กลับมาอีกครั้งกับเทศกาลเปิดรั้วมหาวิทยาลัย เพื่อเชิญชวนน้องๆ ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ร่วมค้นหาตัวตนจากการทำกิจกรรมหรือสัมผัสการเรียนรู้ของแต่ละคณะ เพื่อเตรียมตัวยื่นคะแนนสอบเข้าศึกษาต่อในคณะและมหาวิทยาลัยที่ใช่ ซึ่งในห้วงเวลาสองปีที่ผ่านมานี้ แม้จะเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 แต่ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) หรือ KMITL ยังคงเดินหน้าสร้างแรงบันดาลใจการเรียนรู้ในแต่ละคณะหรือสาขาวิชาต่างๆ ผ่านกิจกรรมเปิดบ้านเสมือนจริง (Virtual Event) ในชื่อที่ว่า "เทศกาลเปิดบ้านพระจอมเกล้าลาดกระบัง" (KMITL OPEN HOUSE 2021)
โดยปีนี้ยังคงตอกย้ำในหลักคิดของการผลิตบัณฑิตรุ่นใหม่ ให้เป็นคนที่ "กล้าคิด กล้าแสดงออก" ในการผสานความรู้ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และศิลปะศาสตร์ สู่การสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรม ตลอดจนเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศในอนาคต ซึ่งหลักคิดดังกล่าวได้ฉายภาพให้เห็นเด่นชัดจาก ทีมผู้บริหารและคณาจารย์จากรั้วพระจอมเกล้าลาดกระบัง ที่สลัดคราบ-ปรับลุคความเป็น "อาจารย์" สู่ "ดิสรัปเตอร์" (Disruptor) ที่พร้อมสร้างความเปลี่ยนแปลง และก้าวข้ามบทบาทอย่างไร้ขีดจำกัด เพราะที่นี่ #จะทำก็ทำได้ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับน้องๆ ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ได้รับชมกันแบบจัดเต็ม ผ่านช่องทางไลฟ์สตรีมมิ่ง (Live Streaming) ที่เพจเฟซบุ๊ก KMITL Official
นำโดย ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สจล. ที่ลงทุนเปลี่ยนลุคอธิการบดี เป็น "ดีเจพี่เอ้" ร่วมเปิดเพลง EDM Electronic Dance Music พร้อมทั้งให้โอวาทกับน้องๆ ถึงหลักคิดในการผสานความรู้ทั้งสายวิทย์และศิลป์ สู่การพัฒนานวัตกรรมในอนาคต ท่ามกลางสีสันและบรรยากาศสุดสนุก นอกจากนี้ ภายในงานยังมีกิมมิคสุดว้าวกระตุ้นความสนใจ เด็ก TCAS65 อยากเรียนอีกด้วย กับแฟชันโชว์จากเหล่าคณบดี สจล. ที่ร่วมเปลี่ยนลุคเป็น นายแบบ/นางแบบ สวมชุดแฟชันดีไซน์สุดเก๋ ซึ่งไฮไลท์ว้าวๆ จะเป็นอย่างไรบ้างนั้น ติดตามได้จากตัวอย่างชุดเก๋ๆ ได้ดังต่อไปนี้
เริ่มต้นที่คณบดีท่านแรกกับ "พี่วิว" ผศ. ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี คณบดี คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ ที่นึกว่าหลุดมาจากงาน Paris Fashion Week ที่เพิ่งจบไปหมาดๆ จากกรุงปารีส ฝรั่งเศส เพราะดีไซน์ชุดสวยเด่นสะดุดตาสุดๆ โดยชุดนี้มาในคอนเซป "STOP OVERCONSUMTION" เพื่อสื่อสารถึงการทรัพยากรอย่างรู้คุ้นค่า พร้อมลดโลกร้อน ด้วยการนำพิมพ์เขียว (Blueprint) หรือแบบจำลองโครงสร้างอาคารที่เหล่าสถาปนิกออกแบบมาใช้ซ้ำ พร้อมทั้งดีไซน์เป็นชุดดีไซน์เก๋!
