จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่นำไปสู่การจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ซึ่งทำให้เกิดช่องว่างทางการศึกษาที่เพิ่มมากขึ้นจากการที่นักเรียนขาดความพร้อมด้านอุปกรณ์การเรียน จนนำไปสู่การหลุดออกจากระบบการศึกษาในที่สุด ทั้งนี้ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้รายงานสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของประเทศไทยในภาคเรียนที่ 1/2564 พบว่ามีนักเรียนยากจนพิเศษช่วงชั้นรอยต่อหายไปจากระบบการศึกษาหรือไม่ได้กลับเข้ามาเรียนต่อในภาคเรียนที่ 1/2564 เป็นจำนวน 43,060 คน โดยส่วนใหญ่อยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 33,710 คน และประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 8,699 คน ซึ่งหากขาดการเรียนการสอนไปนานขึ้นอาจส่งผลให้เด็กเข้าสู่ภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ ตลอดจนขาดทักษะในการใช้ชีวิตในอนาคต
เด็กหญิงสลิลทิพย์ บังเกิด นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนวัดโคกพระเจดีย์ (เอกเผ่าพิทยา) กล่าวถึงปัญหาที่พบจากการเรียนออนไลน์ว่า "บ้านเรามีเด็กสี่คน เรียนออนไลน์พร้อมกันทุกวันแต่มีโทรศัพท์แค่สองเครื่อง ต้องผลัดกันเรียน บางครั้งก็ใช้เครื่องเดียวเพื่อเรียนพร้อมกัน ถ้าเทอมหน้ายังเป็นแบบนี้ต่อไป หนูไม่แน่ใจว่าจะต่อ ม.4 ไหวหรือเปล่า เพราะตั้งสมาธิกับการเรียนได้ยาก ไม่เหมือนการเรียนในห้อง ให้ครูอธิบายก็ไม่ได้ พอไม่เข้าใจก็ไม่สามารถถามใครได้ แต่ถ้าเรามีอุปกรณ์การสื่อสารเพียงพอ ทั้งเราและน้องน่าจะได้ความรู้เต็มที่ หนูอยากมีความมั่นใจมากกว่านี้ในการเรียนต่อ เพราะมันจะส่งผลไปถึงอนาคตข้างหน้าทั้งหมด"
ด้วยเหตุนี้ เพื่อให้เด็กไทยได้มีโอกาสและความพร้อมในการรับการศึกษาในรูปแบบออนไลน์ได้ดียิ่งขึ้น บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด จึงได้ส่งมอบสมาร์ทดีไวซ์ ทั้งสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่เคยถูกนำมาใช้ในกิจกรรมทางการตลาดที่ยังคงมีสภาพดี พร้อมใช้งาน จำนวนทั้งสิ้น 621 เครื่อง ผ่าน 3 โครงการ ได้แก่ Free School-in-a-Box ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างกสศ.และหน่วยงานภาคเอกชน Hugs for ASEAN Children โดยเครือข่าย SIF96 Thailand ร่วมกับศูนย์พหุวัฒนธรรมและนโยบายการศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ #น้องฉันต้องได้เรียน โดยองค์การบริหารสโมสรนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) เพื่อกระจายต่อให้แก่นักเรียนที่ขาดแคลนอุปกรณ์ด้านการเรียน ในขณะเดียวกันก็ได้สร้างประโยชน์สูงสุดให้กับสมาร์ทดีไวซ์เหล่านี้โดยการยืดอายุการใช้งานผลิตภัณฑ์ของซัมซุงเป็นระยะเวลานานขึ้นตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
เด็กหญิงพัชรีพร ทันใจ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนโรงเรียนบุณยศรีสวัสดิ์ ซึ่งได้รับมอบสมาร์ทโฟนซัมซุงผ่านโครงการ Free School-in-a-Box เล่าถึงประสบการณ์การเรียนผ่านระบบออนไลน์ในรอบเทอมที่ผ่านมาว่า "โทรศัพท์ที่เรามีอยู่ค่อนข้างเก่า ใช้เรียนไม่นานก็แบตหมด เครื่องร้อนเร็ว ต้องพักเครื่องหรือเอาไปชาร์จบ่อยๆ ทำให้เรียนไม่ต่อเนื่อง พอขาดช่วง ก็เหมือนสมาธิเสีย หลายวิชาที่ต้องเรียนผ่านออนไลน์จึงเรียนไม่รู้เรื่องเลย ยิ่งปีนี้กำลังจะขึ้นชั้น ม.1 ต้องสอบเพื่อเปลี่ยนโรงเรียนเลยยิ่งกังวล แต่พอหลังจากที่ได้รับกล่องที่มีโทรศัพท์สภาพดี มีซิมให้แบบนี้ รู้สึกดีใจและมีกำลังใจในการตั้งใจมากขึ้น เพราะคิดว่าหลังจากนี้จะได้เรียนอย่างต่อเนื่องไม่สะดุดเหมือนเดิมแล้วค่ะ"
ด้านนางณัฏฐนันท์ ลังการัตน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนเทศบาลวัดศรีดอนไชย จ.เชียงใหม่ ซึ่งได้รับมอบแท็บเล็ตจากซัมซุงผ่านโครงการ Hugs for ASEAN Children โดยเครือข่าย SIF96 Thailand ร่วมกับศูนย์พหุวัฒนธรรมและนโยบายการศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า "ขอขอบพระคุณ บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด ที่มอบแท็บเล็ตให้เด็กๆ ซึ่งถือเป็นการมอบโอกาสทางการศึกษาเพื่อการพัฒนาเด็กอย่างยั่งยืน เด็กของเราส่วนใหญ่มาจากพื้นฐานครอบครัวที่รายได้ไม่ค่อยดีนัก ยิ่งพอเกิดสถานการณ์แบบนี้ รูปแบบการเรียนการสอนจึงต้องปรับเปลี่ยนไป ส่งผลกระทบเรื่องของอุปกรณ์สื่อสารต่างๆ ที่ต้องใช้เรียนในหลายครอบครัว เด็กบางคนเรียนดีแต่ขาดอุปกรณ์สื่อสาร จึงขาดโอกาสดีๆ ในการเรียน การสนับสนุนของซัมซุงในครั้งนี้จึงทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้อยู่ที่บ้านอย่างปลอดภัย ไม่หลุดจากการศึกษา ได้เรียนไปพร้อมกับเพื่อนๆ ที่สำคัญช่วยให้ไม่เกิดภาวะถดถอยทางการศึกษาซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องฝ่าวิกฤตนี้ไปด้วยกัน"
ซัมซุงเชื่อว่านวัตกรรมมีส่วนช่วยในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับคนในสังคมได้ทุกมิติโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการศึกษา และการมีสมาร์ทดีไวซ์ที่ดีจะทำให้การเรียนรู้ยิ่งมีประสิทธิภาพ พร้อมต่อยอดขยายขอบเขตการเรียนรู้ของเยาวชนให้กว้างไกลยิ่งขึ้น ซึ่งซัมซุงขอเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนและส่งเสริมให้เยาวชนไทยได้ใช้ศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมในเชิงบวกและสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับทุกคน
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit