สรุปภาพรวมภาวะตลาดหลักทรัพย์เดือนตุลาคม 2564

08 Nov 2021

ในเดือนตุลาคม 2564 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ลดประมาณการเติบโตเศรษฐกิจโลกในปี 2564 ลงเล็กน้อย โดยสาเหตุหลักมาจากการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น รวมถึงปัญหาเรื่องห่วงโซ่อุปทานซึ่งทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อในหลายประเทศ ทั่วโลกส่งผลให้ธนาคารกลางต่างๆ อาจดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัวในขณะที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวจาก COVID-19 อย่างเต็มตัว อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ COVID-19 ภายในประเทศที่มีแนวโน้มดีขึ้น อีกทั้งภาครัฐประกาศเดินหน้าเปิดประเทศโดยผ่อนคลายให้ผู้ที่เดินทางจากประเทศกลุ่มเสี่ยงต่ำสามารถเข้ามาได้โดยไม่ต้องกักตัว ทำให้เห็น Fund Flow จากผู้ลงทุนต่างชาติไหลกลับเข้าสู่ตลาดหุ้นไทยเป็นเดือนที่สามติดต่อกันโดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้อานิสงส์จากการเปิดประเทศ (reopening)

สรุปภาพรวมภาวะตลาดหลักทรัพย์เดือนตุลาคม 2564

นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2564 SET Index ปิดที่ 1,623.43 จุด เพิ่มขึ้น 1.1% จากสิ้นเดือนก่อนหน้า เมื่อพิจารณาช่วง 10 เดือนแรกปี 2564 SET Index ปรับเพิ่มขึ้น 12.0% จากสิ้นปี 2563 ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยของดัชนีตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่า SET Index เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2563 ได้แก่กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มบริการ กลุ่มธุรกิจการเงิน และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง

ภาวะตลาดหลักทรัพย์ไทย

  • ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2564 SET Index ปิดที่ 1,623.43 จุด เพิ่มขึ้น 1.1% จากสิ้นเดือนก่อนหน้า เมื่อพิจารณาช่วง 10 เดือนแรกปี 2564 SET Index ปรับเพิ่มขึ้น 12.0% ซึ่งถือเป็นการปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยของดัชนีตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ
  • SET Index ใน 10 เดือนแรกปี 2564 ได้แรงหนุนจากเกือบทุกอุตสาหกรรมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่า SET Index เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2563 ได้แก่กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มบริการ กลุ่มการเงิน และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์
  • ในเดือนตุลาคม 2564 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน SET และ mai อยู่ที่ 88,298 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 65.8% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยใน 10 เดือนแรกปี 2564 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 95,683 ล้านบาท
  • ผู้ลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิเป็นเดือนที่สามต่อเนื่องกันในปี 2564 โดยในเดือนตุลาคม 2564 ผู้ลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 15,773 ล้านบาท ทั้งนี้ในช่วง 10 เดือนแรกปี 2564 ผู้ลงทุนต่างชาติขายสุทธิรวม 63,399 ล้านบาท โดยผู้ลงทุนในประเทศมีสถานะเป็นผู้ซื้อสุทธิ 101,974 ล้านบาท นอกจากนี้ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 ผู้ลงทุนในประเทศมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงที่สุดมาอย่างต่อเนื่อง
  • ในเดือนตุลาคม 2564 มีบริษัทเข้าจดทะเบียนซื้อขายใหม่ใน SET 3 บริษัท และ ใน mai 2 บริษัท โดยใน 10 เดือนแรกปี 2564 SET มีมูลค่าเสนอขายในตลาดแรก (IPO) สูงที่สุดเมื่อเทียบกับตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ใน ASEAN
  • Forward และ Historical P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2564 อยู่ที่ระดับ 18.7 เท่า และ 19.9 เท่าตามลำดับ สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 15.2 เท่า และ 17.7 เท่าตามลำดับ
  • อัตราเงินปันผลตอบแทน ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2564 อยู่ที่ระดับ 2.72% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 2.39%

ภาวะตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

  • ในเดือนตุลาคม 2564 ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 573,676 สัญญา ลดลง 15.5% จากเดือนก่อน และในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2564 มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 552,436 สัญญา เพิ่มขึ้น 20.9% ที่สำคัญจากการเพิ่มขึ้นของ Single Stock Futures, Gold online futures และ USD Futures เป็นสำคัญ
  • ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) ขยายเวลาซื้อขาย USD Futures ในช่วงกลางคืน (Night Session) ระหว่าง 18.50-23.55 น. ตั้งแต่วันที่ 27 ก.ย. 2564 โดยได้รับความสนใจจากผู้ลงทุนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มเปิด Night Session มีปริมาณซื้อขายช่วงกลางคืนคิดเป็นกว่า 30% ของปริมาณการซื้อขายทั้งหมด
  • นอกจากนี้ TFEX ได้เพิ่ม series ของ Silver Online Futures ให้ครอบคลุม 2 ไตรมาสใกล้สุด เริ่ม 29 ก.ย. 2564 เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถบริหารความเสี่ยงและปรับกลยุทธ์การซื้อขายได้หลากหลายมากขึ้น

สรุปภาพรวมภาวะตลาดหลักทรัพย์เดือนตุลาคม 2564