ม.มหิดล สานต่อเป้าหมาย "Net Zero 2030" จัด "Mahidol Sustainability Week" 2 - 9 ธ.ค.2564 นี้ทางออนไลน์

25 Nov 2021

วันที่ 4 ธันวาคม ของทุกปี ตรงกับ "วันสิ่งแวดล้อมไทย" จัดตั้งโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้มีจิตสำนึกต่อสิ่งแวดล้อมที่ต้องช่วยกันรักษาดูแล

ม.มหิดล สานต่อเป้าหมาย "Net Zero 2030" จัด "Mahidol Sustainability Week" 2 - 9 ธ.ค.2564 นี้ทางออนไลน์

ในยุคสมัยที่ COVID-19 ได้เข้ามากลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คนเช่นปัจจุบัน ทำให้เกิดโจทย์สำคัญ คือ จะดำเนินชีวิตต่อไปให้ยั่งยืนได้อย่างไร หากไม่ทำให้เกิดความสมดุลระหว่าง "สุขภาวะ" และ "สิ่งแวดล้อม"

รองศาสตราจารย์ ดร.กิติกร จามรดุสิต รองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหิดลกล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะ "มหาวิทยาลัยแห่งสุขภาวะ" ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพแห่งภูมิภาคอาเซียน ที่ผ่านมาได้พยายามนำองค์ความรู้ด้านสุขภาวะมาบูรณาการกับสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด จากการปรับเปลี่ยนนโยบายสู่การเป็น "มหาวิทยาลัยยั่งยืน" ที่สนองต่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ หรือ Sustainable Development Goals: SDGs ทั้ง 17 ข้อ

ซึ่งการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน จะนำมาซึ่งสุขภาพกายและใจที่ดี ตลอดจนคุณภาพชีวิตที่ดี จากการใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม และใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

จากการรณรงค์อย่างต่อเนื่องของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่เริ่มจากการสร้าง Leadership หรือผู้นำการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน จนปัจจุบันสามารถลดจำนวนคาร์บอนฟุตพริ้นท์ หรือปริมาณก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุของโลกร้อนได้ถึง600 ตันต่อปี โดยเป้าหมายอยู่ที่ "Net Zero 2030" หรือการสามารถทำให้ส่วนต่างของปริมาณการเพิ่มขึ้นและลดลงของคาร์บอนฟุตพริ้นท์ มีจุดสมดุลเท่ากับ "ศูนย์" ให้ได้ภายในปีพ.ศ.2573

9 หลักการสู่ "Net Zero 2030" ได้แก่ ก้าวที่ 1 การใช้พลังงานทดแทน (Renewable Energy) ก้าวที่ 2 การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ (Resource Efficiency) ก้าวที่ 3 การคมนาคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Clean Energy for Transportation) ก้าวที่ 4 การเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อดูดกลับก๊าซเรือนกระจก (Green Area  Carbon removal) ก้าวที่ 5 การจัดซื้อจัดจ้างและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Procurement) ก้าวที่ 6 งานวิจัยและเทคโนโลยีที่สนับสนุนการลด หรือดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Research & Technology for a Carbon Capture / Reduction) ก้าวที่ 7 การบริโภคผลิตภัณฑ์จากพืชเป็นพื้นฐาน (Plant-based) ก้าวที่ 8 ขยะสู่แหล่งฝังกลบเป็นศูนย์ (Zero waste to landfill) ก้าวที่ 9 การพัฒนารูปแบบการติดตามการลดก๊าซเรือนกระจก(Monitor & Improvement) ที่จะสนับสนุนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศ โดยมีการตั้งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกเทียบกับการคาดการณ์ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของกรณีปกติ (Business As Usual) เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการลดผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ อีกทั้งยังเป็นการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยเฉพาะเป้าหมายที่13 การปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น(Climate Action)

และเพื่อให้เกิดผลต่อเนื่องที่ยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหิดลยังคงไม่หยุดยั้งที่จะเดินหน้าโครงการต่างๆ เพื่อการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ทั้งด้วยพลังงานทดแทน Solar Energy จากแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือจะเป็นการเพิ่มพื้นที่เขียว ด้วยการปลูกต้นไม้ และการจัดการขยะด้วยหลักการ "Reuse" หรือการนำกลับมาใช้ใหม่"Recycle" หรือการนำไปผ่านกระบวนการเพื่อนำเอากลับมาใช้ใหม่ ตลอดจนการ "Upcycling" หรือการนำไปแปรรูปเพื่อก่อให้เกิดมูลค่า

นับเป็นปีที่ 2 แล้วที่มหาวิทยาลัยมหิดลจัด "Mahidol Sustainability Week" หรือสัปดาห์ มหาวิทยาลัยมหิดลเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนทางออนไลน์ โดยในปี 2564 นี้กำหนดจัดตั้งแต่วันที่ 2 - 9 ธันวาคม 2564 ภายใต้แนวคิด "Actions towards Sustainabilty Goals" หรือ "การดำเนินการสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน"

นอกจากจะมีประชุมวิชาการออนไลน์ "Mahidol Sustainable Development Conference 2021" ซึ่งเป็นการนำเสนอผลงานทางวิชาการที่ครอบคลุมทั้งในด้านการพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน การพัฒนาสุขภาวะที่ยั่งยืน การพัฒนาเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อสังคมที่ยั่งยืน ตลอดจนการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืนแล้ว ยังมีการจัดนิทรรศการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน และ SDGs Talk ที่มากด้วยสาระอีกเช่นเคย

โดย SDGs Talk ในปีนี้ มีหัวข้อที่น่าสนใจ อาทิ "Mahidol for Sustainable Future" โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล "วิเทศสัมพันธ์กับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน" โดย คุณหญิงลักษณาจันทรเลาหพันธุ์ กรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดลผู้ทรงคุณวุฒิและ "การพัฒนางานวิจัยเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน" โดย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

"Net Zero" จะบรรลุเป้าหมายได้ทัน 9 ปีข้างหน้าหรือไม่นั้นไม่สำคัญเท่าวันนี้พวกเราชาวไทยได้มีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ลูกหลานไทยอยู่บนโลกใบนี้ต่อไปได้อย่างยั่งยืนกันแล้วหรือยัง ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไปติดตามหาคำตอบได้ที่ FB: Mahidol University Sustainability