโลยีทีเปลี่ยนไปทุกคนฟังเพลงจาก YouTube Spotify ก็จะทำให้เราสามารถเปิดตลาดไปยังตลาดโลกได้ มีวงดนตรีหลายวงเริ่มมีการทัวร์ข้ามประเทศ และในฐานะที่เราทำ Music Festival และได้พูดคุยกับคนที่ทำ Music Festival ในภูมิภาค ว่าหากเราสามารถทำให้ศิลปินในภูมิภาคของเราเองมีชื่อเสียง ต่อไปเราอาจจะไม่จำเป็นต้องพึ่งพาศิลปินจากฝั่งตะวันตกเลยก็ได้"
เช่นเดียวกับนายชลากรณ์ ปัญญาโฉม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานดิจิทัล บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้อยู่เบื้องหลังรายการ T pop stage กล่าวว่า วงการเพลงเกาหลีได้รับการพัฒนาจนสามารถค้นพบซาวนด์ของตัวเองที่เป็นเอกลักษณ์ไปขายทั่วโลกได้ T-Pop เอง เมื่อถึงวันหนึ่งก็จะค้นพบซาวนด์ที่เป็นเอกลักษณ์ไปขายทั่วโลกได้เช่นกัน ดังนั้น T-POP Stage จึงเหมือนเป็นตัวเร่งทำให้ทุกคนมาช่วยกันหาว่า T-Pop ต้อง "ป๊อป" ประมาณไหนที่จะถือเป็นมาตรฐานของเพลงไทยที่สามารถไป "ป๊อป" ในระดับสากลได้ ทั้งนี้ หากต้องการผลักดัน T-Pop ให้ประสบความสำเร็จเหมือนที่เกาหลีทำ ก็ควรใช้วิธีตีฟูไปทั้งก้อน โดยรัฐต้องมีนโยบายผลักดัน T-Pop ให้สามารถไปได้เป็นมวลรวม เช่นกระแส J-Pop เกิดจากโปรเจกต์ J Cool ของรัฐบาล หรือ K-Pop ที่ลุกลามไปทั่วทั้งวงการดนตรี ภาพยนตร์ อาหาร การท่องเที่ยว ก็เกิดจากนโยบาย K wave จากภาครัฐ
"ในสายตาคนต่างชาติ เมื่อพูดถึงหนังไทยก็นึกถึงแต่หนังผี หรือหนังที่ได้รับรางวัลในเวทีนานาชาติก็มักเป็นหนังอาร์ต โดยแบรนด์ไทยจริง ๆ จึงมีการจำกัดประเภทของอุตสาหกรรมอยู่ พอเราจะทำ T-pop Stage เราก็อยากผลักอุตสาหกรรมเพลงไทยให้ไปต่างประเทศแบบกว้าง ๆ ผมเข้าใจดีว่ารัฐเองอาจมีข้อจำกัดในเรื่องการสนับสนุนอุตสาหกรรมที่เป็น Soft power อยู่บ้าง ส่วนเวิร์คพอยท์เองแม้จะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ แต่เมื่อต้องออกแรงในเรื่องใหญ่ ๆ ก็มีข้อจำกัดของเราเช่นกัน ผมจึงหวังว่าเมื่อเราทำ T-Pop Stage ให้เป็นตัวเร่งวงการเพลงเข้ามาแล้ว เราก็อยากเห็นการสนับสนุนจากภาครัฐด้วยเช่นกัน"
ภาพรวมอุตสาหกรรมดนตรีไทย
นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ CEA ในฐานะหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เล่าให้ฟังว่า CEA มีแผนที่จะใช้อุตสาหกรรมดนตรีและอุตสาหกรรม Creative Content (ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ การกระจายเสียง การพิมพ์ และซอฟท์แวร์ (เกม) เป็น Soft Power ในการใช้ Emotional Value เพื่อเพิ่มEconomic Value ให้กับอุตสาหกรรรมอาหาร ท่องเที่ยว และแพทย์แผนไทย รวมถึงอุตสาหกรรมสร้างสรรค์อื่นๆ ผ่านการผลักดันคอนเท้นต์ที่เป็นจุดแข็งของประเทศคือ Spiritual ซีรีย์วาย และ T-Pop สู่กลุ่มเป้าหมายในประเทศ CLMVT, อาเซียน, จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ที่มีประชากรคิดเป็นสัดส่วนกว่า 60% ของโลก