ต่อเนื่องกับคณบดี คณะแพทยศาสตร์ "พี่หมอน้อย" ศาสตราจารย์ นายแพทย์ อนันต์ ศรีเกียรติขจร ที่มาในลุคของ "แพทย์นวัตกร" สวมเสื้อกาวน์ของแพทย์และหมวกของวิศวะ ซึ่งงานนี้เดินมาพร้อมโชว์นวัตกรรมทางการแพทย์ให้เห็น เพื่อเป็นตัวอย่างของผลสำเร็จของการเรียนที่คณะในการผสานความรู้ด้านแพทยศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ ที่มีความเชี่ยวชาญในการรักษาทางการแพทย์และพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ เพื่อสนับสนุนการรักษาในอนาคต
ตามมาติดๆ กับคณะน้องใหม่ "คณะทันตแพทยศาสตร์" นำโดย รองศาสตราจารย์ ทันตแพทย์หญิง อารยา พงษ์หาญยุทธ รักษาการ คณบดี คณะทันตแพทยศาสตร์ ที่มาในคอนเซป "หมอฟันอวกาศ" ผสานความรู้ด้านทันตแพทย์และเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อยกระดับสุขภาพฟันได้ทั้งในรูปแบบภาคพื้นดินปกติ และนักบินอวกาศได้ในอนาคต ด้วยหลักคิดที่ว่าบัณฑิตจากคณะทันตฯ จะสามารถพัฒนานวัตกรรมสุดล้ำ เพื่อการรักษาฟันได้อย่างชาญฉลาด โดยครั้งนี้ ได้ร่วมโชว์นวัตกรรมตัวอย่าง "นวัตกรรมแสดงภาพฟิล์ม X-Ray ฟัน" มาฉายภาพอนาคตให้เห็นชัดขึ้น
ก้าวสู่การเป็น "วิศวะด้านเสียงและดนตรี รันอุตสาหกรรมสร้างสรรค์" กับ วิทยาลัยวิศวกรรมสังคีต สจล. ที่ในงานนี้ ได้ฉายภาพให้เห็นถึงโอกาสของการก้าวสู่การเป็นวิศวกรไฟฟ้าสื่อสารที่มีความรู้ความสามารถด้านดนตรี สามารถทำงานร่วมกับนักดนตรีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยทักษะการผสานสองศาสตร์ความรู้ ทั้งวิศวกรรมศาสตร์และศิลปะทางด้านดนตรีได้อย่างลงตัว เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำโดย "พี่พิทักษ์" ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิทักษ์ ธรรมวาริน คณบดี วิทยาลัยวิศวกรรมสังคีต
ปิดท้ายด้วย 2 วิทยาลัยจาก สจล. ที่แม้ผู้ชมทางบ้านจะเห็นหน้าค่าตาไม่ชัดเจนนัก แต่มองจากภายนอกก็สื่อสารได้ทันทีว่าเป็นตัวแทนจากวิทยาลัยใดบ้าง กับ "วิทยาลัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมวัสดุ" นำโดย ผู้ศาสตราจารย์ ดร. วิภู ศรีสืบสาย คณบดี ที่นำเสนอในรูปแบบของ "โรบอทนาโน" ผลลัพธ์ของการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีและวัสดุนาโน สู่การเป็นนักวิจัยพัฒนาชิ้นส่วนที่ประกอบร่างและขึ้นรูปเป็นหุ่นยนต์ได้ อีกทั้งยังสามารถก้าวสู่วิศวกรสายการผลิตในภาคอุตสาหกรรม หรือเป็นผู้ประกอบการที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์อาหาร
และ "วิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ" ที่จุดประกายฝันให้คนรุ่นใหม่ได้เห็นว่า นักบินอวกาศไทย ก็สามารถขึ้นไปสำรวจดาวเคราะห์ ได้ ผ่านการเรียนในหลักสูตรวิศวกรรมบำรุงอากาศยาน (Aerospace Engineering) ที่จะได้รับความรู้ทั้งใน 3 มิติ ทั้งวิศวกรรมซ่อมบำรุงอากาศยาน วิศวกรรมวิทยาการข้อมูลการบินอวกาศ และสาขาใหม่กับ วิศวกรรมอากาศยานไร้คนขับ ที่เตรียมเปิดรับในรอบ TCAS 2565
สำหรับน้องๆ ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่สนใจเข้าศึกษาต่อที่ 'พระจอมเกล้าลาดกระบัง' สามารถติดตามชมวิดีโอบันทึกภาพกิจกรรม "เทศกาลเปิดบ้านพระจอมเกล้าลาดกระบัง" (KMITL OPEN HOUSE 2021) แบบย้อนหลังได้ที่เพจเฟซบุ๊ก KMITL Official (https://www.facebook.com/kmitlofficial) หรือสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับระเบียบการรับสมัคร TCAS65 ได้ที่ สำนักทะเบียนและประมวลผล ในเพจเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/reg.kmitl, เว็บไซต์ https://www.reg.kmitl.ac.th
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit