กสร. ตอบข้อสงสัย พนักงาน รปภ.ทำงานเกิน 8 ชั่วโมง ส่วนที่เกินถือเป็นการทำงานล่วงเวลา มีสิทธิได้ค่าตอบแทน 1 เท่า

18 Nov 2021

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานชี้แจงข้อสงสัยกรณีงานรักษาความปลอดภัย หากทำงานเกิน 8 ชั่วโมง ส่วนที่เกินถือเป็นการทำงานล่วงเวลา แต่เนื่องจากลักษณะงานเป็นงานเบา (Light Work) หรืองานที่ไม่ได้ทำต่อเนื่องกันตลอดเวลา กฎหมายยกเว้นไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาและค่าล่วงเวลาในวันหยุด แต่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทน 1 เท่า

กสร. ตอบข้อสงสัย พนักงาน รปภ.ทำงานเกิน 8 ชั่วโมง ส่วนที่เกินถือเป็นการทำงานล่วงเวลา มีสิทธิได้ค่าตอบแทน 1 เท่า

นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ชี้แจงว่า กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดให้ลูกจ้างทำงานวันละไม่เกิน 8 ชั่วโมง หรือสัปดาห์หนึ่งไม่เกิน 48 ชั่วโมง เนื่องจากมีความมุ่งหมายให้ลูกจ้างได้พักผ่อน ใช้เวลากับครอบครัวรวมถึงพัฒนาตนเองตามหลัก 8:8:8 หากนายจ้างประสงค์ให้ลูกจ้างทำงานเกินเวลาปกติหรือทำงานล่วงเวลา ต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างเป็นคราว ๆ ไป โดยอาจทำเป็นหนังสือก็ได้ ด้วยวาจาก็ได้ หรือทำติดต่อกันไปหากลักษณะงานนั้นถ้าหยุดจะเสียหายแก่งานหรือเป็นงานฉุกเฉิน กรณีนี้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาในอัตรา 1.5 เท่า สำหรับวันทำงานปกติ หรือ 3 เท่า สำหรับการทำงานล่วงเวลาในวันหยุด ส่วนกรณีงานอยู่เวรเฝ้าดูแลสถานที่หรือทรัพย์สิน หรืองานรักษาความปลอดภัย ทั้งนายจ้างและลูกจ้างต่างเข้าใจว่าเวลาทำงานปกติของงานรักษาความปลอดภัยจะต้องทำงานวันละ 12 ชั่วโมง ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ในความเป็นจริงแล้วเป็นการทำงานเวลาทำงานปกติวันละ 8 ชั่วโมง และทำงานล่วงเวลาวันละ 4 ชั่วโมง หากนายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลา ต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างเป็นคราว ๆ ไป การตกลงในสัญญาจ้างตั้งแต่แรกที่เข้าทำงานว่าลูกจ้างต้องยินยอมทำงานล่วงเวลา ไม่ถือว่าเป็นการให้ความยินยอมตลอดไป ทั้งนี้ ลักษณะงานรักษาความปลอดภัยโดยทั่วไปไม่ใช่งานในกระบวนการผลิตหรือธุรกิจหลักของสถานประกอบกิจการ มีลักษณะเป็นงานเบา (Light Work) หรืองานที่ไม่ได้ทำต่อเนื่องกันตลอดเวลา กฎหมายจึงกำหนดข้อยกเว้นเรื่องอัตราค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาแตกต่างจากงานทั่วไป งานประเภทนี้ลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาและค่าล่วงเวลาในวันหยุด แต่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทน 1 เท่า ตามกฎกระทรวงกำหนดงานที่ลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาและค่าล่วงเวลาในวันหยุด พ.ศ. 2552 ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่สถานประกอบกิจการหรือนายจ้าง อย่างไรก็ดีหากนายจ้างตกลงจ่ายค่าล่วงเวลาสูงกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดก็สามารถทำได้ หรือลูกจ้างอาจดำเนินการยื่นข้อเรียกร้องต่อนายจ้างจนมีข้อตกลงเกี่ยวกับการจ่ายค่าล่วงเวลาอัตราสูงกว่าที่กฎหมายกำหนดก็สามารถทำได้

อธิบดี กสร. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับข้อเสนอของกลุ่มลูกจ้างในงานรักษาความปลอดภัยที่ต้องการแก้กฎหมายให้มีการจ่ายค่าล่วงเวลาในอัตรา 1.5 เท่า ของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมง เช่นเดียวกันกับลูกจ้างซึ่งทำงานในงานทั่วไปนั้น กรมจะได้ดำเนินการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อประกอบการพิจารณาแก้ไขกฎหมายต่อไป