โดยในส่วนของอุตสาหกรรมดนตรีและเพลงไทยสามารถช่วย สร้างผลประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ การจ้างงาน วัฒนธรรม และสังคม ซึ่งในช่วงปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมดนตรีในประเทศไทยมีมูลค่าอยู่ที่ 1.4 พันล้านบาท มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย ร้อยละ 6.5 ต่อปี ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากขนาดและกลไกการดำเนินธุรกิจเป็นหลัก พบว่ารูปแบบการดำเนินธุรกิจ ของอุตสาหกรรมดนตรีไทยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ค่ายเพลงขนาดใหญ่ ค่ายขนาดกลางและขนาดเล็ก รวมไปถึงกลุ่มศิลปินอิสระ โดยกลุ่มนักแต่งเพลงมีบทบาทในฐานะผู้ริเริ่มสร้างสรรค์ทำนองและคำร้อง ก่อนที่จะนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เพลงในรูปแบบต่าง ๆ จึงเรียกได้ว่าเป็นต้นน้ำ ของการผลิตในอุตสาหกรรมดนตรีของไทยในหลายประเทศ นักแต่งเพลงจะดูแลและจัดการลิขสิทธิ์เพลง ของตนเอง หรือมีบริษัท Publisher ช่วยอำนวย ความสะดวกในการบริหารจัดการลิขสิทธิ์เพลง โดยไม่ต้องพึ่งพาค่ายเพลง อย่างไรก็ตาม ใน ประเทศไทยยังมีบริการ Publisher ไม่มากนัก นักแต่งเพลงไทยจึงยังคงต้องพึ่งพาค่ายเพลง หรือองค์กรลิขสิทธิ์ด้านดนตรีในการบริหาร จัดการลิขสิทธิ์เพลงเป็นหลัก
ขณะที่จุดอ่อนของอุตสาหกรรมดนตรีไทยปัญหาเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา การละเมิดลิขสิทธิ์เพลง เนื่องจากพฤติกรรมของ ผู้ฟัง ระบบการตรวจสอบ และการคุ้มครอง ลิขสิทธิ์เพลงในปัจจุบันยังที่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ อีกทั้งยังขาดการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างจริงจังโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมทางดนตรีเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ และหน่วยงานภาครัฐที่สนับสนุนมีบทบาทงานไม่ชัดเจนและมีมาตรฐานการทำงานต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ อีกทั้งกฎหมายข้อบังคับที่เกี่ยวข้องมีความคลุมเครือในหลายประเด็น การดำเนินงานจึงถูกผลักให้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่เป็นหลัก รวมทั้งกฎระเบียบภาครัฐหลายด้านไม่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตของอุตสาหกรรม อาทิ เวลาในการการเปิด-ปิด สถานบันเทิง การจำกัดอายุผู้เข้าชมเนื่องจากกฎหมายแอลกอฮอล์ การขาดพื้นที่สาธารณะในการแสดง ห้องซ้อม คอนเสิร์ตฮอลล์ของนักดนตรี เป็นต้น
4 ยุทธศาสตร์พัฒนาอุตสาหกรรมดนตรี
อย่างไรก็ดี จากประเด็นปัญหาดังกล่าวนำไปสู่การกำหนด "แผนยุทธศาสตร์พัฒนา อุตสาหกรรมสร้างสรรค์สาขาดนตรี" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมมูลค่าเพิ่มทาง เศรษฐกิจและยกระดับความหลากหลายของ ดนตรีภายในประเทศ ตลอดจนการเจริญเติบโตในระดับสากล เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป โดยกำหนดวิสัยทัศน์ให้ "ประเทศไทยเป็นผู้นำด้าน ความหลากหลายทางดนตรีในเวทีโลก (Thailand as a Leading Country of Music Diversity in-line with international stage)" ซึ่งยุทธศาสตร์ดังกล่าวเป็นการผสม ผสานระหว่างเป้าหมายเฉพาะเจาะจง ที่เน้นการขับเคลื่อนแต่ละภาคส่วน เข้ากับยุทธศาสตร์ในภาพรวม ที่เน้นยกระดับและพัฒนาอุตสาหกรรมดนตรีของไทย ประกอบด้วย
ยุทธศาสตร์ที่ 1 ส่งเสริมทรัพย์สินทางปัญญาของอุตสาหกรรมดนตรี
ยุทธศาสตร์ที่ 2 สนับสนุนการเติบโตของ อุตสาหกรรมดนตรีทั้งในและ ต่างประเทศ
ยุทธศาสตร์ที่ 3 ยกระดับความสามารถในการ สร้างสรรค์ผลงานทางดนตรีให้ ก้าวทันโลก
ยุทธศาสตร์ที่ 4 สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการ ขับเคลื่อนความหลากหลายของ ธุรกิจดนตรี
ก้าวต่อไปของอุตสาหกรรมดนตรีไทย
สำหรับในปี 2564 นี้ CEA ได้กำหนดจัดกิจกรรมแสดงศักยภาพของศิลปินไทย ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สาขาดนตรี รวมทั้งสาขาศิลปะการแสดง ผ่านโครงการ "CEA Live House ปี 2" เปิดพื้นที่ให้ศิลปินไทยได้ทำการบันทึกและแสดงสดในรูปแบบ Live Recording Sessions ด้วยโปรดักชั่นเต็มรูปแบบ เผยแพร่ทาง Youtube ของศิลปินและ CEA เป็นการเพิ่มช่องทางการประชาสัมพันธ์และยกระดับความหลากหลายทางดนตรีภายในประเทศอย่างมีศักยภาพ นอกจากนี้ยังได้มีการจัดกิจกรรมในหลากหลายมิติ อย่างต่อเนื่อง อาทิ การจัดการเชื่อมโยงระหว่างดนตรีและอุตสาหกรรมอื่น ภายในงานเทศกาลอีสานสร้างสรรค์ 2564 หรือ การนำดนตรีมาเชื่อมโยงกับพื้นที่หรือเมือง โครงการ "Sound of the City" ตลอดปีที่ผ่านมา เป็นต้น
โดยในอนาคตยังได้วางแผนต่อยอดผลงานให้เกิดมูลค่าเพิ่ม สร้างรายได้ในรูปแบบใหม่ๆให้กับนักดนตรี ผ่านโครงการสร้างสรรค์ผลงานดนตรี "Let the Music Heal"เพื่อสร้างผลงานในรูปแบบ การสร้างชื่อเสียงและรายได้ด้วย รวมทั้งร่วมมือกับเครือข่ายภาคเอกชนในอุตสาหกรรมดนตรีไทย ด้วยการเปิดเวทีให้ภาคเอกชนการนำเสนอทางด้านดนตรีใหม่ๆ ในรูปแบบที่สามารถเข้าถึงตลาดเอเชียผ่านช่องทาง OTT (Over-The-Top TV) ซึ่งเป็นรูปแบบการรับชมคอนเทนต์ต่าง ๆ ผ่าน application ได้หลากหลาย เป็นต้น รวมทั้ง CEA ยังทำหน้าที่เป็น "ตัวกลาง" ในการให้การสนับสนุนห่วงโซ่ของคนดนตรี ตั้งแต่ภาคการศึกษา ภาคเอกชน และภาครัฐ สนับสนุนการรวมกลุ่มเพื่อความเข้มแข็งของคนในอุตสาหกรรมดนตรี
ดนตรี คน เมือง สังคม เศรษฐกิจ ล้วนเกี่ยวเนื่องต่อกัน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit